ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มี.ค.67 ‘ทรงตัว‘ รอรายงานเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ในคืนศุกร์นี้
ค่าเงินบาทวันนี้ 28 มี.ค.67 เปิดตลาด "ทรงตัว" ที่ 36.42 บาทต่อดอลลาร์ "กรุงไทย" ชี้เงินบาทหนุนโฟลว์ธุรกรรมทอง หลังราคาขึ้นบ้างตามการย่อตัวลงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ และดอลลาร์ ตลาดรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ในคืนวันศุกร์มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.30 - 36.50 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.50 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.35-36.44 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ และเงินดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ในคืนวันศุกร์ (ตลาดการเงินสหรัฐ และยุโรป ปิดทำการ เนื่องในวันหยุด Good Friday) ทำให้เงินบาทไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ถ้อยแถลงล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller (ในช่วง 05.00 น. เช้าวันพฤหัสฯ) ที่ยังย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ และยังคงกดดันทั้งราคาทองคำ รวมถึงเงินบาท
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ทว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเช้านี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัด เพราะอย่างน้อย เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เหมือนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกังวลต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนจากทางการญี่ปุ่นมากขึ้น โดยในวันก่อนหน้า ข่าวการประชุมของทางการญี่ปุ่นสามฝ่าย (MOF, FSA และ BOJ) ก็ได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง จนทดสอบโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่ระดับล่าสุดแถว 151.3-151.4 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ทำให้ในระหว่างวัน การอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ในช่วงคืนวันศุกร์ ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ไม่เกินโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ เข้ามา
อนึ่ง เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรม และแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
ตลาดหุ้นสหรัฐ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.86% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม หลังบรรดานักวิเคราะห์ทยอยปรับเป้าดัชนี S&P500 สูงขึ้น ตามมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นวันหยุดของตลาดการเงินสหรัฐ
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.13% ท่ามกลางความหวังการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในยุโรป อย่าง ธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ที่ล่าสุดส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 สอดคล้องกับการส่งสัญญาณทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง หลังหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง อาทิ Shell -1.3% ตามจังหวะการย่อตัวของราคาน้ำมันดิบ
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.19% โดยส่วนหนึ่งมาจากการทยอยปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นวันหยุดของตลาดการเงินสหรัฐ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดบอนด์ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงวันหยุด Good Friday ซึ่งจะเป็นวันที่ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเราคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เราคงแนะนำนักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ 10 ปี สหรัฐ ในทุกจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับ 4.20% จาก Risk-Reward ที่มีความคุ้มค่าพอสมควร
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ และเงินดอลลาร์ ยังพอช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อ และทรงตัวแถวโซนแนวรับ 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 4 รวมถึง รายงานยอดค้าปลีกและอัตราการว่างงานของเยอรมนี
ส่วนในฝั่งสหรัฐ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 เช่นกัน นอกจากนี้ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการ การว่างงาน (Jobless Claims) ก็จะเป็นอีกข้อมูลที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์