3 ยักษ์ใหญ่ ผนึกพันธมิตร ชิงไลเซนส์ ’Virtual bank’ ช่วยผู้มีรายได้น้อย
“อาทิตย์” ประกาศพันธมิตร “เทคจีน” มาผนึกธนาคารดิจิทัลเกาหลีใต้ ไม่หวั่นแข่งขันเดือด มองเป็นผลดีช่วยผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการการเงิน “ศุภชัย” เตรียมส่ง “ทรูมันนี่-แอนท์” ยื่นขอไลเซนส์ “สารัชถ์” ลั่นพร้อมลุยขอไลเซนส์
สมรภูมิการแข่งขัน บนสนามของ Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา เริ่มเห็นการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น แม้จะยังไม่เห็นรายชื่อผู้ที่ ยื่นขอใบอนุญาต หรือ ไลเซนส์ จัดตั้ง Virtual Bank อย่างเป็นทางการ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งเปิดให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.2567 ซึ่งคิดเป็นเวลา 6 เดือนเต็ม
แม้เป็นเพียงก้าวย่างแรกที่ ธปท.เปิดให้ขอไลเซนส์ แต่เริ่มเห็นผู้สมัครรายใหญ่ การประกาศลงสนามแข่งขัน ช่วงชิง ไลเซนส์ Virtual bank อย่างเป็นทางการแล้ว
เจ้าแรกคือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์หรือ GULF ของ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ที่ออกมาบอกว่า กำลังเตรียมความพร้อมและการดำเนินการ ร่วมกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจาก ธปท. บนความพร้อมในด้านธุรกิจการเงิน และฐานลูกค้าจำนวนมากจาก AIS ถึง 45 ล้านเลขหมาย
ตามมาด้วย “เอสซีบี เอกซ์” และ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี เป็นบริษัทแม่ ของทรูมันนี่ ประกาศเดินหน้า ช่วงชิงไลเซนส์ Virtual bank เช่นเดียวกัน
“เอสซีบี เอกซ์” เตรียมประกาศพันธมิตรจีน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ หรือ SCBX กล่าวในงาน "Prachachat Business Forum 2024” ว่า ภายใน 1-2 วันนี้ เอสซีบี เอกซ์ เตรียมประกาศพันธมิตรรายที่ 2 จากจีนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อเตรียมยื่นขอใบอนุญาต Virtual bank หรือแบงก์ไร้สาขา จากที่ผ่านมา เอสซีบี เอกซ์ เซ็นสัญญาร่วมกันกับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ไปแล้วเมื่อกลางปีก่อน
“รายใหม่จากประเทศจีน มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว แต่ยังไม่ประกาศ ดังนั้น คาดว่าจะสามารถประกาศรายใหม่ที่จะเข้ามาร่วมจัดทำ Virtual bank ได้ภายใน 1-2 วันนี้”
ทั้งนี้ การที่มีหลายรายสนใจขอไลเซนส์มองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อร่วมกันช่วยเหลือกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เพราะการดูการให้บริการทางการเงินปัจจุบันบนหลายไลเซนส์ทั้งการให้บริการผ่านธนาคาร ผ่านธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ฟิโก้ไฟแนนซ์ ล้วนเป็นธุรกิจที่อยู่ในระบบมานาน แต่ไม่สามารถทำให้เข้าถึงทางการเงินได้
ดังนั้นการเข้ามาทำ Virtual bank มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่ ธปท.โฟกัส เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่ม Underserved และเอสเอ็มอี
“ไม่ต้องตื่นเต้นมากที่มีผู้เข้ามาขอไลเซนส์มาก แต่ให้มองว่ายิ่งมีคนเข้ามาขอไลเซนส์มากเป็นสิ่งดีกับประชาชนกับผู้ใช้บริการทางการเงินให้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เพราะสิ่งที่มีอยู่มานานแล้ว ไม่ได้ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น และไทยพาณิชย์ องค์กรที่มีอายุกว่า 120 ปี แต่เมื่อ evolution เปลี่ยนการให้บริการต้องเปลี่ยนไปสู่ประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหากไม่เปลี่ยนต้นทุนต่างๆ จะถูกส่งผ่านไปสู่ลูกค้า”
อย่างไรก็ตาม มองว่าความสนใจในการเข้ามาขอจัดตั้ง Virtual bank อาจไม่ได้เป็นการแข่งขัน แต่ทุกองค์กรมาด้วยจุดแข็งตัวเอง แต่ท้ายที่สุดมองว่าคนที่ได้ประโยชน์จะเป็นลูกค้าและประชาชน
ส่วน เอสซีบี เอกซ์ คาดหวังได้ 3 ไลเซนส์แรกหรือไม่ และการมี 2 พันธมิตรเข้ามาเพียงพอหรือไม่นั้น เอสซีบี เอกซ์ ต้องทำให้ดีที่สุด และจำนวนพาร์ตเนอร์อาจไม่สำคัญ
แต่สิ่งสำคัญ คือ กระบวนการตัดสินใจและความสามารถด้านเทคโนโลยี และความสามารถในการจัดการความเสี่ยงที่ดี หรือ risk management โดยนำ Data และ AI มาใช้ เพราะหากมีเครื่องยนต์ใหม่ (engine) ที่มีความสามารถ การเข้าไป Plugin หรือเข้าไปในอีโคซิสเต็มอื่นก็เข้าไปได้ง่าย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้อง engine ที่ดี
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงพันธมิตรรายแรกที่ เอสซีบี เอกซ์ จับมือในช่วงที่ผ่านมา คือ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลใหญ่สุดในเกาหลีใต้ ถือว่าเก่งในการมีความคิดสร้างสรรค์ และมีจุดเด่นในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่าน engagement ดังนั้นจะมาตอบโจทย์การเข้าถึงผู้บริโภค
เช่นเดียวกันการใช้เทคโนโลยี AI ที่จะทำให้เกิดความแม่นยำขึ้น รวมถึงกระบวนการออกโปรดักต์ใหม่เพื่อตอบโจทย์กลุ่มที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีฐานข้อมูลเครดิตบูโรหรือกลุ่มที่มีข้อมูลทางการเงินค่อนข้างน้อย ซึ่งจะช่วยให้รู้จักและเข้าใจและทำให้เกิดความแม่นยำในการปล่อยสินเชื่อได้กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่เพียงการเน้นที่โปรดักต์เดียว แบบ one size fits all ที่ใช้กับคนทุกกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ถือเป็นส่วนที่แยกจากเงินของแบงก์ ส่วนนี้เป็นส่วนที่เอสซีบี เอกซ์ ใช้สำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ได้รวมอยู่ในทุนแบงก์ที่มีกว่า 4 แสนล้านบาท ที่ใช้สำหรับการปล่อยสินเชื่อ
ตั้งเป้า 3 ปี รายได้จากเอไอ 75%
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า “การขับเคลื่อนธุรกิจของ เอสซีบี เอกซ์ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับ AI มาก โดยเชื่อมั่นว่า AI กำลังเปลี่ยนโลก โดยตั้งเป้าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีรายได้จากเอไอ สัดส่วน 75% ดังนั้นจำเป็นต้องนำ AI มาในกระบวนการทำงานทั้งหมด ทั้งกลางบ้าน หน้าบ้าน หลังบ้าน
ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ใต้โลกที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งมาจาก Geopolitics , Climate change หรือ Disruptive technology ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงให้เกิดปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ ความผันผวน หรือ VUCA ที่เกิดขึ้น ล้วนกระทบต่อการธุรกิจ และมีผู้ได้เปรียบเสียเปรียบทั้งสิ้น
ยังไม่รวมถึง การเข้ามาของ Disruptive technology ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เหล่านี้ทำให้คนอื่นๆ เข้ามาแข่งขันได้ยากมากขึ้น หากยังทำธุรกิจแบบเดิม หรือที่เคยพูดถึง เหมือนกบที่ถูกต้ม ที่กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้วที่จะปรับตัว
เน้นลงทุนลดต้นทุนแบงก์กว่า 1 หมื่นล้าน
เช่นเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ ในหลายปีที่ผ่านมา ไม่เน้นการเติบโตหรือการขยายตัวของสินเชื่อ และไม่เน้นการเก็บค่าธรรมเนียมให้บริการแพงขึ้น แต่เน้นที่การลงทุน การปรับลดต้นทุนของธนาคาร ทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลงกว่า 10,000 ล้านบาท ด้วยการทำให้องค์กรหยุดลงทุนโดยไม่มีเหตุผล และปรับกระบวนการทำงานทำให้ธุรกิจดั้งเดิมที่เป็น Cash Cow แข็งแรงและทนทาน ยืดหยุ่นต่อการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้เพราะการทำให้องค์กรที่มีอยู่เดิมเป็น Cash Cow ได้มีสิ่งสำคัญที่ต้องการทรัพยากรไปพัฒนาต่อนอกธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้ ธุรกิจต่อเนื่องและมีโอกาสทดลองโดยไม่เข้าไปดิสรัปชันสิ่งที่ไม่ควรดิสรัปชัน
ส่วนสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ในประเด็นธุรกิจใหม่ นิวบิซิเนส หรือธุรกิจที่เกิดจากความสามารถใหม่ รวมถึงสตาร์ตอัปที่ไม่มีกรอบกติกา หรือวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความสามารถใหม่ๆได้ แต่ควรเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการเอาเทคโนโลยี เข้ามาเป็นตัวกำหนด
สอง ควรจะเริ่มต้นแล้วมีมายด์เซ็ตต่อการเริ่มหรือเซ็ตอัปธุรกิจ ด้วยการเอาเทคโนโลยีมากำหนด ค่าใช้จ่าย Cost Structure ในการดำเนินธุรกิจ เพราะโลกของการแข่งขัน ไม่สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกหรือไม่
‘กลุ่มซีพี’ ส่งทรูมันนี่-แอนท์ชิง Virtual bank
ในส่วนของ “กลุ่มซีพี” ก็เป็นอีกราย ที่มองข้าม Virtual bank ไปไม่ได้ โดยยอมรับว่า เป็นอีกราย ที่สนใจเข้าร่วมขอจัดตั้ง Virtual bank เช่นเดียวกัน ผ่านบริษัทลูก หรือบริษัทในเครือ ผ่าน ทรูมันนี่ หรือ แอนท์ ที่มีทั้งความแข็งแกร่ง และฐานลูกค้าอยู่ในมือจำนวนมาก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (กลุ่มซีพี) กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นผู้ให้บริการทางการเงิน กำลังก้าวไปสู่เทคโนโลยีใหม่ทางการเงินมากขึ้น เช่นเดียวกันธนาคาร สถาบันการเงินที่เริ่มประกาศความสนใจในการทำ Virtual bank มากขึ้น เพื่อให้กลุ่มฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
ส่วนการขอจัดตั้ง Virtual bank ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อม ส่วนที่จะจับมือกับพันธมิตรรายอื่นเพื่อจัดตั้ง Virtual bank หรือไม่ ณ วันนี้ยังไม่มี แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่บริษัทในเครือมีความพร้อมอยู่แล้ว และมีพาร์ตเนอร์ชิปที่แข็งแกร่ง คือ ทรูมันนี่ อยู่แล้ว ยังรวมไปถึง แอนท์ กรุ๊ป เป็นต้น
“การจับมือทำ Virtual bank ร่วมกับรายอื่น วันนี้ยังไม่มี แค่เราก็ไม่ได้ปิดกั้น เพราะเราเองมีพาร์ตเนอร์ชีพระดับทรูมันนี่อยู่แล้ว และมีพาร์ทเนอร์ชีฟ เช่น แอนด์ กรุ๊ป ส่วนความพร้อมในการยื่นขอไลเซนส์ วันนี้กำลังรวบรวมความพร้อมอยู่”
‘กัลฟ์’ พร้อมลงชิงเวอร์ชวลแบงก์
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัฟล์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULLF เปิดเผยว่า ธุรกิจ Virtual Bank ขณะนี้ กัลฟ์จะร่วมมือกับ เอไอเอส และธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะยื่นภายในปี 2567 ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เนื่องจากกัลฟ์มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ส่วนเอไอเอส ถือมีความพร้อมความเข้าใจในสายธุรกิจดีจากลูกค้า 45 ล้านเลขหมาย ขณะที่กรุงไทยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ออกถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น โดยทำให้การเข้าถึงคนมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสกู้เงินได้ ผ่านการใช้ข้อมูลมือถือ ในขณะที่ธนาคารกรุงไทยจะเช็คได้ว่าจะมีความสามารถให้กู้ได้ตอนไหนบ้าง ซึ่งถือเป็นโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่แพงมาก
ทั้งนี้ อาจจะหาพันธมิตรเพิ่มในอนาคตเพื่อมาช่วยสนับสนุน อีกทั้งการที่ ธปท.เข้มงวดกฎระเบียบถือว่าดี จะสนับสนุนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ยิ่งเรามีเทคโนโลยีที่พร้อมจะสร้างความมั่นใจมากขึ้น
“ส่วนแผนธุรกิจยังไม่คุยกัน การถึงฐานลูกค้าทั้ง 2 มีฐานลูกค้าเยอะ จึงมีโอกาสมากขึ้น มีแนวโน้มกลุ่มปล่อยกู้อยู่แล้ว เชื่อว่ารายเล็ก หลักหมื่น หลักแสนเข้าถึงง่าย ช่วยคนส่วนมากทั้งประเทศได้เข้าถึง ในอนาคต ชีวิตคนเราเปลี่ยน ดิจิทัล เอไอ คลาวด์มากขึ้น ปีหน้าเราสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เสร็จ ธุรกิจด้านอินฟราสตรักเจอร์ด้านดิจิทัลจะขยายธุรกิจได้เรื่อยๆ”