ลุ้น‘6บิ๊กบจ.’ฟื้นตลาดหุ้นกู้ เกาะติดกลุ่ม เอสซีจี-ปตท.เดินหน้า โรโอเวอร์
“ไทยบีเอ็มเอ” เกาะติด “6 บิ๊กบจ.” คงแผนออกหุ้นกู้ทดแทนครบกำหนดครึ่งปีหลัง ลุ้นยอดออกใหม่ปีนี้เป้า 1 ล้านล้าน ชี้เฟดเริ่มลดดอกเบี้ย หนุนตลาดคึกคัก เผย “กลุ่มอินเวสเม้นท์เกรด”ยังขายหมด แต่ละขายนานขึ้นอีก 1-2 วัน ส่วนไฮยีลด์ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน-บริษัทแข็งแกร่ง
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือปีนี้เราต้องติดตามแผนการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด (Rollover) ในช่วงครึ่งหลังปีของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ ว่า ยังสามารถออกได้ตามแผนเดิมหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วบริษัทขนาดใหญ่ เครดิตเรตติ้ง ระดับลงทุนหรือ Investment grade จะ Rollover ได้ครบทั้งหมด รวมถึงมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพิ่มเติม
เนื่องจาก ยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ Rollover ของเอกชน ทั้งภาวะตลาดที่ดอกเบี้ยยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เครดิตเรตติ้งระดับลงทุน หรือ Investment grade อาจชะลอการออกหุ้น รอดูจังหวะดอกเบี้ยปรับลดลงมาถึงระดับที่เหมาะสมก่อน ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับภาวะตลาด
“ช่วงที่เหลือปีนี้เรายังต้องติดตาม บริษัทขนาดใหญ่จะยังคงแผนออกหุ้นกู้ใหม่หรือไม่นั้น เบื้องต้นประเมินว่าอย่างกลุ่มปตท. (PTT) ปัจจุบันยังมีกระแสเงินสดค่อนข้างมาก ซึ่งกลุ่มพลังงาน ที่มียอดออกสูงสุด พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนบริษัทผู้ออกลดลงเหลือ 13 บริษัท จาก25 บริษัท จากปีก่อนบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ออกไปมากแล้วและช่วงที่ผ่านมานี้ยังไม่ได้ออกหรือบางแห่งที่เป็นบริษัทของเจ้าสัว ก็ยังมีแหล่งระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าการออกหุ้นกู้ เช่นวงเงินกู้สถาบันการเงินเหลืออยู่ค่อนข้างมาก คงจะรอจังหวะดอกเบี้ยปรับลดลงในระดับที่เหมาะสมก่อน คงไม่รีบร้อนออกหุ้นกู้”
ทั้งนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ พบบริษัทขนาดใหญ่ที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดครึ่งปีหลังมากที่สุด 6 อันดับแรก มีมูลค่า 12,000-35,000 ล้านบาทต่อบริษัท ได้แก่ 1.บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 2. บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) 3. บมจ.ปตท (PTT) 4.ธนาคารเกียรตินาคิน ภัทร (KKP) 5. บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) 6. บมจ.กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
โดยคงคาดการณ์ยอดออกหุ้นกู้ปีนี้ ยังได้ตามเป้าหมาย 9 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาท จากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดครึ่งหลังอีกทั้งสิ้น 4.4 แสนล้านบาท (ณ 16 ก.ค. อยู่ที่ 419,080 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มหุ้นกู้ investment grade 377,000 ล้านบาท และกลุ่มหุ้นกู้ High Yield 42,000 ล้านบาท)
จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมามูลค่า 4.94 แสนล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวปีก่อน โดยยอดออกลดลงกลุ่มหุ้นกู้ไฮยีลด์ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งและมีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า BBB- แต่ครึ่งปีแรกกลุ่มไฮยีลด์ยังออกได้มูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านบาท อายุเฉลี่ยลดลงที่ 2.2 ปี จากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้ออกยังไม่สามารถออกตราสารระยะยาวได้ และผู้ออกเป็นบริษัทไม่เป็นรู้จักอาจจะขายได้ยากขึ้น แต่หุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ยังออกขายได้ เพราะมีฐานลูกค้าที่ต้องการลงทุน ธุรกิจยังมีความมั่นคงที่ลูกค้ามีความเชื่อมั่นธุรกิจ และมีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการออกหุ้นกู้
ด้านสถานการณ์ ยอดขายหุ้นกู้ออกใหม่พบในกลุ่มหุ้นกู้ Investment grade ยังสามารถเสนอขายได้ครบตามวงเงินที่ตั้งไว้เป็นตามปกติ แต่จะใช้ระยะเวลาขายนานขึ้นอีก 1-2 วัน ถึงจะขายได้ครบตามวงเงินทั้งหมด เดิมที่เสนอขายได้หมดภายในวันแรกที่เปิดขาย
พบว่า ความต้องการลงทุนห้นกู้ Investment grade ยังมีอีกมาก แต่จากประสบการณ์การลงทุนและบทเรียนในตลาดหุ้นกู้ช่วงที่ผ่านมา จึงเน้นคัดเลือกลงทุนหุ้นกู้เครดิตเรตติ้งสูงๆ ศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักลงทุนด้วยกัน เพื่อใช้ประกบการตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้ให้รอบคอบมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี
หรือหากเป็นระดับไฮยีลด์จะเลือกแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง ฐานะการเงินแกร่ง จะยิ่งทำให้มีความเชื่อมั่นลงทุนเพิ่มขึ้น นางสาวอริยา กล่าวว่า หากปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เฟดเริ่มมีการปรับลดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงตาม คาดหวังเริ่มเห็นภาคเอกชนกลับมาเปิดขายหุ้นกู้คึกคักมากขึ้นด้วย