เริ่มต้น 'ลงทุนหุ้น' ดูอะไรประกอบการตัดสินใจ?
ใครที่เป็นมือใหม่ และกำลังสนใจเรื่องการ "ลงทุนหุ้น" แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และต้องดูอะไรประกอบการตัดสินใจบ้าง บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ มาฝากกัน
การ ลงทุนหุ้น นั้น เบื้องต้นสามารถเลือกวิธีคิดได้ 2 แบบหลักๆ ดังนี้
วิธี Top-Down
วิธีนี้เริ่มต้นควรจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
- เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอย่างไร โดยพิจารณาจาก GDP โลกและประเทศคู่ค้าของไทยด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยจะหดตัว อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของไทยด้วย เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกหลักทั้งสินค้าเกษตร, สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม, ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออกด้วย และต้องพิจารณาเศรษฐกิจไทยด้วยว่าจะเป็นเช่นใด ซึ่งส่วนใหญ่จะล้อตามเศรษฐกิจโลก แต่จะต้องพิจารณาถึงนโยบายจากภาครัฐว่าจะเอื้อต่ออุตสาหกรรมใด, การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เป็นต้น
- อุตสาหกรรมใดจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกและไทย โดยการวิเคราะห์อุตสาหกรรมนั้น เราอาจนำ Five Force Model มาร่วมพิจารณาด้วยว่า อุตสาหกรรมที่เราจะนำมาพิจารณานั้นอำนาจต่อรองของลูกค้า และ supplier เป็นอย่างไร, การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่, การแข่งขันในอุตสาหกรรม และสินค้าทดแทนว่าบริษัทของเรามีจุดอ่อนและจุดแข็งหากเทียบกับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศไหม
- เลือกบริษัทที่ได้ประโยชน์จากปัจจัยข้างต้น
วิธี Bottom-Up
วิธีนี้จะใช้คัดเลือกบริษัทที่ควร ลงทุนหุ้น โดยวิเคราะห์จากปัจจัยดังต่อไปนี้
- ข้อมูลเชิงคุณภาพ คือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น วิสัยทัศน์ผู้บริหาร, ตัวบริษัท และลักษณะผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
- ข้อมูลเชิงปริมาณ คือการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลข เช่น งบการเงินซึ่งประกอบด้วยงบดุล, งบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสดของบริษัท และอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร
- 2.2.1 อัตราส่วนสภาพคล่อง : เป็นการวัดสภาพคล่องการดำเนินกิจการ ถ้าค่าสูง แปลว่ามีสภาพคล่องเพียงพอ
- 2.2.2 ความสามารถในการดำเนินงาน : เป็นอัตราส่วนแสดงถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ประกอบด้วยการบริหารลูกหนี้, สินค้าคงคลัง และเจ้าหนี้
- 2.2.3 ความสามารถในการทำกำไร : เป็นการวัดการทำกำไรของบริษัท ยิ่งสูงยิ่งแสดงว่าแนวโน้มกำไรดีขึ้น
- 2.2.4 อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ : เป็นอัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย
เราสามารถนำอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันมาเปรียบเทียบกันเพื่อดูพิจารณาว่า บริษัทใดน่าสนใจกว่า แต่ไม่ควรเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม เพราะอัตราส่วนบางอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันจากลักษณะการดำเนินงานที่ต่างกัน จากนั้นจึงมองไปที่ภาพรวมอุตสาหกรรม และภาพเศรษฐกิจของประเทศว่าเอื้อต่อการเติบโตของบริษัทด้วยหรือไม่
ทำอย่างไรต่อหลังจากนี้?
หลังจากพิจารณาทั้ง 2 วิธีแล้ว ทำให้พอมีข้อมูลในการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ จากนั้นจะมาหาหุ้นที่ได้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ จากสิ่งที่คัดสรรมาอีกที
- ตัวอย่างการวิเคราะห์ด้วยวิธี Top-Down : แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติลดลง คาดว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง ซึ่งดีต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าจากต้นทุนการผลิตลดลง และอุตสาหกรรมที่เคยได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น GPSC, BGRIM เป็นต้น
- ตัวอย่างการวิเคราะห์ด้วยวิธี Bottom-Up : การดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มฟื้นตัวจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง, ต้นทุนพลังงานลดลง และแนวโน้มราคาขายดีขึ้นจากอุปทานตึงตัว ทำให้เห็นการดำเนินงานทยอยฟื้นตัว ซึ่งอาจต้องพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินหุ้นในอุตสาหกรรมเปรียบเทียบกันประกอบการตัดสินใจ หรืออาจเลือกบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม เช่น STA, NER เป็นต้น
การประเมินมูลค่า
หลังจากได้หุ้นที่สนใจแล้ว จะมาประเมินมูลค่าที่เหมาะสมสำหรับหุ้นนั้น ๆ ซึ่งการจะเลือกประเมินมูลค่าวิธีใดนั้น ควรจะพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- ความสม่ำเสมอของกำไรที่มีความแน่นอน เช่น โรงไฟฟ้า, สื่อสาร, โรงพยาบาล, ธุรกิจที่เป็นสัมปทานจะใช้วิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) เนื่องจากมีกระแสเงินสดเข้ามาสม่ำเสมอ
- รายได้และกำไรที่ผันผวนตามวัฏจักรธุรกิจอาจเลือกใช้วิธี P/E หรือ P/B อาจเหมาะสมกว่า
- กระแสเงินสดที่เป็นเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคตจะประเมินด้วยวิธี DDM
- มูลค่ากิจการเทียบกับกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคา หรือ EV/EBITDA ถ้าน้อยแปลว่าราคาหุ้นอยู่ในโซนถูก
- Sum of the Part คือการประเมินมูลค่าธุรกิจแต่ละกิจการที่บริษัทถืออยู่และรวมมาเป็นราคาเหมาะสมของหุ้นแม่
อย่างไรก็ตาม การประเมิน ราคาหุ้น ในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น ไม่จำเป็นที่ต้องให้ P/E, P/BV ที่เท่ากัน เนื่องจากโครงสร้างการดำเนินงาน, ความสามารถในการกำไรที่ต่างกัน, อัตราการเติบโตที่ต่างกัน, หนี้สินที่ต่างกัน จึงทำให้หุ้นแต่ละตัวจะมีระดับ P/E หรือ P/BV เหมาะสมที่แตกต่างกันตามความสามารถ (เก่งกว่า ดีกว่า ควรได้ premium)
นอกจากนั้น อาจต้องพิจารณาจากค่าเฉลี่ยการซื้อขายในอดีตประกอบด้วย แล้วจึงพิจารณาว่า ควรจะใช้ค่า P/E หรือ P/BV อ้างอิงเท่าไรในการประเมินมูลค่าเหมาะสมหุ้นดังกล่าว จากนั้นจึงนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับราคาในกระดานหุ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ที่มา : บล.ลิเบอเรเตอร์