เด็กไทยที่เราอยากเห็น

เด็กไทยที่เราอยากเห็น

ประชากรไทยในอุดมคติของดิฉัน ต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป มีความรู้รอบตัวที่จะช่วยให้เอาตัวรอดได้ในทุกยุคทุกสมัย ทุกสถานการณ์ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี

มีการสำรวจ เด็กและครู เกี่ยวกับความสุข และจัดอันดับความสุขที่อยากได้ที่สุดในปี 2567 โดยสวนดุสิตโพล ผลออกมาน่าเศร้าใจ เพราะสิ่งที่ทำให้เด็กไทยมีความสุขอันดับหนึ่งคือ ครอบครัวมีเงินส่งค่าเล่าเรียน ไม่ลำบาก โดยมีเด็กเลือกข้อนี้ถึง 57.08% ถัดไปคือ ครูและผู้ปกครองมีความสุขกับการเรียนของบุตรหลาน ซึ่งมีเด็ก ถึง 52.5% เลือกข้อนี้ ถัดไปอันดับสามเป็น เรื่องครอบครัวสุขภาพแข็งแรง 50.21% ถัดไปอันดับสี่เป็นเรื่อง พ่อแม่มีเวลา ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พาไปเที่ยว 48.54% และความสุขอันดับที่ห้า คือ ครูเข้าใจเด็ก ให้อิสระ ได้คิด ตัดสินใจเอง ซึ่งได้ 41.04%

การที่เด็กเลือกอันดับความสุข ก็อาจจะอนุมานได้ว่า เด็กยังไม่ค่อยมีสิ่งเหล่านี้ และจะมีความสุขเพิ่ม หากมีสิ่งเหล่านี้

ถ้าเป็นสมัยที่ดิฉันเป็นเด็กและไม่มีนโยบายให้การศึกษาฟรี ดิฉันจะไม่แปลกใจอะไรเลย แต่นี่รัฐบอกว่าการศึกษาของเด็กไทยต้องฟรี มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 แล้วทำไม 26 ปีผ่านไป เด็กยังกังวลว่าพ่อแม่จะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน?

เราอยากเห็นประชากรไทยในอนาคตเป็นอย่างไร เราต้องออกแบบการเลี้ยงดูและให้เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นแบบนั้นในวันนี้

ผู้ใหญ่หลายคนไม่อยากอดทนกับเด็ก Generation Z (กลุ่มที่เกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2010 บางตำราฟันธงเลยว่า 1997-2010 หรืออายุประมาณ 13 ถึง 27 ปีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตบนโลกดิจิตัลสูง อ่านหนังสือน้อยกว่าเด็กรุ่นอื่นๆ และมีความอดทนต่ำกว่ารุ่นอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด สหประชาชาติประมาณว่า โลกปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้ 2,470 ล้านคน หรือ 32% ของประชากร 7,700 ล้านคนของโลก ในปีหน้านี้ (ค.ศ. 2025) ประชากรกลุ่มนี้ จะมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสี่ของประชากรโลก เพราะฉะนั้น เราจะละเลยคนกลุ่มนี้ไม่ได้

คนดังที่ออกมาวิจารณ์เด็กกลุ่มนี้อย่างไม่เกรงใจคือ โจดี้ ฟอสเตอร์ ดาราภาพยนตร์ผู้ได้รับรางวัลออสการ์ เธอกล่าวว่า เธอรำคาญคน Gen Z เพราะทำงานด้วยยาก พวกเขาทำงานตามใจของตัวเอง ยึดความสบายใจของตัวเองในการทำงาน ไม่ทำงานหนัก หรืองานที่เกินขอบข่ายความรับผิดชอบของตัวเอง

แม้ประชากร Gen Z ของไทยจะมีส่วนของการดำรงชีวิตและอิทธิพลด้านความคิดความอ่านคล้ายกับประชากรในส่วนอื่นๆของโลก แต่เราก็สามารถปรับสอนและสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่คนเหล่านี้ได้ค่ะ และดิฉันอยากให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายช่วยกันด้วย เพราะเขาเป็นกลุ่มคนที่จะดูแลประเทศชาติของเราในยามที่เราเป็นประชากรที่ต้องพึ่งพิง หากเขาทำได้ไม่ดี นอกจากเขาจะเดือดร้อนแล้ว เราก็จะเดือดร้อน และรุ่นลูกของเขาก็จะยิ่งเดือดร้อนไปด้วยค่ะ

ประชากรไทยในอุดมคติของดิฉัน ต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป มีความรู้รอบตัวที่จะช่วยให้เอาตัวรอดได้ในทุกยุคทุกสมัย ทุกสถานการณ์ หมายถึงถ้ามีสิ่งใหม่ๆเข้ามาที่ต้องเรียนรู้ ก็ต้องสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี ต้องรู้จักคิด ไม่เชื่อคนง่าย มีการคิดแบบวิเคราะห์ “ทำไม” และ “อย่างไร” เป็นคำถามที่ต้องติดอยู่ในความคิด และให้พูดติดปากตลอดเวลา ไม่อายที่จะยอมรับว่าไม่รู้ แต่ต้องอยากเรียนรู้ด้วยนะคะ เพราะการเรียนรู้ ไม่ได้อยู่เฉพาะแต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่อยู่ในทุกๆวันของชีวิตเรา

นอกจากนั้น ควรจะต้อง “ใจกว้าง” คิดถึงส่วนรวมก่อน เคารพในสิทธิของผู้อื่นและพยายามหลีกเลี่ยงไม่ก้าวก่ายกับสิทธิของผู้อื่น เว้นแต่เห็นว่าผู้ใช้สิทธินั้น ใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องและเบียดเบียนผู้อื่น และเมื่อเกิดการกระทบกระทั่งในสิทธิต่างๆ ต้องสามารถ “ให้อภัย” ได้

คนไทยต้องรัก “ความยุติธรรม” มีมนุษยธรรม

ถ้าถามว่าจะสอนเด็กอย่างไร ก็ต้องขออิงจากวิธีที่คนมีลูกแนะนำนะคะ numberworksnwords แนะนำว่า การสอนเด็กที่ดีนั้นควรใช้เทคนิคห้าอย่างคือ 

1. เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก พ่อแม่อยากให้ลูกขยัน ต้องทำตัวขยันด้วย ทำตัวตรงต่อเวลา มีความคิดสร้างสรรค์ มีความซื่อสัตย์ 

2. ให้โอกาสเด็กเรียนรู้และใช้ทักษะในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง การฝึกทำอาหาร จะทำให้รู้จักการ ชั่ง ตวง วัด การนับ และการจัดการบริหารเวลา

3. รับรู้อุปสรรค หลายครั้งที่เด็กอยากจะตามเพื่อนไม่ทัน จึงทำให้ขาดความมั่นใจ เด็กๆดิฉันย้ายโรงเรียนบ่อย และแต่ละโรงเรียนก็มีหลักสูตรแตกต่างกัน ดิฉันไปเรียนประถมปีที่สองด้วยพื้นฐานภาษาอังกฤษเท่ากับศูนย์ โชคดีที่ครูเข้าใจ จัดติวให้ในช่วงพักเที่ยงทุกวัน จนตามเพื่อนทัน และตอนประถมปีที่สาม ย้ายจากโรงเรียนคริสต์ ไปโรงเรียนพุทธ มีการสวดมนต์ออกเสียงในห้องก่อนเข้าเรียนทุกเช้า ดิฉันไปวันแรก เกือบร้องไห้ เพราะสวดไม่เป็นค่ะ เสียความมั่นใจไปเยอะ เพียงแค่ผู้ปกครองหาบทสวดมนต์ให้ เด็กก็จะสามารถไล่ตามเพื่อนได้ทัน

4. สร้างค่านิยม มุ่งไปที่ “การเรียนรู้” ไม่ใช่ “การศึกษา” ไม่ใช่เรียนเพื่อมีคะแนนดี ทำให้พ่อแม่พอใจ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจ และเอาไปใช้ประโยชน์ได้ การออกไปทัศนศึกษาในที่ต่างๆ และการทำกิจกรรมแบบเวิร์คช้อปจึงทำให้เด็กได้ฝึกทักษะจริงๆ มิใช่เรียนแต่ทฤษฎี ตอนอยู่ประถมปีที่สี่ โรงเรียนดิฉันเป็นแบบสหศึกษา เด็กต้องเรียนการฝีมือที่เป็นงานไม้ ต้องเลื่อยไม้ ขัดไม้ ทาแลคเกอร์ ดิฉันก็ผ่านมาได้อย่างยากลำบาก มาประถมปีที่ห้า ย้ายมาเรียนโรงเรียนหญิงล้วน การฝีมือคือถักโครเชต์ ดิฉันน้ำตาเล็ดจริงๆ มือที่เคยเลื่อยไม้ ต้องมาจับไม้ถักโครเชต์ ไม่ถนัดเอาเสียเลย แต่การเรียนรู้แบบนี้มีข้อดีคือ พอโตขึ้น เราก็ไม่กลัวที่จะอ่านคู่มือเพื่อทำอะไรใหม่ๆ เช่นต่อสายลำโพงเครื่องเสียง เปลี่ยนหลอดไฟ ซ่อมสิ่งของต่างๆ และทำให้เรามีทัศนคติ “ทำได้” แม้บางอย่างจะทำได้ดี บางอย่างจะทำไม่ได้ดี แต่ก็ “ทำได้”

5. เรียนรู้จากที่อื่นที่ไม่ใช่โรงเรียนด้วย การเล่นเกมส์ การเข้าร่วมการแข่งขัน การสอนศีลธรรมจากภาพยนตร์หรือข่าว การทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการไปเที่ยว ล้วนแล้วแต่ทำให้เด็กสามารถมีพัฒนาการที่ดี และสามารถเติบโตใช้ชีวิตที่ดีได้

ถ้าถามดิฉันว่าให้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง อยากเติบโตและเรียนรู้อย่างไร 

ตอบว่า อยากมีคุณธรรมและความใจกว้างเผื่อแผ่ แบบที่สอนในศาสนาพุทธ อยากเผื่อแผ่ความรักแก่ผู้อื่นเหมือนที่สอนในศาสนาคริสต์ เกรงกลัวและละอายต่อบาปแบบที่สอนกันในทุกศาสนา มีวินัยและความอดทนเหมือนคนญี่ปุ่นและเยอรมัน มีสัมมาคารวะและความเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่เหมือนคนไทย กล้าแสดงความคิดเห็นแบบคนอเมริกัน มีความรักในศิลปะแบบคนฝรั่งเศสและอิตาลี มีความรู้ทางการเงินและการค้าแบบคนจีน มีเหตุมีผล และมีความคิดสร้างสรรค์ เหมือนผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายในโลกนี้

ขอให้คนรุ่นใหม่ได้รับทราบความเป็นห่วงและความหวังดีของผู้ใหญ่ ขอให้เขามีการเรียนรู้ ที่จะช่วยให้เอาตัวรอดในอนาคตที่อยู่ยากยิ่งขึ้น และขอให้เป็นคนดี มีคุณธรรมค่ะ