“ประกันโรคร้ายแรง” มีติดไว้พึ่งพิงได้ ถ้าเกิด “ติดบ้าน-ติดเตียง”

“ประกันโรคร้ายแรง” มีติดไว้พึ่งพิงได้ ถ้าเกิด “ติดบ้าน-ติดเตียง”

การเลือกทำประกันโรคร้ายแรง ควรพิจารณาเลือกวงเงินเอาประกันภัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยในระยะยาว พร้อมทั้งควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองก่อนทำประกันภัย และที่สำคัญที่สุดคือ การทำประกันขณะที่สุขภาพยังแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อการมีหลักประกันที่มั่นคงและยืนยาวต่อไป

ภาวะพึ่งพิง หรือ ภาวะติดบ้าน-ติดเตียง ถือเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ โดยมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุรุนแรง การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง หรือการเข้าสู่ช่วงสูงอายุ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ จากข้อมูลสถิติประชากร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) พบว่า ในปี 2566 มีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงจำนวน 1.7 แสนคน คิดเป็น 1.3% ของผู้สูงอายุทั้งหมด 13.1 ล้านคน (เฉพาะผู้ที่เข้าระบบ) และคาดว่าในปี 2574 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดที่มีผู้สูงอายุ 18.7 ล้านคน จะมีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 แสนคน[1] ซึ่งการเป็นผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก การดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัวหรือสถานพยาบาล รวมทั้งผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมา

ภาวะพึ่งพิง วัดจากคะแนนประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel index of Activities of Daily Living: ADL index) ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มติดเตียง” จะมีคะแนน ADL index ระหว่าง 0-4 คะแนนและ “กลุ่มติดบ้าน” จะมีคะแนน ADL index ระหว่าง 5-11 คะแนน ซึ่งผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงสามารถขอรับการบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นผ่าน “ระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพึง” (Long Term Care: LTC) ภายใต้การดำเนินการร่วมกันระหว่างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะได้รับการดูแล เช่น การติดตามอาการ การใช้ยา แนะนำอาหารที่มีประโยชน์ การทำกายภาพบำบัด รวมถึงให้ยืมเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อกลับมาใช้ที่บ้าน/ชุมชน จากทีมหมอครอบครัวและทีมผู้ช่วยเหลือดูแล (Care giver) ตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan)[3] และหากมีคะแนน ADL ไม่เกิน 6 คะแนน[4] หรือเป็นผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ ก็จะสามารถลงทะเบียนขอรับผ้าอ้อมหรือแผ่นรองซับได้ไม่เกิน 3 ชิ้น/คน/วัน เป็นต้น โดยหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของ สปสช. สามารถติดต่อสอบถามได้หลายช่องทาง เช่น 

· รพ.สต. โรงพยาบาลประจำอำเภอใกล้บ้าน อบต. และเทศบาล ในพื้นที่ต่างจังหวัด 

· ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. 

· สายด่วน สปสช. 1330 

· ไลน์ OA สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เป็นต้น 

นานาน่ารู้ 

ADL index คือ การวัดความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันทั้งหมด 10 หมวด (คะแนนเต็ม 20 คะแนน) ได้แก่

1. การรับประทานอาหาร 2. การล้างหน้า หวีผม แปรงฟัน โกนหนวด 3. การลุกนั่งจากที่นอนหรือจากเตียงไปยังเก้าอี้ 4. การใช้ห้องน้ำ 5. การเคลื่อนที่ภายในห้องหรือบ้าน 6. การสวมใส่เสื้อผ้า 7. การขึ้นลงบันได 1 ชั้น 8. การอาบน้ำ 9. การกลั้นการถ่ายอุจจาระ 10. การกลั้นปัสสาวะ

ซึ่งจะมีการให้คะแนนแต่ละหมวดเช่น ทำไม่ได้เลย = 0 ทำได้บ้าง = 1 ทำได้ = 2 โดยจะใช้คะแนนรวมในการประเมินว่า เป็นผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง หรือ ติดบ้าน-ติดเตียง หรือไม่

อย่างไรก็ตามด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันที่มีภาวะค่าครองชีพสูง ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังอาจจะต้องดูแลหรือพึ่งพาตนเองมากขึ้น ซึ่งการดูแลพื้นฐานจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม เช่น ค่าคนดูแล ค่าเดินทางไปหาหมอ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง ในปัจจุบันจึงมีระบบการดูแลเกิดขึ้นมากมายทั้งการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง (Nursing Home) หรือบริการส่งพนักงานไปดูแลถึงที่บ้าน ซึ่งค่าบริการการดูแลเริ่มต้นประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน โดยที่ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น 

  • ค่ากายภาพบำบัด ค่ารักษาตรวจพิเศษ ค่า Lab หรือ X-Ray
  • ค่ายา และเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่จำเป็น เช่น สายสวนปัสสาวะ สายให้อาหาร ชุดทำแผลปลอดเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ อ๊อกซิเจน ฯลฯ 
  • อุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว เช่น ค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผ้ารองซับ สำลี ถุงมือ เตียงลม อุปกรณ์อาบน้ำ ฯลฯ
  • ค่าเดินทาง รับ-ส่ง กรณีต้องไปพบแพทย์ตามนัด 

หากลองคำนวณคร่าวๆ จะพบว่า แต่ละเดือนอาจมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยประมาณ 30,000 บาท และหากต้องดูแลผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียงอย่างน้อย 1 ถึง 3 ปี จะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 360,000-1 ล้านบาท

การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงหรือผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการดูแลระยะยาวในอนาคต จึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการมีประกันสุขภาพ โดย “ประกันโรคร้ายแรง” ถือเป็นประกันอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นให้ความคุ้มครองโดยการจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินก้อนตามจำนวนเงินเอาประกันภัย เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง (ตามเงื่อนไขของแผนประกันที่เลือก) ยกตัวอย่างเช่น 

  • การทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองอย่างถาวรตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไป จากกิจวัตรประจำวัน 6 อย่าง ได้แก่ 1. การเคลื่อนย้าย 2. การเดินหรือเคลื่อนที่ 3. การแต่งกาย 4. การอาบน้ำ 5. รับประทานอาหาร 6. การขับถ่าย ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 วัน ซึ่งเป็นผลจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย 
  • การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โรคพาร์กินสัน ภาวะข้ออักเสบรูมาตอยด์ชนิดรุนแรง ที่ส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองอย่างถาวร ตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 วัน
  • โรคมะเร็ง โรคระบบประสาทและสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับอวัยวะ ภาวะโคม่า ฯลฯ 

ซึ่งโรคหรือภาวะการเจ็บป่วยเหล่านี้ล้วนมีแนวโน้มที่อาจเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังจนต้องดูแลรักษาต่อเนื่องที่บ้าน และเป็นผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง ได้ในที่สุด

ดังนั้น การมีประกันโรคร้ายแรง ก็เปรียบเสมือนการมีกันชนที่พอจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวัน และการดูแลรักษาพยาบาลระยะยาวที่บ้านหรือสถานดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้

แต่สิ่งสำคัญของการพิจารณาเลือกทำประกันโรคร้ายแรง นั่นคือ ควรพิจารณาเลือกวงเงินเอาประกันภัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยในระยะยาว พร้อมทั้งควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองก่อนทำประกันภัย และที่สำคัญที่สุดคือ การทำประกันขณะที่สุขภาพยังแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อการมีหลักประกันที่มั่นคงและยืนยาวต่อไป