ธนาคารไทยพาณิชย์ ‘ยกการ์ดสูง’ รับความเสี่ยงครึ่งปีหลัง
ไทยพาณิชย์ เร่งปรับแผนรับ ‘ความเสี่ยง’ ครึ่งหลัง บริหารพอร์ตสินเชื่อสมดุล-เน้นดูแลปลอดภัย ชี้บนสมรภูมิแข่งดอกเบี้ยสินเชื่อ “รายใหญ่” ร้อนแรง ธุรกิจหันพึ่งพาสินเชื่อแบงก์แทนหุ้นกู้
ท่ามกลางการประกาศผลการดำเนินงานในรอบไตรมาส 2 และครึ่งแรกปี 2567 ของกลุ่มธนาคาร (แบงก์) ในช่วงที่ผ่านมา “ธนาคารไทยพาณิชย์” ถือเป็นอีกธนาคารที่ผลการดำเนินงานออกมาเติบโต “โดดเด่น” โดยหากดูเฉพาะธุรกิจธนาคาร ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่ม Gen1ภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตต่อเนื่อง
โดยรอบครึ่งปี 2567 ที่ผ่านมา “กำไรสุทธิ” ของธนาคารอยู่ที่ 2.55 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 12.1% แม้สินเชื่อในภาพรวมจะเติบโตลดลง 0.6% จากปีก่อนหน้า
ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่ลดลง ส่งผลให้ “สินเชื่อด้อยคุณภาพ” หรือ “หนี้เสีย” ของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.21% จาก 3.37% จากไตรมาสก่อนหน้า เหล่านี้มาจากการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพของธนาคาร
ขณะที่ กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ยังเลือกการเติบโตของสินเชื่อที่ยังคงให้ผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ต่อเนื่อง
เหล่านี้สอดคล้องกับมุมมองของ “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า การเติบโตของธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ในระยะข้างหน้าจะยังอยู่ภายใต้ “ความระมัดระวัง” และการเลือกในการ “เติบโต” มากขึ้นในกลุ่มที่ธนาคารมองว่ามีศักยภาพ และสร้างผลประกอบการให้ธนาคารยังคงเติบโตต่อได้ในสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจธนาคาร
“กฤษณ์” มองว่า สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจธนาคาร โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ สิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือ ธนาคารยังคง “ตั้งการ์ดสูง” ในการปล่อยสินเชื่อมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งลูกค้าธุรกิจ นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาหรือที่เราคุ้นชินกันดีในนามลูกค้า “รายย่อย”
เพราะวันนี้ ด้วยความเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และเริ่มเห็นว่า “หุ้นกู้” ก็เริ่มมีประเด็นมากขึ้น ดังนั้น ในฐานะของธนาคารเอง ก็ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์นี้อย่างรัดกุมที่สุด
ภาพครึ่งหลังมองโจทย์ของธนาคารจะเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ธนาคารพยายามมุ่งเน้นการเติบโตพอควร แต่ครึ่งปีหลังปีนี้ คาดว่าจะเป็นช่วงของการดูแลความปลอดภัยของธนาคารมากกว่า ทั้งเรื่องการจัดเก็บสินเชื่อให้มีความเหมาะสม การบริหารความเสี่ยงให้สมดุลที่สุด เพราะความท้าทายในครึ่งปีหลังยังมีอยู่อีกมาก
โดยความเสี่ยงในด้านการปล่อยสินเชื่อ แน่นอนหลังจากนี้ไปจนถึงปลายปี จะเห็นทุกธนาคารมีความระมัดระวังการบริหารจัดการในพอร์ตสินเชื่อในทุกพอร์ตสินเชื่อมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการ์ดที่ตั้งไว้จะเข้มไปกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ก็เข้มมากอยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่ธนาคารต้องกลับมาดูคือ สินเชื่อเก่าที่ปล่อยในช่วงที่ผ่านมา มีคุณภาพมากน้อยขนาดไหน ?
และพอร์ตสินเชื่อยังสามารถต้านทานกับเศรษฐกิจที่อาจปรับตัวในทางไม่ดีได้มากน้อยแค่ไหน หากพอร์ตนั้นมีภูมิต้านทานสูง ก็อาจจะรอดสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ แต่หากพอร์ตไหนภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้
ไม่เพียงเท่านั้นธนาคารมองว่าความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาเริ่มกระจุกตัวในลูกค้าที่ระดมออกหุ้นกู้มากขึ้น เพราะความอ่อนไหวมีมากขึ้น เสี่ยงที่จะโรลโอเวอร์ไม่ได้เต็มจำนวนมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ยังคงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ธนาคารต้องพิจารณา และต้องเตรียมรับมือเพราะหากเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ หรือโรลโอเวอร์หุ้นกู้ไม่ได้มากขึ้น อาจเห็นภาคธุรกิจหันมาเปลี่ยนช่องทางในการได้มาของเงิน มาเป็นขอ “สินเชื่อ”เพิ่มขึ้นได้ ก็จะเห็นธุรกิจขนาดใหญ่ๆต่างๆที่พึ่งพาหุ้นกู้ หันมาพึ่งพาแบงก์เป็นหลัก
แต่ภายใต้สถานการณ์นี้ ที่มีความเปราะบาง แบงก์เองก็ต้องเลือกลูกค้า ลูกค้าเองก็ต้องเลือกแบงก์เช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่จะตามมามองว่า จะเกิดการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่ดีมีคุณภาพในช่วงครึ่งปีหลังนี้
“การแข่งขันสูงในการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าที่ดี มีคุณภาพมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การแข่งขันสูง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Price to Quality คือในพอร์ตไหน มีคุณภาพสินเชื่อดี ก็จะเกิดการแข่งขันมากหน่อยเพราะมีคุณภาพของตัวบริษัท การแข่งขันด้านดอกเบี้ยก็จะมากขึ้น ดังนั้นแบงก์เองก็ต้องเข้าไปแข่งขันมากขึ้นแม้แข่งขันสูง ดอกเบี้ยต่ำลง แต่ก็เลือกลูกค้าที่มีคุณภาพ”
กลับมาดู “พอร์ตลูกค้ารายย่อย” ธนาคารมีการ ตั้งการ์ดในการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมาตั้งแต่ปีก่อน ธนาคารลดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงกับพอร์ตลูกค้า สินเชื่อบ้านก็เลือกเฉพาะโครงการที่เชื่อว่ามีผลกระทบน้อยกว่าคือ เฉพาะกลุ่มระดับกลาง กลุ่มบน ขณะที่สินเชื่อไม่มีหลักประกันไทยพาณิชย์มีการปล่อยลดลง สินเชื่อรถยนต์ก็พยายามดูในพอร์ตและแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง
เหล่านี้คือ เป้าหมายและการดำเนินธุรกิจของธนาคารตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ดังนั้น กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารครึ่งปีหลังจึงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก และครึ่งปีหลังก็ไม่ได้เปลี่ยน ส่วนรายใหญ่ ในสถานการณ์ที่หุ้นกู้มีความท้าทาย ก็เป็นไปได้ที่บริษัทที่เคยพึ่งพาหุ้นกู้ จะมาพึ่งพาธนาคารมากขึ้น ธนาคารก็ต้องดูเป็น “เคสบายเคส” บนอุตสาหกรรมที่ใช่ และตัวเซกเอร์บริษัทหุ้นกู้ที่เหมาะสม เพื่อให้ความเสี่ยงแต่ละธนาคารไม่มากจนเกินไป
“ผลประกอบการโดยรวมของธนาคารในครึ่งปีแรกที่ออกมา ถือว่าโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี โดยมาจาก 2-3 เรื่อง จากดอกเบี้ยจากสินเชื่อยังเติบโตได้ต่อ หลายอุตสาหกรรมยังประคองตัวเองได้ ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ก็ยังมีการเติบโต มีบางตัวที่หย่อนลงมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจยังเติบโต และสิ่งที่ธนาคารเน้นคือการลดต้นทุนต่อเนื่องให้ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรมแบงก์”
สำหรับ กรณีของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารที่กว่า 13,000 ล้านบาท และจากสถานการณ์ของบริษัทที่เปลี่ยนไป ธนาคารเองก็ต้องตั้งสำรองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจะเห็นได้ผ่านการตั้งสำรองในไตรมาส 2 ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนสถานการณ์ EA ธนาคารมองว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะวันนี้ EA ยังไม่ได้มีการผิดชำระหุ้นกู้ และยังมีโอกาสโรลโอเวอร์หุ้นกู้ได้ในอนาคต ดังนั้น ธนาคารเองก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และกรณีที่เกิดขึ้นเอง ธนาคารในฐานะผู้ปล่อยกู้ ก็มีการพูดคุยกับลูกหนี้เรียบร้อยแล้ว แต่หากมองในแง่การดำเนินธุรกิจมองว่า EA เองยังไม่มีปัญหารายได้ยังมีเข้ามาสม่ำเสมอ ก็เชื่อว่าธุรกิจโดยรวมยังสามารถไปต่อได้
ท้ายสุด “กฤษณ์” มองว่า ระยะหลังๆ ที่เริ่มมีการพูดถึง “ธรรมาภิบาล” มากขึ้นนั้น ส่วนของไทยพาณิชย์เอง ยึดถือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนอกจากดูด้านเครดิตของธุรกิจแล้ว เรื่องธรรมาภิบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารใช้พิจารณาๆ อันดับต้นๆ เพราะหากบริษัทต่างๆมีความเสี่ยงที่จะในสิ่งที่ไม่ถูกต้องธนาคารก็ต้องมีสิทธิกังวล และสิ่งที่ธนาคารต้องติดตามคือ เมื่อปล่อยกู้ไปแล้ว ปล่อยกู้ถูกคน หรือปล่อยไปแล้วก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือไม่ ?