เตรียมรับมือเงินเฟ้อที่จะอยู่นานกว่าที่คาด
ระดับหนี้สิน หนี้สินสาธารณะ หนี้สินครัวเรือน และหนี้สินบริษัทที่อยู่สูงมากหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สภาวะทางการเงินทั่วโลกมีแนวโน้มจะตึงตัวเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ลดต่ำมาเหมือนทศวรรษก่อน
ปัจจุบัน เราตระหนักถึงความเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งที่มีโอกาสกระทบตลาดการเงินในอนาคต คือ ความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่อาจจะอยู่นานกว่าที่คาด ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่แตกต่างกว่า 30 ปีที่ผ่านมาที่เราอยู่ในยุคที่ระดับเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ขณะนี้ เราต้องตระหนักก่อนว่าเราผ่าน Covid-19 ด้วยระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งหนี้สาธารณะ และหนี้ภาคเอกชน โดยจากรายงาน “2023 GLOBAL DEBT MONITOR” ที่จัดทำโดย IMF เมื่อเดือน ก.ย. 2023 ได้กล่าวถึงระดับหนี้สาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากช่วงทศวรรษ 1970s ถึง 3 เท่าตัว จากสัดส่วนราว 30% ต่อ GDP เป็น 90% ต่อ GDP ในปี 2022 ขณะที่หนี้ภาคเอกชนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ โดยระดับหนี้เอกชนทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ระหว่างปี 1960 ถึงปี 2022 นำโดยระดับหนี้ในจีนที่พุ่งสูงขึ้น เห็นได้จากระดับหนี้ทุกภาคส่วน (Total Debt) ทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนของจีน เพิ่มขึ้นจากระดับ 70% ต่อ GDP ในช่วงกลางทศวรรษ 1980s เป็น 272% ต่อ GDP ในปี 2022
ด้วยระดับหนี้สิน ทั้งหนี้สินสาธารณะ หนี้สินครัวเรือนและหนี้สินบริษัทที่อยู่สูงมากหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สภาวะทางการเงินทั่วโลกมีแนวโน้มจะตึงตัวเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ลดต่ำมาเหมือนทศวรรษก่อน โดย Fed Fund Rate ระหว่างเดือน ก.พ. 2014 ถึงเดือน ก.พ. 2024 เฉลี่ยอยู่ประมาณ 1.36 % นอกจากนี้ ระดับเงินเฟ้อจากปัจจุบันไปจนถึง 3 ปีข้างหน้าจะไม่ลดลง จากปัจจัยอื่น ๆ อาทิ การกีดกันจีนจากห่วงโซ่การผลิตโลก และปริมาณเงินจำนวนมากที่ไหลเวียนในระบบจากสภาพคล่องที่ธนาคารกลางโดยเฉพาะสหรัฐฯ อัดฉีดเข้ามาในเศรษฐกิจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อลดลง อาทิ ประชากรสูงวัยในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาจำนวนมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่เมื่อหักลบกันแล้ว เราประเมินว่าพลังของเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักมากกว่าและจะทำให้ระดับเงินเฟ้อปัจจุบันถึง 3 ปีจากนี้ไป จะยังคงอยู่สูง ข่าวดีคือเราคาดว่าใน 3 ปีนี้จากนี้ไป เงินเฟ้อจะยังคงไม่สูงมากแต่ก็ไม่ต่ำเหมือนทศวรรษก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (Fed Fund Rate) ไม่อาจจะลดต่ำกว่า 2.5 % ได้ ดังนั้น ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อต่ำผิดปกติ แต่จากนี้ไป เราจะต้องระวังว่าเงินเฟ้อแม้จะไม่อยู่ในระดับที่สูงมากแต่คงจะไม่กลับอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ เช่นในอดีต เงินเฟ้อจะส่งผลให้ค่าของเงินลดลงโดยเฉพาะการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ผลบวกอีกด้านของเงินเฟ้อคือเงินเฟ้อทำให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์เพราะมูลค่าหนี้แท้จริงจะลดลง ซึ่งโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยหนี้สินจะเต็มใจน้อมรับเงินเฟ้อมากกว่าเงินฝืด
แม้ว่าในภาพปัจจุบัน เรายังอยู่ในภาวะตลาด (Phase of market) ที่เป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากระยะเติบโต (Growth) ซึ่งเป็นระยะที่มีการเติบโตของผลประกอบการจริง และเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทน ไปสู่ระยะมองโลกในแง่ดี (Optimism) ซึ่งเป็นระยะที่การประเมินมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของกำไรอีกครั้ง เกิดจากอาการ Fear of Missing Out (FOMO) หรือการ “กลัวตกรถ” ของนักลงทุน มากกว่าการกลัวขาดทุน โดยในปัจจุบันเราอยู่ในภาวะที่ดีต่อการลงทุน แต่ถัดจากนั้นแล้วคือระยะสิ้นหวัง (Despair) เป็นระยะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงจากจุดสูงสุดไปยังจุดต่ำสุด หรือ ตลาดหมี (Bear markets) นี่คือเหตุผลสำคัญ ที่เรายังคงยึดมั่นการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนและการใช้สินทรัพย์ทางเลือกอย่างการลงทุนใน Life Settlement ซึ่งเป็นการลงทุนทางเลือกในตลาดซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อลดความผันผวนของตลาดและได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ เรายังมองตลาดเป็นบวกโดยเฉพาะในครึ่งแรกของปี 2024 แต่ครึ่งหลังของปีนี้ จะมีความท้าทายมากขึ้นโดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมตัวให้มากที่สุดสำหรับกลยุทธ์การลงทุนและบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม