นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง. ‘คงดอกเบี้ย‘ รับเศรษฐกิจฟื้น-รัฐทยอยเบิกจ่ายงบ
นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียง คาดกนง.คงดอกเบี้ยพรุ่งนี้ รับเศรษฐกิจฟื้น ภาครัฐทยอยเบิกจ่ายได้ หนุนเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
ใกล้ถึงรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งที่ 3 ของปีในวันพุธที่ 12 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งถือเป็นอีกนัดการประชุมที่น่าจับตาอย่างมาก เพราะภาพเศรษฐกิจขณะนี้ แม้จะออกมาดีเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ในไตรมาส 1ปี 2567 แต่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางข่าวดียังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาพเศรษฐกิจไทย แม้จะฟื้นตัว แต่การคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย ระดับ 2-3% สำหรับปี2567 ถือว่าเป็นระดับต่ำและต่ำมาก หากเทียบกับในอดีต ทำให้ไทยแทบจะเป็นประเทศที่เติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้การฟื้นตัว ยังมีความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งจากสงครามการค้า ที่พร้อมปะทุ และสร้างความปั่นป่วนต่อการค้าโลกอีกไม่น้อยไม่ระยะข้างหน้านี้ อีกทั้ง ยังมีปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต้องกลับมาอยู่ในโหมดการ “เฝ้าระวัง”แทนการขยับขยายหรือการเร่งลงทุนหลังจากนี้
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ผลประชุมกนง.ว่า น่าจะออกมาคงเดิม คือ 5 ต่อ 2 เสียงให้ “คงอัตราดอกเบี้ย” เพราะสิ่งที่แตกต่างจากเดิมมี 2 มิติ หากเทียบกับการประชุมกนง.รอบก่อน
มิติแรก หลังประชุมกนง. แม้ไม่ได้มีมติลดดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะดอกเบี้ยรายย่อย หรือ MRR และสินเชื่อธุรกิจรายย่อย เพื่อลดภาระช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายได้น้อย ซึ่งได้ช่วยลดความร้อนแรงของกระแสในการเรียกร้อง “ลดดอกเบี้ย”ลงได้บ้าง เพราะอย่างน้อย จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง ซึ่งดีกว่าเพราะช่วยเหลือบางกลุ่มเป็นการเฉพาะที่ได้รับผลกระทบ ดีกว่าลดดอกเบี้ยทั้งกระดาน ซึ่ง“เป็นการเหวี่ยงแห”
มิติที่สอง ปัจจุบันเริ่มเห็นงบประมาณภาครัฐออกมาแล้ว ฉะนั้นน่าจะเห็นแบงก์ชาติโยนหินกลับไปที่นโยบายการคลัง ในการ
กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง ที่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญมากกว่า นอกจากนี้คาดหวังว่า การประชุมครั้งนี้จะเห็นการสื่อสารของแบงก์ชาติที่ชัดเจนมากขึ้นในด้านต่างๆ
“ลดดอกเบี้ยไม่ใช่ไม่ช่วย มีส่วนช่วย แต่ว่ามันจะสร้างผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติพูดตลอดเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ขยับสูงขึ้น ดังนั้นอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ควรแก้เฉพาะจุดมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม มองว่า จะเห็นแบงก์ชาติกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้ง ปลายปี 2567 เพื่อช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจ ให้เกิดการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2568 และท้ายที่สุดเชื่อว่า กนง.ไม่น่าจะเซอร์ไพรส์ตลาด มาลดดอกเบี้ย
“หากกนง.ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ตลาดจะยิ่งสับสนมากเพราะ ตอนเศรษฐกิจแย่กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย แต่พอเศรษฐกิจดีขึ้นกลับลดดอกเบี้ยซึ่งไม่น่าเกิดขึ้น แต่มองว่า หากกนง.จะลดดอกเบี้ย ครั้งนี้อาจมีการส่งสัญญาณเพื่อเปิดทางให้ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปมากกว่า”
“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ มีโอกาสเหมือนเดิมที่ 5 ต่อ 2 เสียง เพราะการประชุมกนง.ครั้งก่อนถือว่าส่งสัญญาณว่าปิดประตูในการลดดอกเบี้ยไปแล้ว เศรษฐกิจไตรมาสแรกดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าซึ่งเป็นตัวดึงจีดีพี แต่หลังจากนี้การเบิกจ่ายภาครัฐจะดีขึ้นเรื่อยๆ การลดดอกเบี้ยจึงมีความจำเป็นน้อยลง
ทั้งนี้ สิ่งที่กนง.กังวล คือด้านเสถียรภาพ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ “หนี้สูง” ดังนั้นหากยิ่งลดดอกเบี้ยจะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะอยู่ในภาวะนี้ไปสักระยะจนกว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
“ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น หากเทียบกับ 3-6เดือนที่ผ่านมา งบประมาณเริ่มเบิกจ่ายได้ แง่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่ที่กังวลคือ ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ที่จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจแผ่วได้ เพราะวันนี้เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาจริงๆที่เรายังดี คือ ภาคการคลัง การท่องเที่ยว และการผลิตที่เริ่มกลับมาดีขึ้นบ้าง แต่แรงฉุดก็มีสองด้าน คือภาคธนาคารที่วันนี้สินเชื่อปล่อยใหม่ต่ำมาก ติดลบ เพราะแบงก์ไม่กล้าปล่อย ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ และความสามารถแข่งขันของไทยที่เริ่มเห็นลดลง โรงงานปิดมากขึ้น ยอดขายต่ำลง”
“บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ยังคงคาดการณ์ผลประชุมกนง. น่าจะออกมาใกล้เคียงเดิม คือ 5 ต่อ 2 เสียง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมยังออกมาตามคาดการณ์ไว้ และยังมีแรงหนุนจากภาครัฐ ที่กำลังออกมาเพิ่มขึ้น ที่จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น และหากมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัว แต่ศักยภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยถือว่ายังเติบโตต่ำ และหลายภาคส่วนกำลังมีปัญหา เช่น ภาคการผลิต ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ขณะที่เศรษฐกิจหลายด้านน่าห่วง เช่น ยอดขายบ้าน ขายรถ ชะลอตัวลง ดังนั้นภายใต้การฟื้นตัว ก็ยังมีความน่าห่วง และฉุดรั้งการเติบโตในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังอ่อนแอ และศักยภาพการเติบโตยังต่ำหากเทียบกับหลายประเทศ และเรายังมีปัญหาหลายด้านที่สะสมมา และปัญหาเพิ่มขึ้น เช่นหนี้ รถ บ้านและยังซ้ำด้วยโรงงานปิดตัว เหล่านี้มาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบไม่กระจายตัวนั่นเอง”
การประชุมกนง.ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีแห่งความยากลำบาก ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องตัดสินใจบนทางแยกแห่งความอยู่รอดของเศรษฐกิจ และคนไทย