กรุงไทย ไม่ปิดประตูรับพันธมิตรใหม่ลุย ‘virtual bank’
"กรุงไทย" เดินหน้าตั้ง "เวอร์ชวลแบงก์" เผยอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมยื่น "ขอไลเซนส์" คาดยื่นได้ก่อนกำหนด "แบงก์ชาติ" ที่ปิดรับ 19 ก.ย.67 พร้อมย้ำ "พันธมิตร" ยังรายเดิม แต่ไม่ปิดโอกาสรับพันธมิตรใหม่ เชื่อธนาคารไร้สาขายังจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจนอกระบบ
ใกล้ขึ้นมาทุกทีสำหรับการปิดให้ยื่นขอใบอนุญาต หรือขอไลเซนส์อย่างเป็นทางการ เพื่อตั้ง “ธนาคารไร้สาขา” หรือ Virtual bank หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันสุดท้ายที่สามารถยื่นได้คือวันที่ 19 ก.ย.2567 นี้ ซึ่งคิดเป็นเวลา 6 เดือนเต็ม
การขอไลเซนส์ครั้งนี้ ธปท.ยังคงยืนยันชัดเจนว่าผู้ที่จะได้ไลเซนส์จะมีเพียง 3 รายเท่านั้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างรอบด้านในด้านการให้บริการต่างๆ ว่าตรงตามเป้าประสงค์ที่ ธปท.ตั้งไว้หรือไม่ ทั้งเอื้อให้เกิดการเข้าถึงสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบันได้มากนัก บนต้นทุนการให้บริการที่ต่ำ รวดเร็ว ปลอดภัย และการให้บริการต้องผ่านดิจิทัลทั้งหมด
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับพันธมิตรของธนาคาร เพื่อเดินหน้ายื่นขอใบอนุญาตตั้งธนาคารไร้สาขาให้ทาง ธปท.พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าการยื่นขอไลเซนส์จะเสร็จสิ้นก่อนกำหนดปิดให้ยื่นใบอนุญาตได้วันที่ 19 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ การยื่นขอไลเซนส์ ปัจจุบันธนาคารคงยืนยันว่ายังร่วมกับพันธมิตรรายเดิม คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่มีการบันทึกข้อตกลงกันในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ส่วนในอนาคตจะมีการเปิดรับพันธมิตรใหม่หรือไม่นั้น ธนาคารก็ไม่ได้ปิดกั้นในการเปิดรับพันธมิตรใหม่ เพราะเชื่อว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลง หรือปรับให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ดังนั้น ทุกแนวทางที่ทำให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ธนาคารก็พร้อมรับพิจารณา
สำหรับความจำเป็นในการจัดตั้ง Virtual bank ธนาคารมองว่ายังมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทย หรือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ หรือ Informal Economy ที่มีข้อมูลอยู่ในวงจำกัด ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อของคนทุกกลุ่มในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในวงจำกัด
จึงมีความจำเป็นที่ระบบเศรษฐกิจไทยต้องการผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่จะเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดข้อมูลมากขึ้น ดังนั้น Virtual bank มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเอื้อให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงระบบการเงิน สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือบริการทางการเงินมากขึ้น
“กลยุทธ์เรายังคงเดิม เช่นเดียวกันพันธมิตรที่ยังคงเดิมเหมือนที่ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ แต่เราก็ไม่ได้จำกัด หากมีคนสนใจเข้ามา ก็ไม่ได้ปิดโอกาส เพราะทุกอย่างต้อง Resilience หรือยืดหยุ่นได้ ทุกออปชันได้หมด และเราเชื่อว่าการยื่นขอไลเซนส์ก็คงเป็นไปตามกรอบที่ ธปท.วางไว้ที่ให้ยื่นได้ถึงวันที่ 19 ก.ย.นี้ ก็ยังคงเป็นไปตามเดดไลน์”
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง Virtual bank ของ “กลุ่มกรุงไทย” ถือว่าแข็งแกร่งอย่างมาก ภายใต้การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริการในช่วงที่ผ่านมา มีการระบุว่าการขอไลเซนส์ครั้งนี้ภายใต้ธนาคารกรุงไทย จะมีถึง 4 พันธมิตร โดยจะมีกรุงไทยที่มีฐานลูกค้าจาก “เป๋าตัง” กว่า 40 ล้านคน และมีพันธมิตรอีก 3 ราย คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
รวมถึง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่มีฐานลูกค้าในมือที่เป็นทั้งฐานสมาชิก Blue Card ราว 8 ล้านคน และ ADVANC ที่มีฐานลูกค้าในมือกว่า 50 ล้านคน
สำหรับการจัดตั้ง Virtual Bank เบื้องต้นต้องจดทะเบียนตั้งในประเทศไทย ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ไม่สามารถตั้งสาขา หรือมีสาขาอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตู้เอทีเอ็มต่างๆ ได้ รูปแบบประกอบธุรกิจของ Virtual Bank และผู้ให้บริการจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านดิจิทัล ที่สำคัญคือ ระบบต้องไม่ล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี หรือต่อครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมง เป็นต้น
ทั้งนี้ การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank จะสามารถยื่นขอใบอนุญาตมาได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ถึง 19 ก.ย.2567 คาดหลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นขอไลเซนส์เข้ามา 9 เดือน และคาดจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ใบอนุญาตได้ราวครึ่งแรกปี 2568 โดยผู้ขออนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวกลางปี 2569 เป็นอย่างน้อย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์