ถอดกลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนรับมือสงคราม
กลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนบนประเด็น Geopolitical Risks นักลงทุนควรจัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตการลงทุน เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) พอร์ตลงทุนหลัก และ 2) พอร์ตลงทุนส่วนเสริม
บรรยากาศการลงทุนในเดือน เม.ย. ที่ผ่านพ้นไป ค่อนข้างร้อนแรง ไม่แพ้อากาศที่ร้อนระอุ โดยประเด็นหนึ่ง ที่เข้ามาสร้างความผันผวนต่อตลาดและกดดันการลงทุนค่อนข้างมาก คือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่ปะทุขึ้น แม้ว่าล่าสุดความขัดแย้งจะยังคงอยู่ในวงจำกัด และการโจมตีตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายยังหวังผลเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจาก ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นสงครามที่มีการสู้รบจริงจัง หรือลุกลามเป็นสงครามในภูมิภาคได้
ขณะที่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างยืดเยื้อ สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณมูลค่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการทหารต่อยูเครน อิสราเอล และประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงไต้หวัน และสหรัฐฯ กำลังเตรียมร่างมาตรการคว่ำบาตรธนาคารจีนบางแห่ง โดยหวังที่จะให้จีนหยุดสนับสนุนอุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซียในเชิงพาณิชย์ อีกด้วย
ความกังวลต่อประเด็นข้างต้น ส่งผลให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ในช่วงเดือน เม.ย. ปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่เคยสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีในไตรมาสแรก ได้ปรับลดลงค่อนข้างมาก ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะที่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นโดดเด่น คือ ทองคำ และ สกุลเงินดอลลาร์ สรอ.
SCB CIO มีมุมมองบนประเด็น Geopolitical Risks ที่เกิดขึ้นว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1) ผลกระทบของสงคราม ต่อราคาน้ำมัน หากภาวะสงคราม ได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบให้ลดลง จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกรณีที่สงครามเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ เช่น อิหร่าน ซึ่งจะทำให้การส่งออกน้ำมันจากอิหร่านลดลง จากที่ปัจจุบันส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันกลุ่มโอเปกพลัสจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่สูงถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อมาชดเชยอุปทานที่ลดลง และสหรัฐฯ ก็มีการผลิตและส่งออกน้ำมันเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่หากสงครามยืดเยื้อรุนแรง กำลังการผลิตส่วนเกินอาจปรับลดลงมาก ทำให้ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง
2) ผลกระทบของสงคราม ต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบกับการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืช และ พลังงาน (น้ำมัน และ LNG) เป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากผลกระทบจาก Geopolitical Risks ต่อราคาน้ำมัน และต่อห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว มีความรุนแรงมาก อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น จนกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ปรับลดลงช้ากว่าที่คาด หรือ อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อ Valuation ของหุ้น อย่างไรก็ดี SCB CIO ยังมีมุมมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อยู่ที่ 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed fund อยู่ที่ 4.75%-5.0% ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ประเด็น Geopolitical Risks จะไม่ยืดเยื้อ รุนแรง จนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่า ราคาน้ำมัน WTI จะยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 100 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง
3) ผลกระทบของสงครามต่อ Sentiment นักลงทุน โดยหากการตอบโต้ของสงครามยืดเยื้อ รุนแรง จะก่อให้เกิดต้นทุนด้านเศรษฐกิจ และความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กระทบกับ Sentiment ของนักลงทุนบนสินทรัพย์เสี่ยงค่อนข้างมาก ทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเช่น ทองคำ สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เยน และสวิสฟรังก์ รวมทั้ง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนบนประเด็น Geopolitical Risks มีดังนี้
นักลงทุนควรจัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตการลงทุน เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) พอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) เพื่อลงทุนระยะยาว (มากกว่า 1 ปีขึ้นไป) ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งสินทรัพย์สภาพคล่อง ตราสารหนี้ หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อให้พอร์ตมีความมั่งคงและมีเสถียรภาพ และ 2) พอร์ตลงทุนส่วนเสริม (Opportunistic Portfolio) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) เพื่อคาดหวังการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการลงทุนแบบเจาะจง เช่น การจับจังหวะภาวะตลาด (Market Timing) และ การลงทุนตามธีมที่น่าสนใจในแต่ละช่วง (Thematic) เป็นต้น สำหรับสัดส่วนลงทุนใน Core และ Opportunistic Portfolio จะเป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ กรณีรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ ควรลงทุนบน Core Portfolio เพียงอย่างเดียว และ กรณีรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง ก็สามารถแบ่งเงินบางส่วน (ประมาณ 15-25%) เพื่อลงทุนผ่าน Opportunistic Portfolio ได้
ในสถานการณ์ปัจจุบัน บน Core Portfolio หากการปรับลดลงของตลาดหุ้นที่เกิดจาก Geopolitical Risks ไม่ได้นำมาสู่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่รุนแรง จนกระทบแรงกดดันเงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงแค่ในระยะสั้น ซึ่งถือเป็นจังหวะในการทยอยเข้าสะสมตลาดหุ้นที่มีพื้นฐานดี งบดุลแข็งแกร่ง และ Valuation ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจเข้าไว้ในพอร์ตระยะยาว ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัย ได้แก่ ทองคำ และ เงินดอลลาร์ สรอ. ท่ามกลาง Geopolitical Risks ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในตะวันออกกลาง และส่วนอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ-จีน และ รัสเซีย-ยูเครน สำหรับ Opportunistic Portfolio หากสถานการณ์ Geopolitical Risks ในตะวันออกลางยังไม่คลายความรุนแรงลงอย่างชัดเจน เรายังเน้นให้ หลีกเลี่ยง การลงทุนบนตลาดหุ้น ในระยะสั้น
ทั้งนี้ การจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยง และสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน ทั้งใน Core และ Opportunistic Portfolio จะช่วยให้ ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมการลงทุนจะผันผวนเพียงใด พอร์ตของท่านผู้ลงทุนก็ยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนไปถึงเป้าหมายการลงทุนที่วางไว้ได้ในที่สุด