ปี 2024…กับ 4 ปรากฏการณ์แห่งปี
ปี 2567 แม้ยังไม่มีใครทราบว่าจะเกิด Black Swan อีกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ในปีนี้กำลังจะเกิด 4 ปรากฏการณ์สำคัญที่อาจส่งแรงกระเพื่อมต่อโลกของเราในหลายมิติ
“ดร. รักษ์ เล่าเรื่อง” ฉบับนี้ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ของปี 2567 ผมจึงขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรง และประสบความสำเร็จสมปรารถนาตลอดปีนะครับ หากย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คงเป็นช่วงเวลาที่ไม่ง่ายเลยสำหรับหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ Black Swan หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ COVID-19 สงครามรัสเซียกับยูเครน สงครามอิสราเอลกับฮามาส ตลอดจนปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีน และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงในหลายประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นระยะ สะท้อนจาก GDP และการค้าโลกเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2566) ที่โตเพียง 2.5% และ 2.0% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า (ปี 2557-2561) ที่โตถึง 3.5% และ 3.7% ตามลำดับ
ในปี 2567 หรือปี ค.ศ. 2024 ก็เช่นกัน แม้ยังไม่มีใครทราบว่าจะเกิด Black Swan อีกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ในปีนี้กำลังจะเกิด 4 ปรากฏการณ์สำคัญที่อาจส่งแรงกระเพื่อมต่อโลกของเราในหลายมิติ ดังนี้
· ปีแห่ง “การเลือกตั้ง” ปีนี้เป็นปีที่ทั่วโลกจะมีการเลือกตั้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในกว่า 50 ประเทศ ครอบคลุมประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะประเทศที่มี Impact ต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลกสูง อาทิ การเลือกตั้งไต้หวัน ที่เพิ่งจบไปกลางเดือนมกราคม 2567 ซึ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่แต่ขั้วเดิม ที่ยังมีนโยบายเอียงมาทางสหรัฐฯ ทำให้ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนยังมีต่อไป ขณะที่หากความขัดแย้งรุนแรงขึ้นก็คงต้องจับตามองผลกระทบที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานชิปของโลกที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะไต้หวันถือเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกมีสัดส่วนกว่า 60% การเลือกตั้งอินโดนีเซีย (กุมภาพันธ์ 2567) และอินเดีย (พฤษภาคม 2567) ทั้ง 2 ประเทศมีประชากรสูง Top 4 ของโลก มีเศรษฐกิจโต 5-6% สูงสุดในกลุ่ม G20 ซึ่งหากได้ขั้วอำนาจเดิม ก็จะหนุนความต่อเนื่องของนโยบาย ผลักดันให้ทั้งคู่ยังเป็น Rising Star ต่อไป การเลือกตั้งรัสเซีย (มีนาคม 2567) แม้หลายฝ่ายคาดว่าปูตินจะนอนมา แต่ก็ต้องติดตามนโยบายเกี่ยวเนื่องกับสงครามยูเครน ซึ่งหากขยายวงกว้างก็อาจกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์อีกครั้ง การเลือกตั้งสภายุโรป (มิถุนายน 2567) ที่ต้องจับตามองคะแนนนิยมของฝ่ายขวาจัด (ต้องการปฏิรูปนโยบายเดิม) หากได้รับเสียงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อาทิ นโยบายผู้อพยพ ประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การเลือกตั้งสหรัฐฯ (พฤศจิกายน 2567) ที่จะเป็นตัวแปรหลักกำหนดสถานการณ์ Decoupling โลก โดยเฉพาะท่าทีผู้นำคนใหม่ต่อขั้วคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย รวมถึงจุดยืนต่อสงครามการค้าที่จะมีผลต่อบรรยากาศการค้าโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้
· ปีแห่ง “การกลับทิศอัตราดอกเบี้ย” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่ในปีนี้การที่เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มชะลอลง โดย IMF คาดว่าเงินเฟ้อโลกปี 2567 จะอยู่ที่ 5.8% ชะลอลงจาก 8.7% ในปี 2565 โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงเหลือ 3% เข้าใกล้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ 2% ทำให้ล่าสุด Bank of America คาดว่าปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลกจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมกันถึง 152 ครั้ง หลัง 2 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นแล้วกว่า 300 ครั้ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งมักเป็น Leading Indicator ในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินโลก โดยตลาดคาดว่า Fed มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3-6 ครั้งในปีนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2566 ออกมา 3.4% ลดลงจากที่เคยพุ่งสูงกว่า 9% ในช่วงปี 2565 อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าทุกธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด ยังมีบางส่วนที่คง และบางส่วนที่มีแนวโน้มปรับขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่หลายฝ่ายคาดว่าอาจยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มานานกว่า 8 ปี หลังเงินเฟ้อญี่ปุ่นกลับมาเป็นบวก 2 ปีติดต่อกัน ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณหลุดจาก Lost Decades ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ผสมผสานดังกล่าว จะส่งผลให้ค่าเงินทั่วโลกปีนี้ผันผวนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีก่อนที่เงินบาทผันผวนกว่า 13% สูงอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค
· ปีแห่ง “Climate in Action” ปีนี้นอกจาก The EU’s Copernicus Climate Change Service คาดว่าจะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกอาจทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปี 2566 แล้ว ยังเป็นปีที่หลายมาตรการสิ่งแวดล้อมสำคัญของโลกจะบังคับให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องรายงานข้อมูล โดยเริ่มบังคับใช้เต็มปีเป็นครั้งแรก ทั้งมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM)และกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของยุโรป ตลอดจนกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะผ่านในปีนี้และมีผลบังคับทันที นอกจากนี้ ยังมีมาตรการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น EU’s Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ที่เริ่มบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ใน EU ต้องรายงานข้อมูลความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างละเอียด โดยบังคับให้มี Third Party ตรวจสอบ อีกทั้งยังมีสนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกฉบับที่อาจแล้วเสร็จในปีนี้ โดยเบื้องต้น 175 ประเทศตกลงกันลดปริมาณพลาสติกลง 80% ภายในปี 2583 พูดง่าย ๆ คือ ปีนี้เป็น “ปีแห่งการลงมือทำ” และต้องรายงานผลจริงจัง หลังหลายปีที่ผ่านมาเป็นเพียง “ปีแห่งสัญญา” ที่ทั่วโลกตั้งเป้าบรรลุ Net Zero เท่านั้น
· ปีแห่ง “Responsible AI” ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดคงหนีไม่พ้น Generative AI ที่สามารถสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ ๆ จากข้อมูลเดิมได้หลากหลายขึ้น โดยความฮอตของ GenAI อาจสะท้อนจากดัชนีราคาหุ้น NASDAQ (หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ซึ่งหลายตัวเกี่ยวข้องกับ AI) ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 40% สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจได้ทดลองใช้ GenAI กันบ้างแล้วผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ ChatGPT, Bing AI, Bard เป็นต้น เพื่อช่วยคิดไอเดียในการทำงาน ขณะที่ภาคธุรกิจก็เริ่มนำ AI มาใช้วิเคราะห์หา Insight หรือบริหาร Supply Chain มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ GenAI จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหลายด้าน แต่ก็แฝงมาด้วยภัยคุกคามเช่นกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยี Deepfake ที่ใช้ GenAI สร้างวิดีโอ ภาพ และเสียงบิดเบือนข้อมูล ซึ่งการที่ปีนี้เป็นปีแห่งการเลือกตั้งทำให้หลายฝ่ายคาดว่าจะมี Deepfake สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อีกมุมหนึ่งปีนี้เราจะเห็นทั่วโลกตื่นตัวกับการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI) มากขึ้นอย่างที่เคยเกิดขึ้นในภาคการเงิน (Responsible Finance) ล่าสุด EU ก็ได้ผ่าน EU AI Act เป็นครั้งแรกของโลก ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ลงนามคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร เข้ามาควบคุม AI แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่เริ่มใช้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าก็ต้องระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น เพราะถึงเราจะยังไม่มีกฎหมายควบคุม AI แต่เราก็มี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บังคับใช้แล้วตั้งแต่มิถุนายน 2565
ผมอยากจะฝากให้ผู้ประกอบการติดตาม 4 ปรากฏการณ์ข้างต้นอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงให้ได้ทันท่วงที หากปรากฏการณ์ใดมีพัฒนาการที่น่าสนใจผมคงมีโอกาสมาแชร์ให้ทราบกันเรื่อย ๆ ครับ
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK