การบริหารภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้หลังเกษียณ

การบริหารภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้หลังเกษียณ

การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข หรือในบางคนที่ได้มีการวางแผนเตรียมตัวมาอย่างดีด้วยการสร้างแหล่งเงินได้ passive income รองรับไว้ เช่น ดอกเบี้ยรับ เงินปันผล ผลประโยชน์จากเงินประกัน ฯลฯ

เมื่อพูดถึงการเกษียณใครหลายๆคนอาจมองว่าเป็นเรื่องของอนาคตหรือเอาไว้รอจนอายุที่ถึงวัยใกล้เกษียณแล้วค่อยวางแผนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วการเกษียณต้องอาศัยการวางแผนล่วงหน้าในระยะยาวที่ควรเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินไว้สำหรับหลังเกษียณเพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข หรือในบางคนที่ได้มีการวางแผนเตรียมตัวมาอย่างดีด้วยการสร้างแหล่งเงินได้ passive income รองรับไว้ เช่น ดอกเบี้ยรับ เงินปันผล ผลประโยชน์จากเงินประกัน ฯลฯ ก็ควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการบริหารภาษีจากรายได้กลุ่มนี้ไว้เหมือนกัน ในที่นี้อาจสรุปประเด็นภาษีกับการเกษียณรวมถึงการวางแผนภาษีของผู้สูงอายุที่หลายคนอาจมองข้าม ได้ดังนี้ 

การบริหารภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้หลังเกษียณ

1) เงินที่ได้รับเมื่อออกจากงานโดยการเกษียณอายุ ซึ่งก็คือเงินค่าชดเชยเป็นเงินที่จะได้รับเมื่อออกจากงานตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง หมดสัญญาจ้างและเกษียณอายุ แต่หากเป็นลาออกโดยสมัครใจหรือถูกไล่ออกกรณีทำผิดร้ายแรงจะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าวนี้ อัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะคิดตามอายุงานที่ทำงานกับนายจ้างและใช้อัตราเงินเดือนล่าสุดสำหรับการคำนวณค่าชดเชย ดังนี้

ทั้งนี้ เมื่อเกษียณอายุจะได้รับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยกรณีที่ได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้างค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งก้อน ไม่ได้รับยกเว้น 300,000 บาทแรกเหมือนกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก

2) เงินได้หลังวัยเกษียณที่เกิดจากการลงทุน เช่น

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF เงื่อนไขของ RMF ต้องถืออย่างน้อย 5 ปีและต้องถือครองจนถึงอายุ 55 ปี ดังนั้นหากเข้าตามเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ กำไรจากการขายคืน RMF จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากต้องการถือต่อหรือซื้อ RMF เพื่อลงทุนต่อไปอีกก็สามารถทำได้ กรณีที่เราอายุ 55 ปีขึ้นไป จะมีข้อดีคือสามารถขายได้โดยได้รับการยกเว้นภาษีหากถือครองครบ 5 ปีแล้ว
  • ดอกเบี้ยเงินฝาก กรณีบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารในประเทศไทยที่มีระยะเวลาฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและดอกเบี้ยที่ได้รับไม่เกิน 30,000 บาท ผู้ฝากบัญชีมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษี
  • เงินที่ได้รับคืนจากประกันบำนาญ เงินที่จ่ายจากสัญญาประกันชีวิตและเงินบำนาญที่ได้รับจากกรณีซื้อประกันบำนาญไว้ จะได้รับยกเว้นภาษี
  • กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับการยกเว้นภาษี
  • เงินปันผลจากหุ้นหรือกองทุนรวม จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่มีสิทธิเลือกวิธี Final Tax ที่จะไม่นำมารวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้

3) เงินได้หลังวัยเกษียณอื่นๆ ที่อาจได้รับ เช่น

  • เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากนำเงินออกจากกองทุนฯ เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไปและเป็นสมาชิกกองทุนเกินกว่า 5 ปี จะได้รับยกเว้นภาษี
  • เงินบำนาญ กรณีเป็นข้าราชการและได้รับเงินเงินบำนาญ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี
  • เงินบำเหน็จดำรงชีพ กรณีเป็นข้าราชการที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพ โดยเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับส่วนนี้จะได้รับยกเว้นภาษี

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ยังมีสิทธิได้รับยกเว้นเงินได้เพิ่มเติมอีก จำนวน 190,000 บาท โดยนำไปหักออกจากเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ตนได้รับในปีภาษี เช่น หากมีคอนโดเพื่อปล่อยเช่าและมีรายได้ค่าเช่ารับทั้งปี 240,000 บาท สามารถนำสิทธิยกเว้นภาษี 190,000 บาทนี้มาหักออกจากรายได้ค่าเช่ารับ ทำให้มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเหลือเพียงแค่ 50,000 บาท

ในอนาคตที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การที่เราเริ่มวางแผนการลงทุน การออมและวางแผนภาษีไว้ จะช่วยให้เรามีความพร้อมและมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตในวัยเกษียณเมื่อวันนั้นมาถึง