SCB EIC เปิดตัวเลขส่งออก ‘อัญมณี’ ไป สวิสเซอร์แลนด์พุ่ง 688.1%
แกะดูประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุด พบส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 15.5% ขณะที่สวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 198.2% หลังส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวถึง 688.1%
ล่าสุด Economic Intelligence Center ( SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ภาพรวมการส่งออกไทย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.พ. 2024อยู่ที่ 23,384.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวได้เพียง 3.6%YOY (เทียบกับเดือน ก.พ. 2023) ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในเดือนก่อนที่ 10% อยู่มาก
อีกทั้ง ยังหดตัว -2% (เทียบกับเดือน ม.ค. 2024แบบปรับฤดูกาล) นอกจากนี้ การขยายตัวของการส่งออกในเดือน ก.พ. ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 309.5%YOY (คิดเป็นContribution to %YOY Growth = 2.4%)
ซึ่งไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าที่แท้จริง โดยการส่งออกไทยไม่รวมทองคำขยายตัวเพียง 1.2%YOY และหดตัว -2.1%MOM_SA สะท้อนว่าสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะสั้นแผ่วลง
การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวไม่ทั่วทุกตลาดสำคัญ
ภาพรวมการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญโดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 15.5% ต่อเนื่องจาก13.7% ในเดือนก่อน และเป็นการขยายตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า การส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ขยายตัวถึง 12 รายการ โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (78.5%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (63.8%)
(2) ตลาดสวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 198.2% เร่งขึ้นจาก 5.1% ในเดือนก่อน จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวถึง 688.1% ซึ่งคาดว่าเป็นทองคำ
(3) ตลาดยุโรป ขยายตัว 1.7% ต่อเนื่องจาก 3.6% ในเดือนก่อน
อย่างไรก็ดี (4) ตลาดจีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นตลาดสำคัญที่หดตัวที่ -5.7% -5.8% และ -9.8% ตามลำดั
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและแร่และเชื้อเพลิงหดตัว
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าดีขึ้นในบางกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 7.5% ต่อเนื่องจาก 14% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว
(2)สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 5.2% ต่อเนื่องจาก 10.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว
(3) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว-9.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เทียบกับที่ขยายตัว 3.8% ในเดือนก่อน โดยผลไม้กระป๋องและแปรรูปและเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดี ขณะที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว
และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -8.5% เป็นครั้งแรกในรอบ 7เดือนจากที่ขยายตัว 7.1% ในเดือนก่อน
การส่งออกเดือน มี.ค. มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง
SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค.2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก
ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%
อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากการฝึกซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งอาจเห็นการเคลื่อนย้ายอาวุธหรืออุปกรณ์ซ้อมรบออกนอกประเทศในเดือนหน้าผ่านระบบศุลกากร อาจเป็นปัจจัยช่วยให้ตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค. ไม่ติดลบรุนแรงนัก อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเด็นไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกสินค้าของไทยได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายอาวุธที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมรบ Cobra Gold จะไม่ถูกนับรวมในมูลค่าการส่งออกสินค้าตามระบบดุลการชำระเงิน
SCB EIC ปรับลดส่งออกเหลือ 3.1%
มูลค่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ในปี 2024 จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ (1) ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวใกล้เคียงปีที่แล้ว
(2)ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 ซึ่งเกินระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือนนอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่ (Export order) และดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต (Future output) เริ่มขยายตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในระยะข้างหน้า
(3) ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ปรับลดประมาณการการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 3.1% (จาก 3.7%) ตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกในปีนี้ที่ยังมีแนวโน้มดี แต่ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัญหาการโจมตีของกบฏฮูตีและความแห้งแล้งของคลองปานามา ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ
และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม นอกจากนี้ สาเหตุที่การส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพิเศษ เช่น ทองคำ จึงอาจไม่สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยได้ดีนัก
สินค้าในโลกเปลี่ยนไปในระยะยาว
แม้ภาคการผลิตโลกจะฟื้นตัวจากช่วงโควิดแล้ว แต่ภาคการผลิตไทยที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกยังไม่ฟื้นกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด สะท้อนจาก 1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2023 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2017 – 2019
2)การผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรม (เกือบ 80% ของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด) ยกเว้นอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ฟื้นตัว (รูปที่ 7) และ
3) ดัชนีผู้จัดการ
ฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตไทยมีแนวโน้มปรับแย่ลงต่างจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกที่ปรับดีขึ้น
สาเหตุหลักเพราะการส่งออกสินค้าของไทยยังไม่สามารถปรับตัวตอบสนองรูปแบบความต้องการสินค้าในโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีนัก
สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการปรับตัวต่ออุปสงค์โลก (Adaptation effect index) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการครองตลาดโลก (Relative change of world market share) ที่จัดทำโดย International Trade Centre พบว่าดัชนีของไทยยังติดลบในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ รูปแบบความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศักยภาพการส่งออกไทยอยู่ในระดับต่ำเทียบกับศักยภาพของประเทศในภูมิภาค
สะท้อนจากข้อมูล Export potential หรือมูลค่าศักยภาพการส่งออกของไทยใน 5 ปีข้างหน้า จัดทำโดย International Trade Centre ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนั้น หากพิจารณารายอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งออกได้ต่ำกว่าศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้ายานยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง
ดังนั้น ภาคการผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบความต้องการที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก