ttb เร่ง‘ธุรกิจเวลท์’หนุนรายได้ ชดเชยลดดอกเบี้ย
“ทีทีบี” เปิดแผนกลยุทธ์ ttb reserve ปี 67 เร่งปั้มรายได้ค่าฟี “ธุรกิจเวลท์” เต็มสูบ หวังพยุงรายได้ชดเชยผลกระทบลดดอกเบี้ย ล่าสุด เดินหน้านำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ช่วยต่อยอดความมั่งคั่งครบทุกมิติ ตั้งเป้าปีนี้มีลูกค้าถือครองบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 44,000 ราย มี AUM โต 40%
หลังจากมาตรการการปรับลดดอกเบี้ย MRR 0.25% เพื่อลดภาระหนี้ ทั้งในกลุ่มลูกค้าเปราะบาง และเอสเอ็มอี ตามนโยบายของสมาคมธนาคารไทยเป็นระยะเวลา 6 เดือน
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb เปิดเผยว่า จากมาตรกาลดดอกเบี้ยดังกล่าว มีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลงบ้าง และธนาคารได้มีแผนรองรับ โดยสามารถหารายได้จากค่าธรรมเนียมอื่นๆ เข้ามาชดเชยได้ไปพร้อมกับช่วยเหลือลูกค้าด้วยเช่นกัน สำหรับธุรกิจรายย่อย มุ่งเน้นสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเวลท์(ttb reserve ) เพิ่มขึ้น โดยคาดหวังสามารถพยุงรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงในส่วนนี้ได้
สำหรับแผนธุรกิจของ ttb reserve ในปี2567 ธนาคารยังคงตอกย้ำความเป็น Total Wealth Solution ที่ไม่ใช่แค่บัตรเครดิต แต่คือ “ttb reserve solution” ช่วยต่อยอดความมั่งคั่งครบทุกมิติสู่ความสำเร็จไม่มีสิ้นสุดให้กับกลุ่มลูกค้าเวลท์
ล่าสุด เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับลูกค้า ได้แก่ Foreign Exchange (FX) Solution ให้ทุกธุรกรรมสกุลเงินต่างประเทศผ่านแอป ttb touch เป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย คุ้มค่า และ Wellness Solution โซลูชันการปรับพอร์ตลงทุน สำหรับลูกค้าที่มีเงินฝากสูง เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่า โดยเน้นรักษาเงินต้นเป็นสำคัญ
นอกจากนั้น ธนาคารยังคงมอบเอกสิทธิ์เหนือระดับอย่างต่อเนื่องด้วยแคมเปญต่าง ๆ มากมายเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งให้กับลูกค้า ผู้ถือบัตรเครดิต ttb reserve
ทั้งนี้ จากแผนกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ใหม่ รวมถึงการนำเสนอโซลูชัน ต่าง ๆ ของ ttb reserve ธนาคารตั้งเป้าหมายคาดภายในปีนี้จะมีลูกค้ากลุ่มเวลธ์ ถือครองบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 44,000 ราย เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่ 39,000 ราย และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 725,000 ล้านบาท หรือเติบโต 40% จากปีก่อน 500,000 ล้านบาท
โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าใน 2 กลุ่มหลักกลุ่มแรกคือ Young Wealth ที่ต้องการเพิ่มพูน และปกป้องความมั่งคั่ง เพื่อต่อยอดไปสู่ทุกเป้าหมายความสำเร็จ ด้วยเอกสิทธิ์เหนือระดับที่ตอบทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างคุ้มค่า และเพื่อให้การสื่อสารภาพลักษณ์ ttb reserve ไปยังกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนมาตรการลดดอกเบี้ยตามนโยบายสมาคมธนาคารนั้น ธนาคารจะมีการประกาศปรับลด MRR 0.25% ในเร็วๆ นี้ได้ประเมินผลกระทบหลักในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านคาดว่าหายไปไม่มาก ธนาคารไม่มากเพราะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านตามเกณฑ์ที่เข้าข่ายมาตรการลด MRR 0.25% ของธนาคารนั้นมีเพียง 50,000-60,000 ราย และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ธนาคารมีไม่มาก ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านภาพรวมสินเชื่อรายย่อยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.2567) ภาพรวมของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารยังคงชะลอตัว ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดี โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงชะลอตัว จากการที่ยังขาดแรงกระตุ้นที่ส่งผลต่อบวกต่อสินเชื่อทั้ง 2 กลุ่มของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้มีการชะลอการซื้อบ้านและรถยนต์ลงไปมาก
ทั้งนี้ สินเชื่ออื่นๆ ที่ยังเติบโตได้ระดับหนึ่ง คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังเติบโตได้ แต่ธนาคารก็ยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ จากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้ธนาคารไม่เร่งในการให้สินเชื่อในกลุ่มนี้มาก
อย่างไรก็ตามขณะนี้ธนาคารยังอยู่ระหว่างการทบทวนเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยปีนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยธนาคาร ยังคงคาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 จะเห็นการฟื้นตัวของสินเชื่อรายย่อยกลับมา
จากการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐออกมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี2567และมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้มีปัจจัยหนุนเข้ามาช่วยกระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และเป็นปัจจัยหนุนต่อภาพรวมของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารกลับมาฟื้นตัวตามภาพของเศรษฐกิจ
“สินเชื่อรถยนต์ของธนาคาร ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมามีการปรับตัวลงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของยอดขายรถกระบะที่ลดลงไปมาก ทำให้สินเชื่อรถยนต์ลดลงตามไปด้วย ซึ่งธนาคารจะมีการปรับกลยุทธ์ไปเจาะกลุ่มรถยนต์ประเภทอื่น เช่น รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ และรถยนต์หรู รวมถึงการทำงานร่วมกับดีลเลอร์และเต้นท์รถยนต์มากขึ้น เป็นต้น แต่ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เป็นรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ที่ 1.5 แสนล้านบาท”