‘บรรยง‘ ห่วงปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติ

‘บรรยง‘ ห่วงปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติ

‘บรรยง ’ ชี้เศรษฐกิจไทยน่าห่วง หวั่นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติมเกิดวิกฤติสังคม ขณะที่รายได้ประชากรไทยต่ำ ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี ถึงเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว

ระยะหลังเริ่มมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับ “ศักยภาพ” เศรษฐกิจไทยมากขึ้น หลายคนมองว่าตกต่ำลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 3% หรือต่ำกว่านั้น เพราะเศรษฐกิจไทยขาดการปรับโครงสร้างมาเป็นเวลานาน ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดศักยภาพในการพัฒนา และเพิ่มผลิตภาพ หรือขาดศักยภาพในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้น 

ดังนั้นหากปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ปฏิรูป และปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เศรษฐกิจไทยก็จะเผชิญกับคำว่า “ถดถอย” อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด “กรุงเทพธุรกิจ”ผ่านรายการ Deep Talk ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่จะฉายภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่ามีศักยภาพมากน้อยอย่างไร เพียงพอในการสร้างการเติบโตต่อไปในระยะข้างหน้าได้หรือไม่

 

“บรรยง” ฉายภาพเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ แม้มองว่าจะไม่เกิดวิกฤติเหมือนในอดีต แต่การเติบโตจะช้า การไม่มีประสิทธิภาพ เหล่านี้ล้วนสร้างต้นทุนขนาดใหญ่สู่ระบบเศรษฐกิจไทย 

ทั้งนี้ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย มองว่าคือ การขาดผลิตภาพ และการขาดความสามารถการแข่งขัน (Competitiveness) ที่เหล่านี้สร้างผลกระทบ และทำให้เกิดการขาดความมั่นใจทั้งเอกชนไทย เอกชนต่างประเทศที่จะมาลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ 

 

ขณะที่หากดูประเทศไทยในปัจจุบันที่ขยายตัวมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการจากการท่องเที่ยว แต่หากลงลึกไปดูถึงภาคอุตสาหกรรม ต่างพบว่าการแข่งขันกับต่างประเทศของไทยยังอยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะการผลิต และการส่งออก เพราะผลิตภาพของไทยค่อนข้างต่ำ ดังนั้นสิ่งสำคัญ มองว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง สิ่งที่ต้องทำคือ ภาคเอกชนต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย เหล่านี้ทำให้เกิดวิกฤติสังคม ซึ่งมองว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจไม่ได้มาจากเศรษฐกิจ โดยไม่เหมือนต้มยำกุ้งแต่จะมาจากสังคม ซึ่งจะมาจากความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำในรายได้ เหลื่อมล้ำในทรัพย์สิน เหลื่อมล้ำในโอกาส 

“เหล่านี้สำคัญมาก เพราะเวลาที่เศรษฐกิจโตช้าข้อเสียคือ มักจะมีคนที่มีโอกาสที่จะเติบโตเร็ว แต่คนที่โอกาสน้อยจะยิ่งโตช้า หรือติดลบด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเหล่านี้จะเกิดแรงกดดันทางด้านสังคม และเป็นปัญหาที่กังวลมากที่สุด”

ท่ามกลางที่ทั่วโลกกำลังเผชิญสงครามเย็นรอบใหม่ที่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งอาจทำให้เกิดความถดถอยของโลกาภิวัตน์ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้นเศรษฐกิจไทยที่อยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่แล้วในหลายด้าน ก็จะยิ่งเดือดร้อน

“ในประวัติศาสตร์ประเทศไหนที่เกิดวิกฤติสังคมจนเอาไม่อยู่ เกิดสงครามกลางเมือง เกิดภาวะการปฏิวัติล้มล้างระบบเก่า อันนี้มันพิสูจน์แล้วครับว่า การเติบโตจะถดถอยยาวนาน บางแห่งถึงจะเป็นช่วงอายุคน เช่น เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าอาหรับสปริง ใน 5 ประเทศ ผ่านมา 13 ปี ไม่มีประเทศไหนดีสักประเทศ จากที่ควรโตสองเท่า แต่เขาโตได้แค่ 30% ฉะนั้นมองว่าต้องปฏิรูป ต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ การลดขนาดรัฐ ทั้งลดขนาดบทบาท และอำนาจ และทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์”

รวมทั้งหากถามว่าประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะกลับไปเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชียได้หรือไม่ ปัจจุบันประเทศไทยถูกแซงหน้าไปหมดแล้ว หากดูรายได้ประชากรของไทย พบว่าอยู่เพียง 7,800 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ขณะที่เป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วคือ 12,500 ดอลลาร์ ซึ่งมองว่าต้องใช้เวลากว่า 20 ปีถึงกว่าจะเห็นภาพนั้น 

ฉะนั้นประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างหลายด้าน เพื่อปลดล็อกสิ่งที่เรียกว่าศักยภาพ ปัจจุบันศักยภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3% ซึ่งตกต่ำลงมาก หากเทียบกับอดีต หรือเติบโตได้เพียงแค่ 2.5%เท่านั้น ดังนั้นการที่จะหวัง ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเกินศักยภาพคงยาก

และหากดูจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นหัวใจสำคัญ โดยหากดูจาก 7 ดัชนี ทั้ง 1.ดัชนีความมั่งคั่ง จากรายได้คนต่อคนต่อปี 2.ดัชนีสะท้อนความทั่วถึงของความเจริญ 3.ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย 4.ดัชนีความเป็นตลาดเสรี 5.ดัชนีความโปร่งใสคอร์รัปชัน 6.ดัชนีคุณภาพมนุษย์ 7.ดัชนีกระบวนการยุติธรรมของประเทศต่างๆ 

ทั้งนี้ พบว่าดัชนีทั้ง 7 รายการ มี 20 ประเทศแรกๆ ในโลก อยู่ใน 20 อันดับที่มีทั้ง 7 ดัชนีซ้ำกันเกือบทั้งหมด ดังนั้นมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้มั่งคั่ง และทั่วถึง โดยเฉพาะความเป็นประชาธิปไตยความเป็นตลาดเสรี ความเป็นประเทศที่โปร่งใส ไม่คดไม่โกง ประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาสูง และสุดท้ายประเทศที่มีกระบวนการยุติธรรม 

รวมทั้งหากทำได้ทั้ง 5 มาตรฐานเหล่านี้ก็จะบรรลุความมั่งคั่ง ฉะนั้นมองว่าประเทศไทยต้องเปิดการพัฒนา 5 ด้านสำคัญ พัฒนาประชาธิปไตย การพัฒนาเรื่องความเป็นตลาดเสรี ดัชนีความโปร่งใส ฯลฯ

“ภายใต้สภาวะปัจจุบันน่ากังวล เราปฏิเสธไม่ได้ ว่าเราเจอทั้งเศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัว จากการขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากการถดถอยของโลกาภิวัตน์ โลกที่เคยขยายตัวสูงถึงเกือบปีละ 5% ในช่วงโลกาภิวัตน์ แต่ปัจจุบันเนี่ยขยายตัวแค่ปีละ 3% มันก็เติบโตน้อยลง”

การเติบโตจะช้า และการไม่มีประสิทธิภาพ เหล่านี้ถือเป็นต้นทุนใหญ่ ทำให้กระบวนการรวบรวม การจัดสรรทรัพยากรในระบบตลาด โดยเฉพาะตลาดการเงินมีต้นทุนที่สูงมาก หากดูอัตราการส่วนต่างของไทย เงินกู้เงินฝากของประเทศไทยปัจจุบัน เช่น หากฝากเงินได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2% แต่หากกู้เงิน หากเครดิตดีก็อาจต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 4% หรือเสียงสูงก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 6%

แม้จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราเงินกู้ต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ แต่หากดูในอดีต เช่น หากดูกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2566 ที่ผ่านมาพบกำไรโดยรวมอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.8 แสนล้านบาทปีก่อนหน้า 

ทั้งนี้หากดูอัตราผลตอบแทนต่อทุนของแบงก์ เฉลี่ยพบว่าอยู่เพียง 7% เท่านั้น หรือบางแบงก์อาจอยู่ที่ 8% ซึ่งในทางธุรกิจถือว่าแย่มาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกือบทุกธนาคาร มีราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊คแวลู ทั้งที่คิดดอกเบี้ยเงินกู้แพง แต่ก็ไม่มีกำไร หรือกำไรต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

สาเหตุเหล่านี้มาจาก 3 ปัจจัย ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบธนาคาร ซึ่งสิ่งที่ต้องแก้คือ การเพิ่มการแข่งขัน ไม่ใช่แข่งเฉพาะในระบบ ต้องให้ตลาดทุน นอนแบงก์เข้ามาแข่งได้มากขึ้น ถัดมากลไกการกำกับดูแล ที่มุ่งเน้นเสถียรภาพมากเกินไป ธนาคารพาณิชย์ของไทยถูกเข้มงวดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เงินกองทุนสูงกว่ามาตรฐานสากลหลาย 10% ซึ่งสำรองที่อยู่ระดับสูง 

เหล่านี้คือ ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ที่ถูกผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผู้ใช้บริการ และสุดท้ายระบบกฎหมายไทย สืบเนื่องมาจากวิกฤติตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน ที่ให้ประโยชน์แก่ลูกหนี้ที่มีปัญหา เหล่านี้ยิ่งทำให้เป็นต้นทุนต่อธนาคารในการจัดการหนี้ที่มีปัญหาสูงมาก

เช่น กู้เงินซื้อบ้าน แต่ไม่มีความสามารถในการจ่ายธนาคารได้ ธนาคารผู้รับจำนองต้องใช้เวลาถึง 5 ปีถึงจะสามารถจะได้ทรัพย์จำนองมาขายทอดตลาด ถ้าเป็นเอสเอ็มอี และเป็นหนี้เสีย จะต้องใช้เวลา 12 ปี ในการเข้าไปจัดการได้ เหล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้ธนาคารหลายแห่ง ไม่กล้าที่จะให้ สินเชื่อกับผู้บริโภค และเอสเอ็มอีที่เป็นปัญหาวังวนต่อเนื่อง

เปิดเผยข้อมูล-พัฒนาดิจิทัล

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร กล่าวต่อว่า ปัญหาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินว่า หากดูการปล่อยสินเชื่อปัจจุบันในภาคการเงินถือว่าเข้มงวดค่อนข้างมาก เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นธรรมชาติที่เห็นอัตราการปล่อยสินเชื่อลดลง 

“เหล่านี้ทำให้สินเชื่อหมุนเวียนในระบบน้อยลง ซึ่งเป็นภาวะที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจมากขึ้น จากที่เราไม่ดีอยู่แล้ว คนรากหญ้า ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อแบงก์ได้”

นอกจากนี้ การเอื้อให้คนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น มองว่าการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นคือ ส่วนที่จะช่วย รวมถึงการพัฒนาด้านดิจิทัล แต่ส่วนที่เห็นขัดแย้งคือ การเรียกร้องให้ลบข้อมูลบนข้อมูลของเครดิตบูโรทิ้ง ที่มองว่า จะทำให้สถานการณ์ปล่อยสินเชื่อยิ่งแย่ เพราะตราบใดที่เราไม่มีข้อมูลปล่อยสินเชื่อ การที่แบงก์จะมีข้อมูลในการพิจารณาเพื่อใช้ปล่อยกู้จะไม่สามารถประเมินได้ ดังนั้นไม่ควรลบ แต่ควรเผยแพร่ให้มากขึ้น

ส่วนอีกด้านการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ไม่คิดว่าจะทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่อาจจะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยทั้งระบบลดลงบ้าง แต่อีกด้าน ดอกเบี้ยของไทยที่ต่ำอยู่แล้ว หากต่ำลงอีก โดยเฉพาะเทียบกับดอกเบี้ยสหรัฐ จะยิ่งทำให้เงินทุนไหลออก เงินบาทของไทยจะยิ่งอ่อนค่า จากผลตอบแทนที่ต่ำลง เหล่านี้อาจทำให้มีคนที่ได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนเพิ่มขึ้นได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์