กนง.ชี้ งบรัฐล่าช้า ฉุุดเศรษฐกิจ 1.4แสนล้าน หวังเร่งเบิกจ่ายดึงศก.ฟื้น
“แบงก์ชาติ” ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้ความไม่แน่นอนรออยู่ระยะข้างหน้า แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวบางแล้วชี้การเบิกจ่ายรัฐที่ล่าช้าลากยาวมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อนจนถึงไตรมาสแรก ตัวฉุดเศรษฐกิจไทย 0.8% ต่อจีดีพี เม็ดเงินหายไป 1.4 แสนล้านบาท
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการฟื้นตัวส่งออก และการเบิกจ่ายงบประมาณ
ดังนั้น ควรติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจ และพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปีก่อนพบว่า เป็นปีที่มีทั้งแรงส่งและแรงฉุดไปพร้อมๆ กัน
โดยในแง่แรงส่งที่เป็นเชิงวัฏจักรระยะสั้น มีการท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นตัวสนับสนุนการบริโภคให้ภาคการเอกชนฟื้นตัว ขณะเดียวกันก็มีแรงฉุดจากวัฏจักรจากสินค้าคงคลังที่อยู่ระดับสูง และมีการลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสองไตรมาสสุดท้ายที่สินค้าคงกลับถือเป็นแรงฉุดสำหรับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยคิดเป็นแรงฉุดที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยราว 4.6%
เช่นเดียวกับส่งออก ที่ฟื้นตัวช้าจากอิเล็กทรอนิกส์ไซเคิลของโลก รวมถึงความสามารถการส่งออกของไทย ที่ด้อยลงที่เป็นแรงฉุดสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา
อีกแรงฉุดสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่เป็นปัจจัยเชิงวัฏจักร จากไตรมาส 4 และลากยาวมาถึงไตรมาสแรกปีนี้ คือ “ภาคการคลัง” ที่เรียกว่าเป็น “หลุมอากาศ” เพราะการที่งบประมาณล่าช้าทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจหายไปค่อนข้างมาก โดยหากเทียบตั้งแต่ไตรมาส 4 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้ หากเทียบกับการเบิกจ่ายงบประมาณช่วงปกติ พบว่างบประมาณเหล่านี้หายไปถึง 0.8% ต่อจีดีพีหรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 1.4 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่ชะงักไปพอสมควร จากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่เป็นหลุมอากาศที่หายไปในช่วงที่ผ่านมา
“ไตรมาส 4 เม็ดเงินลดลง 20% ไตรมาสแรกลดลง 40% ถือว่าเป็นการลดลงค่อนข้างมาก แต่ข่าวดี เมื่องบประมาณเบิกจ่ายผ่านแล้ว ไตรมาส 2 ก็จะมีแรงส่งเข้ามาจากการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะเข้ามาต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้นในภาพรวม คณะกรรมการมองว่า ตัวเลขที่ให้ 2.6% และ 3% ในปีหน้า ถือเป็นตัวเลขที่สมดุล ทั้งด้านความเสี่ยง และอัปไซด์ ดาวน์ไซด์ที่ใกล้เคียงกัน และด้านบวกอุปสงค์เราอาจขยายตัวดีกว่าคาด จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ และดิจิทัลวอลเล็ตที่เข้ามาเสริม เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ที่จะมีลุ้นเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงก็อยู่ที่การเบิกจ่ายภาครัฐ ที่อาจทำไม่ได้เต็มที่ที่ต้องติดตามต่อไป”
แต่ “แรงสนับสนุนหลัก” ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือภาคการท่องเที่ยว ที่หนุนการบริโภคภาคเอกชน ให้ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนแรงแรงฉุดจากปีก่อน ทั้งสินค้าคงคลัง และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ล่าช้า ปัจจัยลบเหล่านี้จะทยอยหมดไป
สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ที่ผ่านมา ภาคการคลัง ถือเป็นแรงฉุดสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งไตรมาส แต่เมื่อ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้ แรงฉุดเหล่านี้จะกลับมาเป็นแรงเสริม สำหรับเศรษฐกิจไทยได้นับตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ส่วนภาคส่งออกยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
โดยรวมแล้ว ธปท.ประเมินว่า ภาพใหญ่ เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.6% และปีหน้า 3.0% ซึ่งระดับ 2.6% แม้จะไม่ได้เป็นระดับที่ขยายตัวมากนัก แต่หากดูแรงส่งไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าการเร่งขึ้นของเศรษฐกิจไทย ถือว่าอยู่ระดับสูงพอสมควร เฉลี่ยแรงส่งอยู่ที่ราว 1% ต่อไตรมาส
การเติบโตเฉลี่ยที่ 1% ต่อไตรมาส โดยรวมทั้งปีจะอยู่ที่ราว 4% ซึ่งถือเป็นอัตรา หรือการขยายตัวที่ไม่เลว ในภาพใหญ่ ดังนั้น แม้ตัวเลขโดยรวมไม่ได้สูงมากนัก แต่ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว เหล่านี้ยังมีต่อเนื่อง
“ไตรมาสแรก ที่จะออกมาคาดการณ์ว่า จะขยายตัวราว 1% หากเทียบเป็นปีต่อปี ซึ่งก็ดูเหมือนจะต่ำ แต่เป็นการเร่งตัวของเศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาสในอัตราที่สูง และการขยายตัวปีต่อปี ก็ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดังนั้นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังมี โดยเฉพาะแรงฉุดจากปีก่อน จะค่อยๆหมดไปทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะทยอยตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ”
สำหรับภาพการบริโภคเอกชน ที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การบริโภคเอกชนถือว่าเร่งตัวค่อนข้างแรง ปีก่อนเติบโต 7% แต่ปีนี้เติบโตเพียง 3.5% แม้จะเป็นอัตราการขยายตัวต่ำลง แต่ก็เป็นระดับที่ดี หากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา
ที่สำคัญต้องมองลึกลงไปว่า ภายใต้การขยายตัวของการบริโภค ที่ชัดเจนเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดยการบริโภคที่เติบโต 7% ในนี้ 80% มาจากภาคบริโภค และหากดูกลุ่มรายได้ของการฟื้นตัว พบว่ากลุ่มรายได้ปานกลาง และรายได้สูง มีน้ำหนักของการขยายตัวเป็นส่วนใหญ่ของการบริโภคที่ขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา
อีกปัจจัยบวกที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง คือภาคการท่องเที่ยวไทย
โดยช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา การท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวมากกว่าคาด โดยนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ล้านคน และแง่การใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ระดับหนึ่ง เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ดังนั้น การประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 35.5 ล้านคน ทั้งปี 2567 เหล่านี้มีโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการได้ ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวจีน ที่เข้ามามากขึ้น ที่จะเป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้
แม้เศรฐษกิจไทยจะเต็มไปด้วยแรงหนุน แต่ ธปท. มองว่ายังมีความเสี่ยงด้านสูงเช่นเดียวกัน ทีต้องติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เช่นแรงส่งจากภาครัฐ ว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน และภาคส่งออกที่อาจมีความเสี่ยง ในการฟื้นตัว ที่อาจไม่ได้เหมือนที่ประเมินไว้ได้
“ศักยภาพเศรษฐกิจไทย เรามองที่ 2.7-3.1% และการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ที่ประมาณการ ก็ถือว่าขยายตัวอยู่ในระดับที่โอเค ส่วนอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมกับระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ใกล้เคียงกันไม่ได้ผิดเพี้ยนไป”