ต่างชาติซื้อ ‘บอนด์ไทย’ ติดอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย

ต่างชาติซื้อ ‘บอนด์ไทย’ ติดอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย

นับตั้งแต่เปิดไตรมาส 3 ปี 2567 “ธนาคารกลางสหรัฐ” (เฟด) ให้น้ำหนักในการ “ลดอัตราดอกเบี้ย” โดยไม่ลังเลใจอีกต่อไป !! หลังความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” (Recession)

 ดังนั้น ตลาดจึงคาดหวังเฟดจะลดดอกเบี้ย “3 ครั้งในปีนี้” ซึ่งเริ่มเดือนก.ย. ถัดไปเดือนพ.ย. และเดือนธ.ค. 2567 ซึ่งคาดว่าแต่ละครั้งลดดอกเบี้ยระดับ 0.25% หรือมากกว่าที่ระดับ 0.5% หรือถึงสิ้นปีนี้ลดดอกเบี้ยราว 1% กว่า สะท้อนทิศทางดอกเบี้ยเฟดหมด “ยุคขาขึ้น” แล้ว

ประกอบกับธนาคารกลางบางประเทศในเอเชียอย่าง “ธนาคารกลางญี่ปุ่น” (BOJ) ขึ้นดอกเบี้ยสวนที่ 0.25% เงินเยนแข็งค่าขึ้นเร็ว เป็นจังหวะการเข้ามาเพื่อ “เก็งกำไร” ในตลาดตราสารหนี้ ที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชีย โดยเปรียบเทียบกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

ต่างชาติซื้อ ‘บอนด์ไทย’ ติดอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย

ทำให้ “การลงทุนทั่วโลก” เริ่มปรับพอร์ตการลงทุนลดความเสี่ยง และบางจังหวะเข้ามาเก็งกำไร สะท้อนจากเริ่มเห็น “เม็ดเงินต่างชาติ” (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับเข้าสู่ “สินทรัพย์ปลอดภัย” อย่าง “ตลาดตราสารหนี้” (บอนด์) ใน “8 ประเทศเอเชีย”

รายงานข้อมูลของ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2567 ถึงปัจจุบัน (QTD) พบว่า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าใน “8 ตลาดบอนด์เอเชีย” มูลค่าสุทธิ 52,257.60 ล้านดอลลาร์ นำทีมโดย

อันดับ 1.“ตลาดจีน” +39,391.6  ล้านดอลลาร์ (YTD ยังมากที่สุด +80,845.30 ล้านดอลลาร์)

อันดับ 2.“ตลาดฟิลิปปินส์” +3,330.40 ล้านดอลลาร์ (YTD +2,282.90 ล้านดอลลาร์)

อันดับ 3.“ตลาดอินเดีย” + 3,111.90 ล้านดอลลาร์ (YTD +11,475.20 ล้านดอลลาร์)

 อันดับ 4 “ตลาดไทย” +1,926.50 ล้านดอลลาร์ (YTD +656.4 ล้านดอลลาร์) 

อันดับ 5.“ตลาดเกาหลีใต้” +1,557.00 ล้านดอลลาร์ (YTD+17,919.3 ล้านดอลลาร์)

อันดับ 6.“ตลาดญี่ปุ่น” +1,279.80 ล้านดอลลาร์ (YTD-8,423.9 ล้านดอลลาร์)

อันดับ 7. “ตลาดมาเลเซีย” +1,098.70 ล้านดอลลาร์ (YTD+1,389.7ล้านดอลลาร์)

อันดับ 8.“ตลาดอินโดนีเซีย” +561.70 ล้านดอลลาร์ ( YTD -852.80 ล้านดอลลาร์)

“พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย สะท้อนภาพ "ธีมหลัก” ของการลงทุนทั่วโลก ว่า ตลาดเริ่มเปลี่ยนมุมมองการลงทุน จากปัจจัยผลักดันฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์เอเชียคือ แนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยเฟด จากเดิมที่คาดอาจลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง แต่ต้นเดือนก.ค. กลายมาเป็น 2-3 ครั้งในช่วงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา  

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดเริ่มมองถึง 3 การเปลี่ยนแปลงว่า 1.ธนาคารกลางในฝั่งประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย (EM Asia) เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้ และไทย น่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ 2.เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และ 3.ผลกระทบการ Unwind JPY-carry trade ที่เร่งการแข็งค่าของเงินเยนญี่ปุ่น กดดันเงินดอลลาร์ ทำให้สกุลเงินฝั่ง EM Asia ส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นชัดเจน พร้อมกับทำให้ตลาดการเงินผันผวนหนัก ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง

หากพิจารณารายละเอียดรายตลาดบอนด์ เฉพาะในประเทศเกิดใหม่เอเชีย เริ่มจาก 1.อินเดีย ตลาดทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ ตามมุมมองว่า RBI น่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ อย่างน้อย 1 ครั้งปีนี้ ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินเดียก็อยู่ระดับสูง 6.5% 

2.ไทย มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสุทธิเป็นอันดับ 4 กลุ่มประเทศเอเชีย จากรายละเอียดประเภทบอนด์จะเห็นได้ว่า เป็นนักลงทุนต่างชาติซื้อบอนด์สั้น มากกว่าบอนด์ยาว ซึ่งน่าจะสะท้อนการทยอยเข้าลงทุนในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บอนด์ระยะยาวไทยก็มีแรงซื้อพอสมควร ตามบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ และมุมมองผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว 1-2 ครั้ง ในช่วง 1 ปี ข้างหน้าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงประมาณ 1.7%

3. เกาหลีใต้ ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3.5% อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง 0.90% ไม่มาก แต่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินวอน รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ และคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้น่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้าง

4.ญี่ปุ่น มองว่านักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ญี่ปุ่น เนื่องจากยีลด์สูงขึ้น และมีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นได้ ตามการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของ BOJ ทำให้ เมื่อนักลงทุนต่างชาติ ลงทุนในบอนด์ญี่ปุ่นแล้วแปลงกลับมาเป็นสกุลเงินต้นทาง (ปิดความเสี่ยงค่าเงินหมด Fully Hedged) จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นพอสมควร และละบางส่วนก็น่าจะเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน หลังเงินเยนญี่ปุ่นทยอยแข็งค่าขึ้น และมีโอกาสแข็งค่าขึ้นเร็ว แรง ตามการ Unwind JPY carry trade

5.อินโดนีเซีย มองมีความคล้ายกับฝั่งไทย คือ ได้อานิสงส์จากการแข็งค่าขึ้นของเงิน IDR ส่วนบอนด์ยีลด์ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 6.25% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง 4.1% 

“จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซียไซรัส มองว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน หากมองโดยภาพรวม ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์ประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเห็นว่าตลาดบอนด์ 8 ประเทศในเอเชีย นักลงทุนมีการขายบอนด์ในประเทศ “ดอกเบี้ยขึ้น” หรือ “ไม่ลดดอกเบี้ย” หากเทียบกับปีก่อน “เงินออกจากตลาดบอนด์ญี่ปุ่นน้อยลง  และเข้าอินเดียกับจีนมากขึ้น” 

ดังนั้น ในส่วนของ “ไทยที่มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นอันดับ 4” ได้อานิสงส์ดอลลาร์อ่อนค่า ช่วยให้มีฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาค่อนข้างมาก และแนวโน้มปลายปีนี้ยังมองบวกทั้งหมดทุกประเทศหากเฟดลดดอกเบี้ย เงินเฟ้อปรับลดลง และเซนทิเมนต์ลงทุนที่ไม่ Bullish มากเหมือนช่วงต้นปีมานี้ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์