กนง.ยันดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย
เปิดผลประชุม กนง. คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง “คงดอกเบี้ย” ที่ 2.50% มองอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย ย้ำเป้าเศรษฐกิจปีนี้ที่ 2.6% มีโอกาส “จีดีพีไทย” โตระดับ 3% หากรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3 ล่าสุด คณะกรรมการ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
โดยเสียงส่วนใหญ่มองว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า หากฉายภาพเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยในช่วงท้ายของไตรมาส 4 ปีนี้ มีแรงกระแทกเข้ามา จากงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าที่คิด ทำให้แรงส่งทางการคลังแผ่วลง และมีผลทอดยาวถึงไตรมาส 1 ปีนี้ และอีกแรงฉุดเศรษฐกิจที่สำคัญ จากปีก่อนคือ สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงที่ฉุดเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังประมาณ 6% มากกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ และส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่มองไว้ ที่ถือเป็นแรงกระแทกที่เข้ามาในช่วงปลายปี
ส่วนการประชุม กนง. ครั้งก่อน มองว่า ไตรมาสแรกจะมีการฟื้นตัวจากไตรมาส 4 ปีก่อนมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในระดับที่สูงกว่าที่คาด ปัจจัยสำคัญคือ แม้รายจ่ายภาครัฐถึงแม้ยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ แต่การส่งออกของภาคบริการหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นขับเคลื่อนสำคัญ ที่สูงกว่าที่มองไว้ และมีการบริโภคที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ดังนั้น ภาพเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว 1.5% ที่แม้จะไม่ได้สูง และเป็นระดับที่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ แต่หากดูแนวโน้มแรงส่ง 1.5% ไตรมาสต่อไตรมาส ที่ถือว่าสูงกว่าระดับศักยภาพ ดังนั้นตัวเลขที่ออกมา 1.5% ที่ออกมาต่ำ เพราะเรื่องของฐาน แต่แนวโน้มการเร่งตัวขึ้น 1.5% ไตรมาสต่อไตรมาสถือว่าสูง
ยันเศรษฐกิจไทยปีนี้โตตามเป้า 2.6%
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เหลือปีนี้ กนง.มีมุมมองที่คล้ายเดิมจากการประชุมรอบก่อน ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอยู่ที่ 2.6% ปีนี้ หากดูแรงส่งถือว่าอยู่ระดับที่ดี หากดูการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ประเมินว่าไตรมาสแรก ที่ออกมาอยู่ที่ 1.5% และคาดไตรมาส 2 จะเติบโตราว 2% ไตรมาส 2 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% ปลายใกล้ระดับ 3% และไตรมาส 4 ที่ 3% ถึงใกล้ระดับ 4%
สำหรับองค์ประกอบเครื่องยนต์เศรษฐกิจปีนี้ เชื่อว่าสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะผลการส่งออกที่จะเริ่มบวกมากขึ้นปีนี้ และการบริโภคเอกชนจะมีบทบาทน้อยลงบ้างจากการขยายตัวสูงช่วงที่ผ่านมา และหากดูภาพเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3% ซึ่งใกล้เคียงที่ ธปท.มองไว้
ดังนั้น โดยรวมภาพเศรษฐกิจไทยที่ กนง. ประเมินไว้ยังใกล้เคียงเดิมมาจากเครื่องยนต์หลักคือ ท่องเที่ยวที่กลับมาเร่งตัวขึ้น สองการบริโภคเอกชนที่คาดว่าช่วงที่เหลือปีนี้ต่อไปถึงปีหน้าจะชะลอลงบ้าง คล้ายเข้าสู่ภาวะปกติ สอดรับกับท่องเที่ยว และภาคบริการที่ค่อยๆ กลับเข้าสู่ระดับที่ปกติ
ตัวที่สามที่สัญญาณชัดเจนขึ้นใน 4 เดือนที่ผ่านมาคือ การลงทุนรัฐที่รับผลกระทบค่อนข้างมากจากงบล่าช้า ปัจจุบันกลับมาเบิกจ่ายได้ 39-40% แล้ว ถือว่าใกล้เคียง และสูงกว่าปี 2563 ที่มีการเบิกจ่ายงบล่าช้าไปแล้ว และหากมองไปข้างหน้าสิ้นปีงบประมาณ 2567 คาดจะเบิกจ่ายได้ราว 66% ซึ่งน่าจะกลับไปเบิกจ่ายใกล้เคียง หรือสูงกว่าปี 2563 ที่ผ่านมา
เหล่านี้เป็นสัญญาณบวกที่ทำให้ กนง. มั่นใจมากขึ้นปัจจัยเสี่ยงอาจมีไม่มากเท่าที่มองไว้จากต้นปี ส่วนสัญญาณบวกอีกด้านที่ต้องติดตามคือ ภาคส่งออก และการผลิต ดังนั้น โดยรวมสอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยที่คาดไว้ 2.6% ปีนี้และปีหน้าที่ 3%
ศก.ไทยโอกาสโต 3% จากดิจิทัลวอลเล็ต
อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 2.6% บางส่วน ธปท.ได้มีการรวมมาตรการภาครัฐที่มีความชัดเจนเข้ามารวมในการคาดการณ์จีดีพีแล้ว เช่น งบลงทุน และงบเบิกจ่ายการบริโภคภาครัฐ ส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตหากเข้ามาได้ในไตรมาส 4 จะเป็นปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ไม่ว่ามาตรการภาครัฐจะมีมากกว่าที่เรามองไว้ ภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็อาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ดังนั้น จุดยืนนโยบายการเงินปัจจุบันก็สามารถรองรับความเสี่ยงด้านสูง และต่ำที่จะมาจากภาคส่งออกไว้ด้วย
ส่วนการขยายตัว 3% ของจีดีพีปีนี้ที่กระทรวงการคลังมองไว้มีโอกาสเป็นไปได้หากมีการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐหรือมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมา
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อ เดือนพ.ค.ออกมา 1.5% ซึ่งใกล้เคียงกับคาด และหากมองไปปีนี้ มองว่ามีแนวโน้มเข้าสู่กรอบในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งหากมองไปในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า เงินเฟ้อที่จะออกมาคงต่ำกว่า 1.5% หรือต่ำกว่า 1% ไปอีก1-2 เดือน และเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาบวกมากกว่า 1%หลัง ต.ค.เป็นไป ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของฐานที่ไม่ได้มาจากดีมานด์ที่แผ่วลง
ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ กนง.พิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง เป็นปกติที่มีการหารือ และพูดคุยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งยังเป็นกระบวนการปกติ ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ที่มีการพูดถึงโอกาสการปรับเป้าเงินเฟ้อนั้น กนง.มองว่า การมีเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งก็เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะแบบปานกลางได้ ซึ่งจากช็อกต่างๆ ที่เข้ามาจะเห็นได้ว่า เงินเฟ้อยังสามารถยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ โดยเฉพาะหากมองว่าแนวโน้มข้างหน้าเงินเฟ้อสามารถโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ทางธนาคารจะได้ไม่ต้องต่อสู้เงินเฟ้อโดยการขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5-6% เหมือนต่างประเทศ
ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้ยาแรง ในแง่ของดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองเงินเฟ้อ ขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นอย่างไร ซึ่งในช่วงที่เหลือปีนี้ กนง.มองว่า 1.5% ยังอยู่ในเป้า แต่มีส่วนของฐาน และราคาพลังงานที่เป็นช็อกระยะสั้น และ1-2 เดือนข้างหน้าอาจต่ำกว่า 1% และจะกลับเข้าสู่กรอบได้ราว ต.ค.หากมองทะลุไปในช่วงที่เหลือปีนี้ และปีหน้าคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในเป้า ดังนั้น ภาพใหญ่ไม่ได้เป็นประเด็นที่ กนง.กังวลมาก แต่จะกังวลหากเงินเฟ้อสูง และเพิ่มภาระการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน”
เปลี่ยนเป้าเงินเฟ้อบ่อยสร้างความผันผวน
อย่างไรก็ตาม มองเป้าหมายเงินเฟ้อระดับ 1-3% เป็นระดับที่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ และใกล้เคียงกับต่างประเทศ ดังนั้น แม้จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อทุกปี เพราะอิงกับปัจจัยเชิงสร้าง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ธปท. อยากปรับเปลี่ยนทุกปี เพราะหากมีการปรับเปลี่ยนมากนัก อาจกระทบต่อคาดการณ์เงินเฟ้อ ที่อาจจะสร้างความผันผวนความไม่แน่นอนให้กับระบบได้
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินที่ทำหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ย และภาวะการเงินให้กับเศรษฐกิจโดยรวมที่สอดคล้องกับ แนวโน้มเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ร้อนแรงเกินไปจนสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพ และไม่ให้ต่ำเกินไปจนเกิดปัญหาเรื่องการว่างงาน และพยายามทำให้พื้นฐานของเศรษฐกิจเสถียรภาพด้านมหภาค เพื่อให้นโยบายมาเสริมในจุดที่จำเป็น ส่วนนโยบายการคลังสามารถใช้เจาะจงจุดที่มีปัญหามากๆ ของเศรษฐกิจไทยได้
“จุดยืนของนโยบายการเงิน ที่มองว่าเป็นกลาง ไม่ได้ค้านกับจุดนโยบายการคลังที่จะพยายามอาจจะกระตุ้นบางมิติ เราไม่ได้ค้านกัน เพราะมันเป็นกลาง มันจะค้างกันหากเป็นเหมือนสหรัฐ ที่ระดับดอกเบี้ยที่เป็นกลางอยู่ที่ 5-6% แต่อันนี้ไม่ใช่กรณีของประเทศไทย เพราะมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวไปสู่ระดับศักยภาพในข้างหน้า ซึ่งสอดรับกัน เพราะอีกด้านเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคง และเป็นกลางในแง่ของภาวะการเงิน ส่วนภาครัฐก็จะใช้เครื่องมือที่จะมาเสริม ในจุดที่มีปัญหามากกว่า เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มเปราะบาง”
ยันดอกเบี้ย ปัจจุบันไม่ได้สูงเกินไป
ส่วนที่กระทรวงการคลัง เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย กนง.มองว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ จุดยืนนโยบายที่กำหนด สูงเกินไปหรือไม่ หากมองแล้วว่า หากไม่ใช่จุดยืนที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ จุดยืนที่ไม่ใช่อุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือเป็นตัวที่ส่งผลให้ภาวะการเงินหรือว่าสินเชื่อลดลงจนทำให้ภาพการขยายตัวโดยรวมเศรษฐกิจสะดุดลง
ดังนั้น ถามว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือไม่ กนง. มองว่าไม่ได้สูงเกินไป ตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ชัดว่าดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือไม่ เช่น หากเทียบกับต่างประเทศ หลายประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 4-5% ดังนั้น ดอกเบี้ยไทยหากเทียบในโลกถือว่าไม่ได้สูง
แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเทียบดอกเบี้ยไทยกับ สถานการณ์ของไทยและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กนง.ทบทวน และสอบทานทุกครั้งในการประชุมว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของประเทศไทย และแนวโน้มเงินเฟ้อหรือไม่
ทั้งนี้ หากดูภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.6% เงินเฟ้อจะค่อยกลับเข้าเป้าหมายในไตรมาส 4 และปีหน้า รวมถึง ภาวะการเงินที่โดยรวมแม้ลดลงจากก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ลดลงเหมือนตกเหว และคุณภาพสินเชื่อแม้ด้อยลง แต่ก็ไม่ได้ก้าวกระโดด ดังนั้นการช่างน้ำหนักหลายด้าน มองว่าดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นจุดเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับภาพที่มองไว้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์