นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นระยะยาวไทยเผชิญ ‘วิกฤติ‘ เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นระยะยาวไทยเผชิญ ‘วิกฤติ‘ เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

นักเศรษฐศาสตร์ เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ก่อนลามเกิดวิกฤติ “อมรเทพ” ชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยทำตลาดเงินผันผวน “พิพัฒน์” ชี้เศรษฐกิจระยะสั้นไม่ห่วงเท่าระยะยาว “พชรพจน์” ชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นเท่าก่อนโควิด “กิริฏา” ห่วงไทยความสามารถถดถอย ฉุดเศรษฐกิจไทยระยะยาว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า หากถามว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ ยอมรับว่าวิกฤติในบางส่วน ภาคเกษตร ครัวเรือนมีปัญหา แต่หลายส่วนยังเติบโต ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.1% หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากรวมจะขยายตัวเพิ่ม 0.5% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัว 2% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.4%

สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสงครามระหว่างที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นชะล่าใจไม่ได้เพราะหากมีปัญหาซัพพลายเชนจะทำการลดดอกเบี้ยของหลายประเทศทำได้ช้ากว่าคาด รวมถึงไทย
 

ทั้งนี้ หากดูอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 5% ขณะที่ดอกเบี้ยไทย 2.5% พบว่าส่วนต่างดอกเบี้ยค่อนข้างมากอาจเป็นปัจจัยเร่งให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนมากขึ้น รวมถึงเงินทุนไหลออกโดยเฉพาะ หากตลาดคาดการณ์ว่า ว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด อาจทำให้นักลงทุนหันไปถือดอลลาร์มากขึ้น ที่อาจทำให้ความผันผวนในตลาดเงินเพิ่มขึ้น

ส่วนดอกเบี้ยไทยมีโอกาสลดลงได้แต่อาจเห็นหลังจากสหรัฐลดดอกเบี้ยแล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่ามีโอกาสเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังปีมาอยู่ที่ 34-35บาทต่อดอลลาร์ เพราะเงินไหลเข้าจากรายได้ท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นระยะยาวไทยเผชิญ ‘วิกฤติ‘ เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ‘เคเคพี’ ระยะยาวเศรษฐกิจไทย ‘น่าห่วง’

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยไทยผ่านจุดพีคไปแล้ว และทิศทางมีแนวปรับลงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะครึ่งปีหลังตามการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยจะพิจารณาดอกเบี้ยมี 3 ปัจจัยหลักที่ กนง.จะพิจารณา คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน 

ทั้งนี้ หากมีการแจกดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลให้ดีมานด์ในประเทศกลับมาขยายตัวมากขึ้น อาจทำให้ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยลงได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะอยู่ที่ 2.9% แต่ถ้ามีดิจิทัลวอลเล็ตจะขยายตัวได้อีก 0.8% โดยหากถามว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้เข้าสู่วิกฤติหรือไม่ วันนี้กลายเป็นประเด็นทางกฎหมายและการเมือง แต่ระยะยาวเศรษฐกิจไทยน่าห่วงเพราะหากไม่ทำอะไร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความสามารถการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยจะต่ำลงต่อเนื่องและเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤติแน่นอน

“สิ่งสำคัญต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องนำกลับมาพูดคุยอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่งั้นเราจะเข้าสู่วิกฤติจริงๆแน่นอน วันนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนเผชิญวิกฤติต้มกบ วันนี้เราไม่รู้สึกร้อน และเราจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ”

นอกจากนี้ เป็นประเด็นที่กังวลคือ ประเด็นระยะยาวจากความสามารถการแข่งขันของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง จากการเข้ามาแข่งของหลายประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเทียบกับจีนที่ปัจจุบันเริ่มเห็นจีนมาแข่งขันกับธุรกิจไทยมากขึ้น และไทยขาดดุลการค้ากับจีนค่อนข้างมาก

สิ่งที่กังวล คือภาคการคลังที่น่ากังวลมากขึ้น จากการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ส่งผลให้ไตรมาส การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐติดลบกว่า 40% และผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลกระทบไปอีกหนึ่งไตรมาส คือไตรมาส 1 ปีนี้้ จนถึงสิ้น มี.ค.ที่จะเริ่มเห็นการเบิกจ่ายงบภาครัฐได้ ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็นอีกความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน

‘กรุงไทย’ ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบางส่วน

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การมองภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน กรุงไทยมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3% และหากมีดิจิทัลวอลเล็ตคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มอีก 1-1.5% ขณะที่ ปีก่อนคาดว่าจะออกมาขยายตัวได้ราว 1.8-2% โดยเศรษฐกิจไทยวันนี้อยู่ภายใต้ K shaped economy ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ยังห่างไกลพอสมควรกับอดีต และเคเชฟขาล่างยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่

หากดูภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่หลายภาคส่วนยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่ปัจจุบันกลับมาเพียง 70% เท่านั้นหากเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยประเทศที่ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวช้า ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่พึ่งพาจีนค่อนข้างมาก เช่นเดียวกันไทย โดยปีก่อนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 3.5 ล้านคน ขณะที่ปีนี้คาดเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 7 ล้านคน

ดังนั้น แม้นักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 32-33 ล้านคน และคาดปี 68 เพิ่มมาเป็น 38 ล้านคน ก็ยังห่างไกลกับก่อนโควิด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาฟื้นตัวเหมือนก่อนโควิดได้

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลก คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 1% และเศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ระดับ 3% ต่ำที่สุดในรอบหลายปี ดังนั้น ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะทำให้โอกาสเห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นยากพอสมควร จากการที่รัฐบาลทุกประเทศเริ่มเข้าสู่การรัดเข็มขัด รวมถึงของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เหล่านี้อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเข้าสู่ขาลงได้

‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากตปท.

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาและผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3% โดยปัจจัยเสี่ยงหลักมองที่ปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจไทยภาพรวมถือว่าฟื้นตัวได้ ดังนั้น ระยะสั้นไม่น่าห่วง เท่ากับปัญหาในระยะยาว เพราะหากเศรษฐกิจไทยไม่ปรับปรุงขีดความสามารถเพิ่มขึ้นจะทยอยสูญเสียความสามารถลดลง หากเทียบกับประเทศอื่นๆ และเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้การเมืองโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและภายใต้สังคมสูงวัย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้รวดเร็วขึ้น