จับตาถก ครม.เศรษฐกิจ แก้หนี้ครัวเรือน พ.ค. ‘เอ็นพีแอล’ 1.14 ล้านล้าน ทุบสถิติ

จับตาถก ครม.เศรษฐกิจ แก้หนี้ครัวเรือน พ.ค. ‘เอ็นพีแอล’  1.14 ล้านล้าน ทุบสถิติ

‘เศรษฐา’ ลุยแก้หนี้ครัวเรือน จับตานัดถก ครม.เศรษฐกิจ เปิดตัวเลข 5 เดือน ‘เอ็นพีแอล’ พุ่ง 1.14 ล้านล้าน ผู้ว่าฯ ธปท.ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงเกินเกณฑ์ 80% ของจีดีพี

จับตาถก ครม.เศรษฐกิจ แก้หนี้ครัวเรือน พ.ค. ‘เอ็นพีแอล’  1.14 ล้านล้าน ทุบสถิติ ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นประเด็นที่น่าห่วงต่อเนื่อง จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3% โดย 67% เป็นการก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 

แหล่งข่าววงการเงิน กล่าวว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยที่เป็นประเด็นที่น่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย ที่พบว่า มีอัตราเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาพรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2567) ที่พบว่า หนี้เสียปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อลดลง สอดคล้องกับการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ค.2567 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) จะมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ โดยประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง และที่ผ่านมามีการหารือสถานการณ์เศรษฐกิจ และแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแต่ละด้าน ซึ่งส่วนหนึ่งมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ต้องการ การแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างและรากฐานของเศรษฐกิจ

รวมทั้ง นายเศรษฐา ต้องการให้ ครม.เศรษฐกิจเป็นการระดมความคิดหาทางออก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ รวมถึงมีการหารือประเด็นที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องหารือกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคอยู่ได้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธปท.และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดย สศช.เสนอให้สถาบันการเงินประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เรื้อรังเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ ธปท.เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเม.ย.2567 ซึ่งจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ชำระหนี้ได้หมดภายใน 5 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี 

ทั้งนี้ครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนที่ไม่เป็น NPL (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น รวมถึงลูกหนี้ที่มีการชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นเป็นเวลานาน โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือนว่าเป็นลูกหนี้เรื้อรังจากเจ้าหนี้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

รวมถึงเสนอให้ติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดย Responsible Lending ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567

นอกจากนี้ ควรติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่มีผู้ลงทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย 1.43 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 10,261 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 18 ก.พ.2567) ซึ่งต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ หรือเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ ซึ่งอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs)

 

หนี้เสีย 5 เดือนสูงสุดทุบประวัติศาสตร์

แหล่งข่าวจากวงการเงิน กล่าวว่า ข้อมูลเครดิตบูโร สิ้น พ.ค.2567 มียอดการปล่อยสินเชื่อรวมมียอดคงค้าง 13.6 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อลดลง 0.1% หากเทียบเดือนก่อนหน้า สวนทางหนี้เสียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหนี้เสียขึ้นมาอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% หากเทียบเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 11.3% หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน 

ขณะที่หนี้เสียอยู่ระดับ 1.14 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุด และใกล้เคียงช่วงโควิด-19 ที่สูงถึง 1.1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ รายละเอียดหนี้เสียครัวเรือนไทย พบหนี้เสียที่เพิ่มมากที่สุดเป็นสินเชื่อรถยนต์ โดยมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.5% หากเทียบเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนบัญชีพบว่าหนี้เสียรถยนต์เป็นหนี้เสียถึง 8.07 แสนบัญชี ที่อาจถูกยึดรถขายทอดตลาด

ถัดมาคือ หนี้เสียจากสินเชื่อบ้านล่าสุดอยู่ที่ 2.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.6% จากเดือนก่อนหน้า และหากดูแง่บัญชีพบว่า บ้านที่มีบัญชีมีถึง 1.57 แสนหลัง และอันดับ 3 สินเชื่อเครดิตการ์ด อยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท หนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.6% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนก่อนหน้า

หนี้เสียกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์พุ่ง 58%

ส่วนหนี้เสียจากพอร์ตสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้เครดิตบูโรบางส่วน จากยอดสินเชื่อรวม 5.75 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสียถึง 2.38 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 11.3% จากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีหนี้เสีย 9.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% จากปีก่อน และ 3.5% จากเดือนก่อนหน้า หากเทียบกับพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 4.1 หมื่นล้านบาท

ไม่เฉพาะหนี้เสียเท่านั้นที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่หนี้ที่กำลังจะเสียหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (SM) มี 5% หรือ 6.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 18.1% จากช่วงปีก่อน และเพิ่มขึ้น 26.9% จากเดือนก่อนหน้า โดยหนี้ที่กำลังจะเสียน่าห่วงที่สุดทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อที่ใช้ในการเกษตรกรรม สินเชื่อสหรัฐ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจ

โดยหนี้ค้างชำระที่เป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดคือ สินเชื่อบุคคล มียอดที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย 1.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% จากปีก่อน และเพิ่ม 41.9% จากเดือนก่อนหน้า ถัดมาสินเชื่อบ้านกำลังจะเป็นหนี้เสีย 1.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและ 22.8% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อเครดิตการ์ดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.3% และ 0.7% 

ขณะที่สินเชื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด โดยมีหนี้ที่กำลังจะเสียรวม 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

หนี้มีปัญหาแตะ 1.82 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งหนี้เสียโดยรวมของครัวเรือนไทย ที่ 1.14 ล้านล้านบาท หรือราว 8.4% บวกกับ SM อีก 5% หรือ 6.8 แสนล้านบาท พบว่าหนี้ที่มีปัญหาวันนี้มีถึง 13.5% หรือ 1.82 ล้านล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น หากดูหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง หรือที่มีปัญหาในการชำระหนี้มาแล้ว พบว่าโดยรวมอยู่ที่ 1.06 ล้านล้านบาท โดยรวมเพิ่มขึ้น 9.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 7.1%จากเดือนก่อนหน้า 

สำหรับยอดที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้นคือ สินเชื่อบ้านที่ 3.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสินเชื่อรถ 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% และ เครดิตการ์ด 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5%

ผู้ว่าฯ ธปท.หวั่นหนี้ครัวเรือนสูงเกินเกณฑ์

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2567 สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ภายใต้หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.8% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เป็นระดับสูงสุดที่ ธปท.อยากเห็น และเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะหนี้ครัวเรือนไทยสูงกว่าระดับความยั่งยืนสากลที่กำหนดที่ระดับ 80% ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง สุดท้ายอาจเกิดปัญหาเหมือนวิกฤติปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญ

นอกจากนี้ หากดูไส้ในของหนี้ครัวเรือนไทยพบว่า 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ หรือเป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างสูง ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยทำได้ยาก และต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะภาระหนี้สินของเกษตรกรไทย ที่พบว่ามีปัญหามากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่มีรายจ่ายที่สูงรายได้ จึงทำให้มีปัญหาหนี้ ทั้งหนี้เดิม และหนี้ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้การดูแลให้คนไทยอยู่ดีกินดีคือ การดูแลให้คนมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย และมีหนี้สินน้อยกว่าทรัพย์สิน คือ การดูแลรายจ่ายให้อยู่ในระดับไม่สูงเกินไป และธปท.ในฐานะที่ดูแลเรื่องเสถียรภาพด้านราคา ก็มีหน้าที่ในการดูแลเงินเฟ้อ ไม่ให้สูงเกินไป เพราะหากเงินเฟ้อสูง อาจกระทบต่อค่าครองชีพของคน โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้ามากขึ้น

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยพบว่ารายได้ของประเทศเติบโตช้า สวนทางกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย ที่เคยเติบโตระดับ 4-5% และในอนาคตระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียงบวกลบ 3%  หากไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แก้ประสิทธิภาพแรงงานที่ปัจจุบันไม่เติบโต และแก้อัตราการเติบโตของแรงงานที่ชะลอ ซึ่งถามว่าการเติบโตที่ 3% ไม่พอ ดังนั้นหากต้องการเติบโตระยะยาวศักยภาพเศรษฐกิจไทยต้องเติบโตมากกว่า 3%

ห่วงหนี้ครัวเรือนฉุดการบริโภคลดลง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนกระทบต่อการบริโภคในประเทศให้ลดลงต่อเนื่อง และเห็นการเข้าไม่ถึงสินเชื่อมากขึ้น จากยอดปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้สะท้อนคุณภาพหนี้ผู้กู้ที่ด้อยลง และเริ่มเห็นภาคธนาคารหันไปโฟกัสสินเชื่อบ้าน ในระดับ 3 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น แต่การหันไปโฟกัสบ้านราคาสูงขึ้น มองว่าไม่สามารถชดเชยดีมานด์ที่หายไปจากระดับล่างที่มีอยู่ค่อนข้างมากได้ ทำให้สินเชื่อฟื้นตัวได้จำกัด

ส่วนการคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 2.3% แต่ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่แม้ฟื้นตัวได้ แต่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และมองว่าเศรษฐกิจไทยแย่กว่าวิกฤติปี 2540 เพราะผลกระทบเริ่มกระจายตัว 

ทั้งนี้ ต่างกับปี 2540 กระจายวงกว้างไปหลายภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ที่สะท้อนกำลังซื้อระดับล่างที่อ่อนแอ ทำให้คนระมัดระวังการบริโภคและใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่การกระตุ้นของภาครัฐทำได้ค่อนข้างจำกัด

รวมทั้งไม่ใช่เฉพาะไทยที่เจอปัญหาเศรษฐกิจ แต่ต่างประเทศเผชิญเช่นกันทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูงมากกว่าปี 2540 ซึ่งมาจาก “วิกฤติซึมยาว” จากกำลังซื้อระดับล่างที่อ่อนแอ ซึ่งกังวลกำลังซื้อระดับล่างอ่อนแอมากขึ้นจะลามกระทบธุรกิจระดับกลางและบนที่อาจเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทยมาจากต่างประเทศ โดยจับตา 4 ด้านสำคัญ หรือ G-E-R-M ทั้งจาก ปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งหลายประเทศ การคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ การผลิตอาจหดตัวต่อเนื่อง จากการแย่งชิงของจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย และอาเซียนมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าเป้าที่ 2.3% 

สำหรับนโยบายดอกเบี้ยคาดว่าปลายปีจะเห็นคณะกรรมการนโยบายดอกเบี้ย (กนง.) ลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 2.25% และคาดว่าปี 2568 กนง.ลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.5% แม้เศรษฐกิจเติบโตดี แต่การปรับดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาวที่ต่ำลง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์