แบงก์ชาติ…ห่วงใยภัยทางการเงิน
ภัยทางการเงิน เป็นปัญหาที่น่าหนักใจมากนะคะ เพราะมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบกลโกงมาตลอด แบงก์ชาติจึงได้เดินหน้าสื่อสารเตือนภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
นอกจากทางโซเชียลมีเดียแล้ว ยังทำงานเชิงรุกในพื้นที่ ทั้งร่วมมือกับผู้นำชุมชน 50 เขตในกรุงเทพฯ กับ ต่างจังหวัดผ่าน 3 สำนักงานภาค ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ช่วยกันกระจายข่าวสารเตือนภัยการเงิน รวมถึงการอบรมแก่ล่ามภาษามือ เพื่อเตือนภัยแก่ผู้บกพร่องทางการได้ยิน
แบงก์ชาติไม่หยุดนิ่งในการสื่อสารภัยการเงินให้กับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ตกเป็นเป้าเหยื่ออาชญากรรมทางการเงิน จึงมาร่วมด้วยช่วยกันเตือนภัยกันค่ะ
นอกจากเตือนภัยแล้ว แบงก์ชาติยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปง. และ กสทช. ผลักดันการออก พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกหลอกให้โอนเงินไปยัง “บัญชีม้า”
1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC สายด่วน 1441) รับแจ้งเหตุและระงับธุรกรรมต้องสงสัย
2.ผู้ให้บริการทางการเงิน แลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินผ่านระบบ Central Fraud Registry (CFR) เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจในการสืบสวนสอบสวนและอายัดผู้ต้องสงสัย
3.มีบทลงโทษบัญชีม้าชัดเจน
- กรณีเปิด/ ขาย/ ให้เช่า/ ให้ยืม จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
- เป็นธุระจัดหา/โฆษณา จำคุก 2-5 ปี หรือ ปรับ 2-5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
แต่ที่ผ่านมา การจัดการบัญชีม้าภายในธนาคาร ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน
1.ความกังวลเรื่องกฎหมาย
1) การใช้ประโยชน์ข้อมูลจากระบบ CFR ไม่เต็มที่ โดยแต่ละธนาคาร จัดการเฉพาะบัญชีม้าภายในธนาคารตัวเอง
2) การจัดการบัญชีม้าทำได้ชั่วคราว โดยธนาคารส่วนใหญ่ยังยึดกรอบเวลาในการปฏิบัติตาม พรก.ในการระงับบัญชีม้า
2.การจัดการบัญชีต้องสงสัยแตกต่างกัน โดยธนาคารมีแนวทางการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมผิดปกติ และวิธีจัดการที่แตกต่างกัน
จึงทำให้เกิดช่องโหว่ในการจัดการ ทำให้บัญชีม้าวนกลับมาใช้งานใหม่หรือย้ายไปเปิดบัญชีที่ธนาคารอื่นได้
เพื่อลดช่องโหว่บัญชีม้าวนดังกล่าว คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และคุณดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินได้ชี้แจงเพิ่มเติมเมื่อเดือนที่แล้ว ถึงมาตรการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากระดับ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” รวมถึง การจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และ ดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีที่มีอยู่เดิมและการเปิดบัญชีใหม่
1) การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบแบบ “ทุกบัญชีในทุกธนาคาร” ของบัญชีต้องสงสัยโดยใช้ข้อมูลจาก
(1) ฐานข้อมูล ปปง. เป็นรายชื่อผู้มีความเสี่ยงสูงเข้าข่ายกระทำผิดตาม พรก.ฯ หรือ “ม้าดำ”
(2) ฐานข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) เป็นรายชื่อผู้ที่ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางทุจริตในทุกธนาคาร หรือ “ม้าเทา”
- สำหรับการแลกเปลี่ยนให้ทุกธนาคารเห็นรายชื่อข้ามธนาคาร จะเริ่มภายใน 31 ก.ค.นี้
(3) ฐานข้อมูลธนาคาร ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้งก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง หรือ “ม้าน้ำตาล”
- ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น
2) การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีพฤติกรรมผิดปกติเพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น
- หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไข ไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์และที่สาขา
กลุ่มที่ 2 การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น
ธนาคารสามารถมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติม เพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น อาทิ การล็อกวงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อกวงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท
นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยธนาคารจะเริ่มให้บริการทางเลือกดังกล่าวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ใช้งานปกติ จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมาตรการนี้มุ่งเป้าจัดการบัญชีม้า เช่น บุคคลที่ ปปง. กำหนดรายชื่อว่ามีความเสี่ยงสูง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พรก. รวมถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมการใช้บัญชีที่ผิดปกติเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ ด้วยความห่วงใยภัยทางการเงิน แบงก์ชาติจึงได้สื่อสารเตือนภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และออกมาตรการเพื่อช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ และดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น
โดยแบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามประเมินผลของมาตรการ รวมถึงพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการใช้บริการการเงินดิจิทัลค่ะ
(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)