เข้าใจประเภทเงินได้พึงประเมิน และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของนิติบุคคล

เข้าใจประเภทเงินได้พึงประเมิน และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของนิติบุคคล

“ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” เป็นหนึ่งในภาษีที่นิติบุคคลต้องเจอ เมื่อมีการใช้บริการก็จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้ง และออกใบ 50 ทวิ ให้กับผู้รับเงิน ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามประเภทเงินได้พึงประเมิน

เรื่องของ "ภาษี" เป็นเรื่องที่คนมีรายได้ต้องเจอะเจออยู่แล้ว แต่ภาษีของผู้มีรายได้แต่ละคนจะต่างกันตามประเภทรายได้ของตนเอง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ

แต่ภาษีที่ต้องพบเจอสำหรับธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคล นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นก็คือ "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย" ซึ่งหลังจากที่กิจการได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการใช้บริการจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้ง และออกใบ 50 ทวิ ให้กับผู้รับเงิน รวมถึงเป็นผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประเภทเงินได้พึงประเมินด้วย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย กิจการสามารถหักได้ตามประเภทเงินได้พึงประเมิน หรือมาตรา 40(1-8) ดังนี้

นิติบุคคล กับหน้าที่ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือที่มักเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือการเสียภาษีที่ผู้จ่ายเงินจะต้องเป็นผู้จดทะเบียนนิติบุคคล และหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามประเภทรายได้ขอผู้รับเงิน ก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องเสียภาษีในครั้งเดียวกันเป็นจำนวนมาก ตอนที่ยื่นภาษีประจำปี

ทั้งนี้ นิติบุคคลผู้จ่ายเงินที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ จะประกอบไปด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน สมาคม หรือคณะบุคคล ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายคือต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ทุกครั้ง และนำเงินที่หักส่งให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน หรือยื่นออนไลน์ถึงวันที่ 15 ของทุกเดือน

การหักเงินของนิติบุคคลนี้ หากเป็นพนักงานประจำที่เสียภาษีน้อยกว่าเกณฑ์กำหนด จะถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กิจการผู้จ่ายเงินในฐานะนายจ้างก็ไม่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร

ลักษณะการจ่ายเงินที่ยกเว้นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

การหักภาษี ณ ที่จ่าย จะมีกรณียกเว้นไม่ต้องหักเงินเมื่อมีการจ่ายเงินค่าบริการได้ ซึ่งจะเป็นกรณีที่นิติบุคคลมียอดค่าใช้จ่ายสินค้าหรือบริการยอดเงินไม่ถึง 1,000 บาท ในการจ่ายแต่ละครั้ง นิติบุคคลผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

แต่หากเป็นการจ่ายเงินอย่างต่อเนื่องแม้ยอดเงินแต่ละครั้งจะไม่ถึง 1,000 บาท ผู้จ่ายเงินจะต้องทำการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วย อย่างเช่น ค่าบริการโทรศัพท์รายเดือน แม้ว่ายอดค่าบริการแต่ละครั้งจะไม่ถึง 1,000 บาท แต่รวมกันหลายเดือนแล้วเกิน 1,000 บาท ก็ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย

หลักการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามประเภทเงินได้พึงประเมิน

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่นิติบุคคลต้องหักและถูกหักนั้น จะมีทั้งค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และต้องหักด้วย   โดยยอดที่หักจะมีความแตกต่างกัน หากกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในฐานะผู้จ่ายเงิน จะต้องเป็นคนหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไว้ส่วนหนึ่ง ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับผู้รับ ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ดังนี้ 

  • มาตรา 40(1) เงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน​

จ่ายบุคคลธรรมดา ​หักอัตราก้าวหน้า​​​​

จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(2) การรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า​

จ่ายบุคคลธรรมดา หักอัตราก้าวหน้า​​​​

จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(3) ลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิ์อื่น​​​

จ่ายบุคคลธรรมดา หักตามอัตราภาษีที่กำหนด​​​

จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(4)(ก) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ​

จ่ายบุคคลธรรมดา หัก 15%

จ่ายนิติบุคคล หัก 1%

  • มาตรา 40(4)(ข) เงินปันผล​​​

จ่ายบุคคลธรรมดา หัก 10%

​จ่ายนิติบุคคล หัก 10%

  • มาตรา 40(5) ค่าเช่า เช่น ค่าเช่าทรัพย์สิน​​

จ่ายบุคคลธรรมดา หัก 5%

​จ่ายนิติบุคคล หัก 5%

  • มาตรา 40(6) วิชาชีพอิสระ เช่น หมอ นักบัญชี​

จ่ายบุคคลธรรมดา หัก 3%

​จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(7) รับเหมาฯ​​​​

จ่ายบุคคลธรรมดา หัก 3%

จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(8) รับจ้าง​​​

จ่ายบุคคลธรรมดา ​หัก 3%

​จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(8) โฆษณา​​​​

จ่ายบุคคลธรรมดา หัก 2%

​จ่ายนิติบุคคล หัก 2%

  • มาตรา 40(8) แข่งขัน​

จ่ายบุคคลธรรมดา ​​​หัก 5%

จ่ายนิติบุคคล หัก 5%

  • มาตรา 40(8) ชิงโชค

​​จ่ายบุคคลธรรมดา​​​ หัก 5%

จ่ายนิติบุคคล หัก 5%

  • มาตรา 40(8) นักแสดง

​​​จ่ายบุคคลธรรมดา​​​ หัก 5%

จ่ายนิติบุคคล หัก - 

  • มาตรา 40(8) รางวัลตามเป้าส่งเสริมการขาย​

จ่ายบุคคลธรรมดา​​​ หัก 3%

จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

  • มาตรา 40(8) ขนส่ง​

​​​จ่ายบุคคลธรรมดา​​​ หัก 1%

จ่ายนิติบุคคล หัก 1%

  • มาตรา 40(8) ประกันภัย

จ่ายบุคคลธรรมดา​​​ หัก 1%

จ่ายนิติบุคคล หัก 1%

  • มาตรา 40(8) บริการอื่นๆ

จ่ายบุคคลธรรมดา​​​ หัก 3%

จ่ายนิติบุคคล หัก 3%

หักเงินแล้ว อย่าลืมออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย

เมื่อนิติบุคคลมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้รับเงินตามประเภทเงินได้พึงประเมิน ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ ซึ่งหลังจากมีการหักเงินส่วนหนึ่งก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินนั้น นิติบุคคลผู้หักเงินจะต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ผู้รับเงินด้วย โดยออกเอกสารให้ผู้รับเงิน 2 ฉบับ และต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานของบริษัทอย่างน้อย 1 ฉบับ เพื่อให้ผู้ถูกหักภาษีได้นำไปลดหย่อนภาษีตอนสิ้นปีได้ โดยใช้หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) เป็นหลักฐานยื่นแก่กรมสรรพากร ช่วยลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่ถูกหักไประหว่างปีได้ หรือหากมีภาษีที่จ่ายล่วงหน้าเกินไว้ก็สามารถขอคืนภาษีได้

สรุป ดังนั้น หลังจากกิจการได้มีการจดบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว อย่าลืมใส่ใจเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่กิจการต้องหักให้ถูกต้องก่อนที่จะจ่ายให้กับผู้รับเงิน และต้องหักไว้ทุกครั้งที่มีการใช้บริการ หากไม่ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ จะถือว่านิติบุคคลนั้นทำผิดกฎหมาย

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting