หลักการเข้าระบบ VAT สู่การแข่งขันเชิงธุรกิจในระบบ e-Tax Invoice
เปิดรายละเอียด ผู้ประกอบการที่ต้องเข้าระบบ VAT ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ภายใน 30 วัน จากนั้นจึงสามารถขอลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้ระบบ e-Tax Invoice ได้
ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องเร่งลงมือปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เว้นแม้แต่การเก็บภาษีที่ได้ก้าวเข้าสู่รูปแบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบบริการจัดทำและนำข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) มาใช้สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
โดยผู้ประกอบการที่ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คือผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ภายใน 30 วันนับตั้งแต่มีรายได้เกิน จากนั้นจึงสามารถขอลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้ระบบ e-Tax Invoice ได้
ทั้งนี้ การขอจดทะเบียน VAT ทั้งผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สามารถเตรียมเอกสารและขั้นตอนการขดจด VAT ได้ดังนี้
การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จะต้องมีหน้าที่ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสามารถยื่นขอด้วยตนเองได้ที่ กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หากผู้ประกอบการอยู่ในการกำกับดูแลของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ และที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ที่ www.rd.go.th โดยไม่ต้องเสียค่าคธรรมเนียมใดๆ
โดยมีขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
1.ในกรณีที่ผู้ประกอบการยื่นด้วยตนเอง ให้ยื่นตามสถานที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ได้เลย
2.ส่งคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 พร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน
3.หลังจากยื่นคำขอแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และพิจารณา
4.สุดท้ายจะเป็นการลงนาม ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วจะใช้เวลาประมาณ 27 วันทำการ (ข้อมูลจาก กรมสรรพากร)
หลังจากนั้นกรมสรรพากรจะออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.20) ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีผลให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป
และเมื่อเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว หากทำใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ซึ่งใบแทนดังกล่าวถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เอกสารที่ใช้สำหรับยื่นขอจด VAT
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถยื่นขอจด VAT ออนไลน์ได้ หรือยื่นขอจด VAT ด้วยตนเองได้ โดยหากสถานประกอบการในกรุงเทพฯ สามารถยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
ทว่ามีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว ยื่นขอจด VAT พร้อมกับเตรียมเอกสารดังนี้
1.คำขอ ภ.พ.01 และ ภ.พ.01.1 จำนวน 3 ชุด (ถ้ามี)
2.สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระบุชื่อ ที่อยู่ หรือหนังสือยินยอมให้ใช้อสังหาริมทรัพย์
3.หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
4.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว)
5.หนังสือการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน มูลนิธิ หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่มิใช่นิติบุคคล
6.หนังสือตั้งตัวแทนรับรองโดยสถานทูต หรือสถานกงสุล
7.เอกสารการดำเนินกิจการร่วมค้า (ถ้ามี)
8.แผนที่ตั้งสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่าย
9.หนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ และบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ
10.หนังสือรับรองของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กรณีสถานประกอบการตั้งอยู่ในอาคารชุด (ข้อมูลจาก กรมสรรพากร)
จด VAT แล้ว สามารถขอเข้าสู่ระบบ e-Tax Invoice เพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น
หลังจากจดทะเบียน VAT แล้ว หน้าที่ของผู้ประกอบการในการจัดทำบัญชีและภาษี แน่นอนว่าจะมีเรื่องของ VAT เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งผู้ประกอบการทั้งที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะต้องทำคือ การออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการ
รวมถึงจะต้องทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย สินค้าคงเหลือ และวัตถุดิบ พร้อมส่งยื่นรายงานให้กับสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าเดือนนั้นๆ จะมีหรือไม่มีการซื้อขายก็ตาม ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้ระบบ e-Tax Invoice ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
โดยระบบดังกล่าว เป็นการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ซึ่งมีการเชื่อมโยงระบบการชำระภาษีเข้ากับระบบการชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อช่วยลดขั้นตอนการชำระภาษีและการนำส่งเอกสารทางภาษีอากรแก่สรรพากร
ทั้งนี้ สามารถเลือกได้ 2 แบบ คือแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งเหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ มีการบริหารจัดการด้านเอกสารที่เป็นระบบขนาดใหญ่ และแบบ e-Tax Invoice by Email จะเหมาะกับธุรกิจที่มีขนาดเล็ก การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และออกใบกํากับภาษีจำนวนไม่มาก
สรุป
ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องไม่ลืมไปยื่นขอจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งสามารถขอได้ทั้งแบบออนไลน์ และเข้าไปติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ พร้อมกับสามารถจัดการบัญชีและภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นได้ เพียงลงทะเบียนขอใช้บริการ e-Tax Invoice และเลือกระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt หรือ e-Tax Invoice by Email ได้ตามความเหมาะสม และรูปแบบธุรกิจของตนเอง
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting