‘แอลเอชแบงก์‘หวังเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังฟื้น ดันสินเชื่อโตตามเป้า10%

‘แอลเอชแบงก์‘หวังเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังฟื้น ดันสินเชื่อโตตามเป้า10%

ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.4% หวังครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ตามการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐหนุน รับเศรษฐกิจมีความท้าทายขึ้น จากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ-ในประเทศ คาดสินเชื่อปีนี้โตตามเป้า 8-10%

นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า หากวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ คาดการณ์จะเติบโตระดับกลาง 3.2% ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน

ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดเติบโตต่ำกว่า 2.5% ธนาคารประเมินว่า จีดีพีไทยจะเติบโตที่ 2.4% แรงหนุนหลักเศรษฐกิจไทยมองว่า จะมาจากการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง

สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น จากช่วงครึ่งปีแรกมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น การลงทุนภายในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ยังคงมีความเสี่ยงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากการเมืองระหว่างประเทศ การเลือกตั้งสหรัฐ หากพรรครีพับลิกันมาจะส่งผลให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากการเมืองในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนในประเทศที่อยู่ระดับสูง อาจฉุดรั้งการบริโภคในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้ยาก

ทั้งนี้ แม้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตระดับ 2.4% แต่ยังเป็นการเติบโตระดับต่ำกว่าอดีตค่อนข้างมาก เพราะศักยภาพการแข่งขันของไทยที่ต่ำลง อดีตเศรษฐกิจไทยโตปีละมากกว่า 5% ก่อนต้มยำกุ้ง และหลังจากวิกฤติซัพไพร์มเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยปรับลดลงเหลือเพียงระดับ 3% โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น สะท้อนศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาวของไทยที่ปรับลดลง

คาด “สินเชื่อ” ปีนี้โตตามเป้า 10%

สำหรับภาพรวมธุรกิจธนาคาร ด้านการเติบโตของสินเชื่อ มองว่า ยังเป็นไปตามเป้าที่ประเมินไว้ที่ 8-10% จากการมุ่งเน้นไปเติบโตในกลุ่มที่ธนาคารถนัด และสร้างผลตอบแทนระดับสูง (ไฮยีลด์) มากขึ้นโดยเฉพาะพอร์ตรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้านที่ธนาคารเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโตกว่าระดับ 15% หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นระดับที่ All time high ของธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อบ้านคงค้างมากที่สุดในพอร์ตของธนาคาร 

โดยกลุ่มที่ธนาคารมุ่งเน้น คือ สินเชื่อบ้านในกลุ่มที่มีรายได้เกิน 50,000 บาทขึ้นไป เพราะมองว่ากลุ่มนี้ยังมีศักยภาพ และดีมานด์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหนี้เสียกลุ่มนี้ถือว่าอยู่ระดับต่ำ

“สินเชื่อบ้าน หากเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ จะเน้นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มต่ำกว่า 5 หมื่นบาทลงมา ซึ่งกลุ่มที่ต่ำกว่า 3-5 หมื่นบาทลงมา ธนาคารแทบไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่มองว่า ปัจจุบันเริ่มโอเวอร์ซัพพลายมากขึ้นจึงเป็นกลุ่มที่ธนาคารระมัดระวังมากขึ้น”

รุกโตพอร์ตสินเชื่อ “เอสเอ็มอี”

 นอกจากนี้ ธนาคารยังโฟกัสการขยายพอร์ตสินเชื่อไปในกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่ม เนื่องจากเป็นพอร์ตที่ไฮยีลด์สูง โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ที่ธนาคารจะออกโปรดักต์โปรแกรมเพื่อครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น โฟกัสใน 3-4 อุตสาหกรรมหลักที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของธนาคาร ทั้งธุรกิจที่เน้นลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเกาะกลุ่มทิศทางการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในดาต้าเซนเตอร์ เป็นกลุ่มที่ธนาคารอยากเข้าไปสนับสนุนและเติบโตรวมถึงกลุ่มโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์

แต่การขยายพอร์ตไปเติบโตในกลุ่มเอสเอ็มอี ธนาคารจะมุ่งไปที่กลุ่มที่มีศักยภาพ และแม้ธนาคารมองว่าเอสเอ็มอีจะมีความเสี่ยงกว่าพอร์ตอื่นๆ แต่เอสเอ็มอีถือเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย และมีส่วนหนุนจีดีพีไทยถึง 30% ดังนั้น การมุ่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีถือเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนการเข้าไปเติบโตในพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี ธนาคารคงไปแบบระมัดระวัง ตั้งเป้าเข้าไปปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจากการเริ่มเข้าไปปล่อยสินเชื่อกลุ่มดังกล่าว ยังพบว่าสินเชื่อปล่อยใหม่ยังมีคุณภาพดี ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ต้องติดตามพอร์ตสินเชื่อต่อไปอีกระยะภาพถึงชัดเจนมากขึ้น

กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มลูกค้าไต้หวัน หรือลูกค้าต่างชาติ ที่ปัจจุบันเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับลูกค้าธุรกิจไต้หวันครึ่งปีแรกเติบโตได้กว่า 24% และเทรดไฟแนนซ์ขยายตัวสูงกว่า 10% มีโอกาสหนุนธนาคารให้โตต่อเนื่องได้ รวมถึง การมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าบนดิจิทัลมากขึ้น จากครึ่งปีแรกที่เติบโตขึ้นแล้วกว่า 20% เช่นเดียวกันการมุ่งเติบโตและสนับสนุนลูกค้าไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

 “กลยุทธ์ธนาคาร จะมุ่งเน้นกลุ่มไฮควอลิตี้มากขึ้น สามารถสร้างการเติบโตให้ธนาคาร โดยเฉพาะ 3 พอร์ตใหญ่ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอี และลูกค้าไต้หวันลูกค้าต่างประเทศ ที่มีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง”

ขยับสัดส่วน 3 พอร์ตสินเชื่อเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม จากการมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 พอร์ตหลัก ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อลูกค้าไต้หวัน คาดว่าจะกลายมาเป็นพอร์ตสินเชื่อหลักของธนาคาร ที่มีสัดส่วนสินเชื่อใกล้เคียงกันที่กว่า 30% ในแต่ละพอร์ต จากปัจจุบันที่สินเชื่อบ้านมีสัดส่วนสินเชื่ออยู่ที่ราว 20-25% หากคิดเป็นการเติบโตปีละกว่า 10% มองว่าอีก 2-3 ปี พอร์ตจะขยายตัวเป็น 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวม สำหรับพอร์ตที่ธนาคารมีการระมัดระวัง และลดสัดส่วนมากขึ้น เช่น ยีลด์ต่ำเช่นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ และกลุ่มสหกรณ์เป็นต้น

ส่วนภาพรวมด้านคุณภาพหนี้ของลูกหนี้โดยรวม ถือว่ายังมีคุณภาพที่ดี โดยมีระดับหนี้เสียใกล้เคียงเดิมที่ 3% โดยเฉพาะรายย่อย ที่โดยรวมอยู่ในระดับที่ดี และเริ่มเห็นลูกค้าขอความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ น้อยลง

นอกจากนี้ ส่วนที่ทำให้คุณภาพสินเชื่อของธนาคารดีขึ้นมาจากการเน้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้น

โดยยึดหลักการปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม และรับผิดชอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) หรือเกณฑ์ RL ให้การสร้างหนี้ใหม่มีคุณภาพขึ้น ดังนั้นมองว่า พอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารยังคงแข็งแรง และเติบโตได้ต่อเนื่อง

 สำหรับภาพรวมหนี้เสีย ธนาคารคาดว่า ปีนี้มีโอกาสเห็นต่ำกว่าระดับ 3% ได้ จากหลายธุรกิจที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจ จากก่อนหน้านี้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้การชำระหนี้ต่างๆ กลับมาดีขึ้น ส่งผลให้การตั้งสำรองหนี้สูญปีนี้มีโอกาสปรับลดลงได้