KKP กำไรปี66 ลด 28% มาอยู่ที่ 5.4 พันล้าน เหตุขาดทุนจากยึดรถเพิ่ม
เกียรตินาคินภัทร เปิดกำไรปี66 ลดลง28.4% มาสู่ 5.4พันล้านบาท หลังสำรองหนี้เสียพุ่ง เหตุขาดทุนจากการขายรถยึดในธุรกิจเช่าซื้อ จากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เปิดผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 และสำหรับไตรมาส 4/2566 สำหรับปี 2566 ธนาคารเกียรตินาคินภัทรและบริษัทย่อยมีผลประกอบการที่ปรับลดลง
โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตและผลขาดทุนจากการขายรถยึดในส่วนของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการพื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงและปัจจัยทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อ
ประกอบกับการที่ธนาการมีการขยายตัวของสินเชื่อในระดับที่สูงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งยังมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อเป็นสัดส่วนที่ก่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของธนาคาร ส่งผลให้ธนาคารได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างมาก
ในขณะที่ธุรกิจทางด้านตลาดทุนได้รับผลกระทบเช่นกันจากภาระตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย รวมแล้วส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 5,443 ล้านบาท ลดลง28.4 % เมื่อเทียบกับปี 2565 หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี 2566 เท่ากับ 5,452 ล้านบาท
ทั้งนี้สำหรับปี 2566 ธนาคารยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ในระดับที่ดี โดยมีร้ายได้จากการดำเนินงานรวม 28,763 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 หากเทียบกับปี 2565 โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ตามปริมาณสินเชื่อที่ขยายตัวและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยสินเชื่อรวมมีการขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 สำหรับปี 2566
นอกจากนี้ธนาคารยังสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีการปรับขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธนาคารยังคงมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในระดับที่ดีกว่าคาดการณ์
ในขณะที่ทางด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงที่ร้อยละ 23.5 จากภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงซบเซาและส่งผลกระทบต่อการลงทุน ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงโดยหลักจากการลดลงของรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
รวมถึงกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่ปรับลดลงตามภาวะตลาด ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าประกันปรับลดลงเช่นกันตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่ สำหรับค่าใช้จ่ายในการคำเนินงานหากไม่รวมรายการที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินรอการขาย ธนาคารยังคงสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ในระดับที่ดี ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ สำหรับปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่แสดงถึงการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ