นักเศรษฐศาสตร์ ชี้เศรษฐกิจไทยทรุด บีบกนง. ‘ลดดอกเบี้ย‘

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้เศรษฐกิจไทยทรุด บีบกนง. ‘ลดดอกเบี้ย‘

“ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้ควร “ลด” พยุงเศรษฐกิจระยะสั้น-ยาว “กรุงไทย” หวังลดดอกเบี้ยสร้างบรรยากาศลงทุน-“อีไอซี” เชื่อปีนี้ กนง. ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องสองครั้งติดเหลือ 2% “เกียรตินาคินภัทร” เผยแม้มีเหตุให้ลด แต่คาดครั้งนี้ กนง. ไม่รีบหวังรอความชัดเจน “ดิจิทัลวอลเล็ต”

วันนี้ (10 เม.ย.) ถือเป็นนัดชี้ชะตาครั้งสำคัญของ “อัตราดอกเบี้ยไทย” เรียกว่า เป็นอีกหนึ่งนัดประชุมที่ต้องติดตาม และผลประชุมอาจเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ท่ามกลางสารพัด “แรงกดดัน” โดยเฉพาะแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่ออกมาเรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วย “ลดดอกเบี้ย” เพื่อหวังดันให้ “นโยบายการเงิน” กลับมาเป็น “พระเอก” ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยยามที่ตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวเฉกเช่นปัจจุบัน และทำหน้าที่แทน “รัฐบาล” ที่ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้เห็นเท่าที่ควร เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นการอนุมัติงบประมาณปี 2567

ดังนั้น ผลการประชุมครั้งนี้ ต้องลุ้นว่ากนง. จะตัดสินใจ “คง” หรือ “ลด” ดอกเบี้ย หาก กนง. ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะมีส่วนเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย แต่ยังถือว่าเป็นการช่วยลดบรรยากาศ “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “รัฐบาลและแบงก์ชาติ” ให้ลดลงด้วย เพื่อช่วยประคับประคองให้ประเทศเดินไปข้างหน้าต่อได้  

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้เศรษฐกิจไทยทรุด บีบกนง. ‘ลดดอกเบี้ย‘ ทั้งนี้ จากมุมมอง “นักเศรษฐศาสตร์” ส่วนใหญ่ ต่างประเมินผลประชุมกนง. ครั้งนี้ คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และมีโอกาสลดต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. 2567 เป็นสองครั้งติดต่อกัน เพื่อให้สอดรับกับภาพของ “ศักยภาพเศรษฐกิจไทย” ที่ปรับตัวลดลง 

ลดดอกเบี้ยช่วย ‘พยุงเศรษฐกิจ’ ระยะสั้น-ยาว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้ คาดว่ากนง. น่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ทั้งจากปัจจัยระยะสั้นและยาว ในระยะสั้นเศรษฐกิจไตรมาสแรกอยู่ในภาพเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าคาด เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณภาครัฐเข้ามาสนับสนุน สอดคล้องภาคส่งออกที่เติบโตช้าลง การบริโภคในประเทศแผ่วลง และคาดว่าภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาพของการชะลอตัว และน่าจะเห็นต่อเนื่องในไตรมาส 2 ที่จะยังเป็นการฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยประคับประคองไม่ให้สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ไปกว่าเดิม และเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะสั้น 

ส่วนในระยะยาว การลดดอกเบี้ยลงเพื่อปรับสมดุลเศรษฐกิจไทยใหม่ ให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำลง จากเดิมที่มองว่า ระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ที่ 3% จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่เป็นตัวฉุดรั้งให้เศรฐษกิจไทยเติบโตต่ำกว่าอดีตต่อเนื่อง ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยลงถือเป็นการปรับดอกเบี้ยให้เข้าสู่สมดุลใหม่ตามศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลง

“เรามองว่า การปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ ผลน่าจะอยู่ที่ระยะยาวมากกว่า เพราะเข้าใจดีว่าระยะสั้น ปลายปีเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้น และการส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่ระบบเศรษฐกิจอาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ดังนั้น การลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในด้านระยะสั้น แต่ให้ความสำคัญในการปรับดอกเบี้ย เพื่อเหมาะสมกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปมากกว่า”

ผลข้างเคียงลดดอกเบี้ยฉุดเม็ดเงินไหลออก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือ ผลที่ตามมาจาก “การลดดอกเบี้ย” อาจส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออก เงินบาทอ่อนค่าแรง เหมือนที่แบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์เผชิญ หลังปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เงิน “ฟรังก์สวิส” อ่อนค่าลงร้อนแรง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจส่งผลให้ “ต่างชาติ” เทขายสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้น , บอนด์ และลดความสนใจในสินทรัพย์ไทยลดลงได้ ทำให้ในระยะสั้น มีโอกาสเห็นเงินบาทอาจอ่อนค่าไปทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้

นอกจากนี้ มองว่าหากธปท. ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ อาจต้องลดติดต่อกันสองครั้งติด คาดว่าเดือนมิ.ย. นี้ กนง. จะลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง แม้จะลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นประเด็น หาก กนง. สื่อสารได้ดี และให้เห็นถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ย เพื่อให้สมดุลกับเศรษฐกิจใหม่ในระยะยาวมากขึ้น มากกว่าการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ผลข้างเคียง 

“เรามองว่าแรงกดดันจากภาครัฐน่าจะน้อยลง เพราะงบประมาณออกมาได้แล้ว ดังนั้น หลังจากนี้ทุกคนคาดหวังว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐออกมา และการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มองว่าดีกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แม้จะไม่ได้ช่วยระยะสั้น เพราะเมื่ออุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ และผลดอกเบี้ยอาจช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่า จะช่วยหนุนความสามารถแข่งขันของผู้ส่งออกให้เพิ่มขึ้น ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย เพื่อหวังผลให้เกิดเงินบาทอ่อนค่า”

ลดดอกเบี้ยสร้างมุมมองบวกลูกหนี้-นักลงทุน 

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยประเมินว่า 3-6 เดือนนี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวได้เร็ว ดังนั้น การทำนโยบายการเงินผ่านการ “ลดดอกเบี้ย” ก็เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทย ดังนั้น คาดว่ากนง. น่าจะลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ 0.25% และมองว่า การลดดอกเบี้ย อาจไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว แต่จะเห็นการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง หรือสองครั้งติด ช่วงเดือนมิ.ย.นี้ด้วย เพื่อให้การลดดอกเบี้ยเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการลดดอกเบี้ยลง เป็นมุมมองเชิงบวก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นนักลงทุน ประชาชน หรือลูกหนี้ และเพื่อลดแรงกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจ และหนี้สินในปัจจุบันให้ลดลงได้ระดับหนึ่ง

“short term มองว่า คงมีมุมมองเชิงบวก ระดับหนึ่ง และถือเป็นไม้แรกช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ ก่อนที่ไม้ถัดมา คือ งบประมาณภาครัฐ ดังนั้นหากหลายเรื่องชัดเจน จะมีปัจจัยหนุนในเชิงนโยบายเข้ามาพร้อมกันพยุงเศรษฐกิจไทยได้อีก 2-3 แรงหนุน”

อีกด้าน หาก กนง. ไม่ลดดอกเบี้ย อาจต้องเผชิญแรงกดดันด้านคุณภาพหนี้ ความกังวลประชาชนจากภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่จะมีปัจจัยลบต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยลดดอกเบี้ยก่อนเฟด อาจไม่ได้มีผลมากนัก เนื่องจากปัจจุบันทั้งโลกมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยทั่วโลก เฟดอาจลดดอกเบี้ยประเทศสุดท้ายด้วยซ้ำ ขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มมีท่าทีที่จะลดดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบันถือว่ายังแข็งแกร่งมาก

“วันนี้การดำเนินนโยบายประเทศต่างๆ อาจแตกต่างมากขึ้น ดังนั้น หากเราลดดอกเบี้ยก่อนเฟดก็ไม่แปลก แต่หากพูดถึง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้เราอาจถูกเพ่งเล็งได้ แต่วันนี้ตลาดเปลี่ยนมุมมองแล้ว ดังนั้น ใครลดดอกเบี้ยก่อนเฟดก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก”

คาดกนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติด

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% และคาดจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องเดือนมิ.ย. ทำให้ดอกเบี้ยไทยจบที่กลางปีที่ 2.00% สอดรับศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงมาก สู่ระดับ 2.7% ในปัจจุบัน ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เหมาะสมก็ต้องปรับลดลงด้วย สอดคล้องระบบเศรษฐกิจหลายประเทศที่เมื่อเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการปรับระดับดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลงก็สามารถปรับลดลงได้

EIC เคยทำประเมินว่าเศรษฐกิจไทยระดับศักยภาพเคยอยู่ที่ 3% แต่วันนี้จากปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ทำให้ศักยภาพเราลดลงเหลือ 2.7% สอดคล้องกับหลายประเทศ ที่ปรับลดดอกเบี้ยลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้น ไม่มีนัยต่อการกระตุ้น และเหยียบเบรก จึงมองว่า การลดดอกเบี้ย มีความเหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม หากกนง. ไม่ลดดอกเบี้ย อาจสะท้อนว่าไทยกำลังดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัว ไม่สอดคล้องกับ Neutral rate หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาว

แม้การลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ผ่านดอกเบี้ยที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ตในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการเอื้อในการเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ จากปัญหาปัจจุบัน ที่ทั้งรายย่อย และบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีปัญหาหนี้ค่อนข้างมาก

“ผมมองว่า เราถึงจุดที่หากช่วยอะไรได้ ในภาคส่วนไหน ที่พอช่วยได้ คงต้องช่วยกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ให้ลดลงได้ โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นๆ”

ควรลดดอกเบี้ยแต่ไม่ใช่ 10 เม.ย. นี้  

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า แม้จะเป็นไปได้ ว่ากนง. จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่มองว่า มีโอกาสที่จะเห็นกนง. ลดดอกเบี้ยเดือนมิ.ย. นี้ มากกว่า มี 2-3 เหตุผลหลัก ปัจจัยแรกเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวไม่ได้แย่ ดังนั้น มองว่าความจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มี 

ถัดมาคือ วันที่ 10 เม.ย. ยังต้องรอดูความชัดเจน จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้น เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลให้ กนง. “ชะลอการตัดสินใจ” เพื่อรอดูภาพที่ชัดเจนทั้งภาพเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2567 ที่จะออกมาในช่วงกลางเดือนพ.ค. นี้ก่อน

นอกจากนี้ หากดูในมุมเงินเฟ้อ ถือว่าปรับลดลงต่ำกว่าคาด และโอกาสเห็นเงินเฟ้อกลับไปที่ระดับ 2% ถือว่าเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น ดังนั้น หากลดดอกเบี้ยลง Neutral rate อาจยิ่งกว้างขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม มุมลดดอกเบี้ย แน่นอนแม้อาจไม่เห็นผลบวกทันที แต่มองว่าสร้างปัจจัยเชิงบวกมากขึ้น เอื้อการลดต้นทุนทางการเงิน การตัดสินใจลงทุน และบริโภคมากขึ้น หรืออาจทำให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจซื้อบ้าน ซื้อรถมากขึ้น จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง และเอื้อให้ภาระทางการเงินของผู้กู้ลดลบ้าง จากปัญหาคุณภาพสินเชื่อที่เริ่มมีปัญหาต่อเนื่อง

“เรามองว่า ควรลดแต่ไม่ใช่ครั้งนี้ การยิ่งไปลดดอกเบี้ยจะยิ่งมีผลทำให้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และประเทศไทยห่างเข้าไปอีก เหล่านี้จะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อเงินบาทเพิ่มขึ้น หากเรารีบลดดอกเบี้ยจนเกิน ดังนั้น มองว่าแบงก์ชาติจะต้องพิจารณา และมีการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้น”

ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด

ขณะที่ความเคลื่อนไหว ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด “พิมโค” บริษัทจัดการด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ปรับลดคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดปีนี้ลงเหลือ 2 ครั้ง หลังมีการเปิดเผยข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐในเดือน มี.ค. ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด

นายไมค์ คัดซิล กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการพอร์ตทั่วไปของพิมโค เปิดเผย รอยเตอร์ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มมากที่สุดที่เฟดจะปรับลด 2 ครั้งในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเผยเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 303,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 205,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.9% ขณะที่ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐก่อนหน้านี้ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อาทิ ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค. และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1

ขณะที่ กรรมการเฟดเริ่มมีเสียงแตกมากขึ้นในเชิง “ไม่ลดดอกเบี้ย” ในปีนี้ ล่าสุด นายนีล คัชคารี ประธานเฟด สาขามินเนอาโพลิส เผยช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า เป็นไปได้ที่เฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยปีนี้ หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังเคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์และไม่ลดลงอย่างชัดเจนพอ

ความเห็นนี้สอดคล้องกับ นางมิแชล โบว์แมน กรรมการนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ที่ระบุว่า หากยังไม่สามารถคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย 2% ปีนี้ เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยแทนที่จะปรับลดตามที่คาดการณ์กันเอาไว้

ข้อมูลจาก ซีเอ็มอี เฟดวอทช์ ทูล บ่งชี้ว่านักวิเคราะห์ให้น้ำหนักการเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ลดลงเหลือ 48% จากราว 60% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ด้าน รอยเตอร์ส รายงานว่า บรรดานักลงทุนปรับลดการถือครองกองทุนหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 2567 โดยเทขายกองทุนหุ้นทั่วโลกเป็นมูลค่าสุทธิ 2.08 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นการไหลออกสุทธิรายสัปดาห์ครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลงน้อยกว่าที่คาดไว้