‘ศุภวุฒิ’ ชี้ คนไทยกำลังเผชิญ สินทรัพย์เสื่อมถอย "วิกฤติของคนจน"

‘ศุภวุฒิ’ ชี้ คนไทยกำลังเผชิญ สินทรัพย์เสื่อมถอย "วิกฤติของคนจน"

‘ศุภวุฒิ’ หวั่นวิกฤติคนจน ทุบราคาสินทรัพย์เสื่อมถอย ฉุดเศรษฐกิจร่วง หลังราคารถยนต์ร่วง 30% พบคนไทย 116 ล้านบัญชี มีเงินติดบัญชีเพียง 3.9 พันบาทต่อบัญชี

การฟื้นตัวของ “เศรษฐกิจไทย” วันนี้ยังมีคนตั้งคำถามว่า ภายใต้ตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพี ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ฟื้นตัวกลับมาได้ที่ 1.5% จะสามารถเป็นโมเมนตัม “แรงส่ง” หนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อไปในไตรมาส 2 จนถึงปลายปีได้จริงหรือไม่ เพราะแม้ภาพเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ แต่หากดูไส้ใน ที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจ เช่น กำลังซื้อ การเติบโตของสินเชื่อ แล้วก็จะพบว่าอยู่ในอาการ “เริ่มถดถอย” 

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผ่านรายการ DEEP TALK เกี่ยวกับภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

ศุภวุฒิ” มองว่า เวลานี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤติคนจน’ ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ ปัญหาต่างๆ กำลังค่อยๆ ซึมลึกรอวันระเบิด

ซึ่งหากดูภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มองว่าต่างกับวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ราวฟ้ากับดิน วิกฤติในอดีต เป็นวิกฤติของคนรวย แต่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คนที่ลำบากมากที่สุดคือ “ชาวบ้าน” ไม่ใช่คนรวย เพราะคนที่เป็นหนี้ในประเทศไม่ได้รวย ดังนั้น ครั้งนี้เรียก “เป็นวิกฤติ” ได้เพราะมีที่มาจากการป่วยไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ และยังป่วยต่อเนื่อง

ดังนั้นหากให้คำนิยามเศรษฐกิจไทยเวลานี้ คือ การฟื้นช้าที่สุดหากเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังมีข้อน่าห่วง เพราะเวลาที่จะใช้ในการฟื้นตัวอยู่ที่กำลังซื้อจากต่างประเทศ ทั้งจากนักท่องเที่ยว จากภาคส่งออก

ขณะที่สินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นกลับพบว่าภายในประเทศเหมือนกับว่าไม่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เพราะหนี้ของประชาชนอยู่ระดับสูงแล้ว ดังนั้นหลายคนมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยวันนี้ ไม่ได้รุนแรง แต่หากดูตัวเลขสำคัญก็จะพบว่า “น่าห่วง” ทั้งสิ้น

116 ล้านบัญชีมียอดเพียง 3.9 พันบาท

โดยเฉพาะทั้งประเทศมีบัญชีเงินอยู่ประมาณ 130 ล้านบัญชี ประชากรเฉลี่ย 65 ล้านคน เฉลี่ยมีคนละ 2 บัญชี ซึ่งพบว่า116 ล้านบัญชี ของคนส่วนใหญ่ มีเงินฝากเพียง 50,000 บาทหรือน้อยกว่า และพบว่าโดยรวมมีเงินเพียง 3,994 บาทต่อบัญชี ซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้

หากดูสัดส่วนในจีดีพีเทียบกับสัดส่วนเงินฝากถือว่าไม่ได้เยอะมาก โดยมีมูลค่าเงินฝากเพียง 4 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นภาพใหญ่ แม้ไม่ได้รู้สึกมากนัก แต่ภายใต้ภาพเหล่านี้ มีคนที่เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ของหนี้เสียเครดิตการ์ด หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น และพบว่าแนวโน้มยังไม่ลดลง และยังมีสัญญาณความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นอีก 

“แบบนี้เรียกว่าเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร แม้จีดีพีโต 1.5% การบริโภคเติบโต 8% เหล่านี้ผิดวิสัยหรือไม่ ภายใต้แบงก์ที่ไม่ปล่อยกู้ ดังนั้นจากปัญหาเหล่านี้สุดท้ายแล้ว จะส่งผลให้ “โมเมนตัม” ไม่สามารถฟื้นตัวต่อไปได้”

ดังนั้นปัญหาขณะนี้คือ ด้าน “งบดุล” หรือฝั่งบาลานซ์ชีตที่หายไปค่อนข้างมาก หากย้อนไปวิกฤติปี 40 คนรวยพังเพราะงบดุลบาลานซ์ชีตหดหาย เช่นเดียวกันกับปัจจุบัน ที่ชาวบ้านก็มีปัญหาบาลานซ์ชิปเสื่อมถอยลงมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฝั่งสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงอย่างมาก โดยเฉพาะรถยนต์ ที่ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของคนไทย ที่ปัจจุบันลดลงอย่างมาก ดังนั้นปัญหางบดุลเหล่านี้ต้องระวัง และต้องจับตาใกล้ชิด ว่างบดุลเหล่านี้เสื่อมถอย หรือลดลงมากกว่าที่ได้ประเมินไว้หรือไม่ เพราะจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

“ดูการบริโภคในปัจจุบันโต 8% ขณะที่จีดีพีไตรมาสแรกโตแค่ 1.5% มันผิดวิสัย และยิ่งในภาวะที่แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ คนส่วนใหญ่มีเงินฝากติดบัญชีเพียงกว่า 3 พันบาทต่อคน เจนวายยังไม่มีบ้านเป็นของคนเอง รถยนต์ที่ขับกันในประเทศมี 20 ล้านคน แต่รถที่ใช้จริง ราคาลงไป 30% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จึงเกิดการคืนรถจำนวนมาก แบบนี้ทำให้คนรู้สึกว่าจนลงไปเยอะ 20-30% จากงบดุลของคนที่แย่ลง แล้วใครจะมีกำลังใจในการใช้จ่าย เหล่านี้คือ ผลข้างเคียงของงบดุลของประชาชนที่ลดลง สะท้อนผ่านราคารถยนต์ที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก ดังนั้นเหล่านี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า หรือพลิกฟื้นการบริโภคอย่างไร”

สำหรับหนทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ ดังนั้นทางที่จะแก้หนี้ ผ่านการประนอมหนี้แล้วจะช่วยแก้หนี้ได้ เชื่อว่าไม่ใช่ทางออก แต่ทางออกคือ การเพิ่มรายได้ สังเกตจากวิกฤติปี 40 ที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อออกพันธบัตร 1.3 ล้านล้านบาท เพื่ออุ้มระบบธนาคาร ส่งผลให้รัฐบาลหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 56% ของจีดีพี ดังนั้นขณะนี้เพื่อทำให้หนี้ลดลงเหลือ 40% คือ การทำให้จีดีพีเติบโตขึ้น 

ดังนั้นขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่มองว่าหนี้ประชาชนไม่มีทางลดลง โดยเฉพาะในภาวะที่ยิ่งที่มีดอกเบี้ยเข้ามาทบต้น ดังนั้นวิธีที่จะทำให้หนี้ของประชาชนลดลง คือ ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แม้การประนอมหนี้จะช่วยประคองปัญหา แต่ไม่ใช่ทางเลือกหลักที่แก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนได้

ลดดอกเบี้ยช่วยไม่ให้เงินฝืด

ทั้งนี้ หากถามว่า ในภาวะปัจจุบันมองว่า ดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งหากถามว่าดอกเบี้ยที่ 2.5% เหมาะสมหรือไม่ ดอกเบี้ยคือ กลไกในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ ที่ 1-3% แต่หากย้อนดูในอดีตก่อนโควิดพบว่า แบงก์ชาติเขียนจดหมายถึงกระทรวงการคลัง 11 ครั้งที่ผ่านมา มี 9 ครั้ง ที่ต้องเขียนอธิบายเพราะเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ดังนั้นขณะนี้มีความเสี่ยงจาก เงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป ต่ำกว่าเงินเฟ้อสหรัฐ ทำให้มีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” ได้ง่าย ฉะนั้นการ “ลดดอกเบี้ย” ทำให้เงินไม่ฝืดเกินไป และควรเปิดให้สามารถถกเถียงกันว่าดอกเบี้ยที่ 2.5% เป็นระดับที่สูงเกินไปหรือไม่

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอยากให้ปรับกรอบเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวเพิ่มขึ้น และเป็นเหตุให้แบงก์ชาติต้องเพิ่มปริมาณเงินในระบบมากขึ้น จนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ต้องปรับกรอบเงินเฟ้อ แต่ให้แบงก์ชาติทำให้กรอบเงินเฟ้อให้เข้าเป้าเฉลี่ยที่ระดับ 2% ให้ได้ก่อน อย่าห่างเป้ามากนัก และมองว่าการตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เป็นกรอบที่กว้างไป และควรมีเพียงเป้าเดียว เหมือนสหรัฐ ที่กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเพียงเป้าหมายเดียว ซึ่งการทำให้เงินเฟ้อเข้าเป้า หรือสูงกว่าปัจจุบัน

เพราะเวลาที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่วนที่ดีคือ ทำให้มูลค่าหนี้ที่แท้จริงลดลง มูลหนี้ในอนาคตลดลง และหากเงินเฟ้อเข้าเป้าที่ 2% และจีดีพีจริงเติบโต 3% ยอดขายของบริษัทส่วนใหญ่ เติบโตปีละ 5% ส่วนนี้อาจไปเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานอีก 4-5% เหล่านี้ช่วยให้พนักงานมีเงินเดือนเพิ่ม เศรษฐกิจจะไหลลื่นเพิ่มขึ้น จากประสบการณ์เศรษฐกิจควรมีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องการให้คนส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

“ศุภวุฒิ” มองว่า การหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้มองว่า ในระยะสั้นคงต้องหวังว่าเศรษฐกิจโลกฟื้น เพราะคงไม่สามารถพึ่งจากภายในประเทศได้ สิ่งที่ทำได้คือ การพยายามลดหนี้ โดยการทำให้รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น หรือในบริบทของภาพใหญ่ และภาพระยะยาวของเศรษฐกิจไทย ต้องกลับมาทบทวนว่า อุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกหลักๆ ยังเติบโตได้หรือไม่ หลายซัพพลายเชนกำลังถูกดิสรัปชัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ โดยมุ่งไปผลิตรถอีวี รถที่ใช้แบตเตอรี่มากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่ได้ใช้คนมาก ดังนั้นสิ่งที่ไทยผลิตในอดีตกลายเป็นสิ่งที่โลกต้องการลดลง

เช่นเดียวกันกับชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ต่างๆ ที่มีการพัฒนาไปสู่สินค้าเทคโนโลยีสูงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มความสามารถแข่งขันของไทยไม่ได้เป็นโจทย์ง่ายๆ ขณะที่เทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย  ที่มีความสามารถการแข่งขันมากกว่าไทยไปมาก

สิ่งที่ประเทศไทยแข่งขันได้คือ ภาคเกษตร ที่ยังสามารถผลิต และส่งออกได้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ผลิตภาพในการผลิตยังต่ำ ใช้ทรัพยากรมาก หากเทียบกับจีดีพีที่ได้กลับมา ดังนั้นหากอัปเกรดภาคเกษตรให้ใช้ทรัพยากรแรงงานลดลง แต่ได้ผลิตภาพเพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีเข้ามา เพื่อให้สัดส่วนการผลิต การส่งออกให้มากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์มากขึ้น

สำหรับภาคเกษตร ที่ผ่านมา ไม่ได้ผลักดันให้เกิดการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ทั้งที่ใช้เงินทุนมากเป็นแสนล้านไปกับโครงการดูแลราคา ดังนั้นต้องตั้งโจทย์ให้ภาคเกษตรใหม่ว่าในระยะยาวจะต้องปรับตัวอย่างไร

"ในระยะยาวโลกจะประสบปัญหาโลกร้อน คนที่เดือดร้อนที่สุดคือ ประเทศที่นำเข้าอาหารสุทธิ ดังนั้นเรายังเป็นผู้ส่งออกอาหาร เรายังได้เปรียบภายใต้โลกร้อน เรายังได้เปรียบหากเราสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพิ่มขึ้น”

“ศุภวุฒิ” มองว่า การแก้ไขปัญหาหลักๆ ของเศรษฐกิจไทย มองว่าต้องเริ่มแก้ปัญหาที่ “คน” ในระยะข้างหน้าประชากรของไทย จะเริ่มลดลง และการเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้นการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อผลิตคนที่มีคุณภาพ สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของโลก หากไม่ทำสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีกว่า 20 ล้านคน ที่จะยิ่งเป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐในระยะข้างหน้า ที่จะสร้างปัญหาให้ต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

“ย้ำนะครับ รอบที่แล้วมันเป็นวิกฤติคนรวย เป็นวิกฤติของธนาคารของสถาบันการเงิน เป็นวิกฤติของบริษัทขนาดใหญ่ถึงปีกู้เงินตราต่างประเทศมาที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ จนกลายเป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ ฉะนั้นในที่สุดแล้วปัญหาตอนนั้นที่มันรุนแรง เพราะว่าหนี้สินของคนที่กู้มาที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ ข้ามคืนมันกลายเป็น 50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หนี้สินเนี่ยมันล้นพ้นตัว มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ แต่วันนี้ เราสงสัยสินทรัพย์คนแย่ลง รถยนต์มันลงไป 30% บ้านตอนหลังก็ขายไม่ได้ราคาทุกอย่างกำลังเสื่อมถอย ดังนั้นแล้วสุดท้ายหวังว่า ระยะสั้น เศรษฐกิจโลกจะฟื้นเพราะการพึ่งการฟื้นตัวจากภายในคงทำได้ยาก ในต่างประเทศวิธีที่จะทำให้หนี้ของคนลดลงคือ การเพิ่มรายได้ให้ประชาชน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์