Ajaib ถอดรหัสทำไม Gen Z 'กลัวการลงทุน' เข้าหาคริปโทเพราะทดลองได้ไม่มีขั้นต่ำ

Ajaib ถอดรหัสทำไม Gen Z 'กลัวการลงทุน' เข้าหาคริปโทเพราะทดลองได้ไม่มีขั้นต่ำ

Ajaib สตาร์ทอัพการเงินระดับ “ยูนิคอร์น” จากอินโดนีเซีย แพลตฟอร์มการลงทุนที่ครองใจคนรุ่นใหม่ ถอดรหัสทำไม Gen Z “กลัวการลงทุน” เพราะหนีข้อมูลท่วมเว็บ ชอบเรียนรู้จากโซเชียล ต้นทุนต่ำ ทำให้เข้าหา “คริปโท”เพราะทดลองได้ไม่มีขั้นต่ำ

ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงไม่กล้าลงทุน?  แม้ว่าสถาบันการเงินต่างๆ กำลังพยายามเจาะตลาดนักลงทุนรุ่นใหม่มากมาย รวมทั้งยังมีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เช่น หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ คริปโทเคอเรนซี ไหนจะโซเชียลมีเดียที่ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้ง่ายและรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต 

“ญาดา ปิยะจอมขวัญ” ผู้ร่วมก่อตั้งและ CPO ของอาไจบ์ Ajaib ซึ่งเป็นบริษัท Fintech ที่เน้นการลงทุนออนไลน์สำหรับคนรุ่น Gen Z กล่าวในงาน Money 2020 ถอดรหัสคนรุ่นใหม่ มองเห็น “ความกลัว” น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนรุ่น Gen Z ไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้จักเครื่องมือทางการเงิน หรือไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร

“อาไจบ์”เรียนรู้พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่จากผู้ใช้บนแพลตฟอร์มกว่า 3 ล้านคน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อยในอินโดนีเซีย จนกลายเป็นยูนิคอร์นด้านการเงินเทคโนโลยี เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้น 50% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

เมินไฟล์ PDF เน้นเรียนรู้จากโซเชียล

“หลายคนคิดว่า Gen Z ไม่สนใจการลงทุน แต่จริงๆแล้ว พวกเขามีความสนใจ เพียงแต่ยังขาดความรู้และคำแนะนำ”

 

นักลงทุนรายย่อยในอินโดนีเซียมีประมาณ 5 ล้านคน กว่า 3 ล้านคนเป็นกลุ่มคนอายุน้อย หรือ Gen Y และ Gen Z ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างเยอะในกลุ่มนักลงทุนและประชากรในประเทศ เนื่องจากในอินโดนีเซียประชากรมีอายุเฉลี่ยที่ 29 ปีเท่านั้น ซึ่งต่างจากไทยที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี 

เด็กรุ่นใหม่หลายคนต้องรับมือกับ “ข้อมูล” จำนวนมากบนโลกออนไลน์ จนสับสนและไม่รู้ว่าข้อมูลไหนเชื่อถือได้ ไหนจะเหล่า"กูรู" ทางการเงินมากมายบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกกดดันและไม่มั่นใจ ที่สำคัญที่สุดคือ Gen Z ไม่มีบุคคลที่ปรึกษาที่สามารถให้คำแนะนำและคำแนะนำทางการเงินแก่พวกเขาได้

Gen Z  ไม่ชอบเรียนรู้แบบเดิมๆ แทนที่จะศึกษาข้อมูลการลงทุนผ่านเอกสาร ไฟล์ PDF กลับเรียนรู้การลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียและแชทออนไลน์ บนแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งบางแอป มีฟังก์ชันสำหรับ GenZ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถ ถามคำถาม เกี่ยวกับการลงทุน หรือแบ่งปันประสบการณ์ได้เรียนรู้จากผู้อื่นในโซเชียลมีเดีย

สำหรับคนรุ่นใหม่ในประเทศอินโดนีเซียจะให้ความสนใจกับการลงทุนที่กลุ่มเพื่อนหรือคนรู้จักกำลังลงทุนอยู่ ทำให้การบอกต่อจากคนรู้จักสร้างความไว้วางใจได้มากกว่าโฆษณาการลงทุนของสถาบันการเงินเสียอีก  แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องระวังก็คือ การบอกถึงวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง และการแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุน

ทำไมเด็กรุ่นใหม่ชอบคริปโทมากกว่า ?

ญาดา  ยกตัวอย่าง Gen Z ในอินโดนีเซียที่เติบโตมากับเทคโนโลยีและคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และการช้อปปิ้งออนไลน์ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และยินดีที่จะลองใช้ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่าเการเดินไปยืนยันตัวตนที่สาขาหรือธนาคาร

ความกลัวในการลงทุน ทำให้ไม่กล้าลงทุนครั้งแรกด้วยเงินจำนวนมาก และต้องการลงทุนในจำนวนน้อย ด้วยข้อจำกัดของการลงทุนที่มีงบประมาณน้อยและไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่มองหา “การลงทุนแบบไม่มีขั้นต่ำ”  เช่น “คริปโท”สามารถดึงดูดใจนักลงทุนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น มากกว่าธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งมีขั้นต่ำในการลงทุนที่สูง

นักลงทุนคริปโทส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและเปิดรับความเสี่ยงมากกว่านักลงทุนรุ่นอื่นๆ รวมทั้งแพลตฟอร์มคริปโทหลายแห่งเสนอตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย เช่น พันธบัตร กองทุนรวม หุ้น และคริปโท ช่วยให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมโลกคริปโทถึงเป็นพื้นที่สำหรับนักลงทุน Gen Z ได้ เพราะการมี “คอมมูนิตี้”  แต่ละเหรียญมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่เข้ามาแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนกลยุทธ์ และสร้างแรงจูงใจซึ่งกันและกัน สิ่งนี้เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการเรียนรู้และการลงทุน

Gen Z  เริ่มให้ความสำคัญกับ “การลงทุน”

จากสัดส่วนการใช้งานของ Gen Z บนแพลตฟอร์มของอาไจบ์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีสัดส่วนเป็นผู้ชายประมาณ 20 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในช่วงประมาณ 2-3 ปีก่อน  และปัจจุบันสัดส่วนเริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะผู้หญิงเองก็เริ่มลงทุนมากขึ้นและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุน โดยสัดส่วนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ ชาย 60% และ หญิง 40%

“โดยปกติแล้วผู้หญิงมักใช้เวลานานกว่าผู้ชายในการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน แต่เมื่อผู้หญิงตัดสินใจลงทุนแล้ว พวกเขามักจะทุ่มเทให้กับมันอย่างจริงจัง”

ดังนั้น ญาดา ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งของอาไจบ์ซึ่งครองใจนักลงทุนรุ่งใหม่ในอินโดนีเซีย มีคำแนะนำสำหรับ Startup ที่ต้องการดึงดูด Gen Z ว่าจะต้องมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ หรือเรียกว่า “จริงใจ” เริ่มจากจุดเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย มีค่าธรรมเนียมต่ำและโปร่งใส และมีทีมสนับสนุนให้คำแนะนำกลุ่มลูกค้าเหล่านี้