7 บลจ. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีที่ฟ้อง STARK
7 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีที่ฟ้อง STARK คดีอาญา 3 คดีดังใน 8 ฐานความผิด ศาลอาญามีคำสั่งนัดสืบพยาน ครั้งแรก 14 ม.ค.68
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการลงทุน ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกรณีการลงทุนในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ยืนยันความรับผิดชอบสูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
ตามที่บริษัทจัดการลงทุนจำนวน 7 บริษัท ได้มีการลงทุนใน STARK ผ่านการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement - PP) และปรากฏว่า ได้มีการนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีการเปิดเผยงบการเงินอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้กองทุนภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการลงทุนได้รับความเสียหายนั้น
บริษัทจัดการ 7บลจ.ภายใต้ AIMC ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษา และติดตามผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเต็มความสามารถ โดยล่าสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาในการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในการฟ้องคดีอาญาต่อ STARK และบริษัทในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรรมการผู้บริหาร บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ศาลอาญาได้นัดพร้อมประชุมคดี และตรวจพยานหลักฐาน โดยมีคำสั่งอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.433/2567 และ อ.441/2567 เข้ากับคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ อ.90/2567 โดยให้ถือสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ อ.90/2567 เป็นสำนวนหลัก จากนั้นได้พิจารณาคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั้ง 7 แห่ง และมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั้ง 7แห่ง เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาทั้ง 3 คดีดังกล่าว ใน 8 ฐานความผิด ได้แก่
1. ความผิดฐานเป็นกรรมการ และผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต
2. ฐานเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบการดำเนินการของนิติบุคคลโดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. ฐานเป็นกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ครอบครองทรัพย์ของนิติบุคคลเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
4. ฐานเป็นกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลกระทำการหรือไม่กระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลนั้น
5. ฐานเป็นกรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคล ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้
6. ฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือโดยความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามมาตรา 306 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 312 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/7, 98/24, 306, 307, 308, 311, 312 และ 315
7. ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
8. ฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 352 และ 353 โดยศาลอาญามีคำสั่งนัดสืบพยานครั้งแรกในวันที่ 14 มกราคม 2568
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์