Black Monday 2024 เราเรียนรู้อะไร | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ซื้อเสื้อที่ระลึกเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเงินโลก ที่เริ่มต้นขึ้นจากการล้มละลายของ Lehman Brothers วานิชธนกิจขนาดใหญ่ของโลกเมื่อปี 2008 โดยหารู้ไม่ว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ วิกฤติตลาดหุ้นโลกก็เกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายกัน
โดยหุ้นถูกเทขายทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐและญี่ปุ่นที่ตกต่ำกว่า 5-12% ในวันเดียว ขณะที่หุ้นทั่วโลกตกต่ำในระดับ 2-5% ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
สถานการณ์เหล่านั้นเป็นผลจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) นโยบายการเงินที่ผิดพลาด (โดยเฉพาะญี่ปุ่น) (2) กระแสการเก็งกำไรที่มีมากในช่วงก่อนหน้า และ (3) ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ภาพ เสื้อที่ระลึกเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเงินโลก
โดยการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ 0.25% รวมถึงผู้ว่าการฯ ประกาศว่าพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อหากจำเป็น เพื่อดูแลเงินเฟ้อและค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนค่าเกินไป
ประกอบกับตัวเลขตลาดแรงงานที่ชะลอลง ทำให้ตลาดมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พร้อมจะลดดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยคาด ทำให้ตลาดปรับความคาดหวังในทิศทางนโยบายการเงินโลก ท่ามกลางราคาหุ้นที่ปรับขึ้นค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หุ้นสหรัฐ หุ้นญี่ปุ่น รวมถึงหุ้นโลกปรับลดลงรุนแรง และทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง
หลายฝ่ายมองว่า สถานการณ์ Black Monday 2024 ครั้งนี้ อาจสามารถเปรียบได้กับ 3 สถานการณ์ก่อน คือ (1) สถานการณ์ Black Monday 1987 (2) สถานการณ์ กองทุน Long-Term Capital Management (LTCM) ล้มในปี 1998 (หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง) และ (3) วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008
(1) Black Monday เกิดในวันที่ 19 ต.ค. 1987 โดยตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักลงทุนที่ได้กู้ยืมเพื่อลงทุน (Leverage) มากเกินไปหลังจากที่ดัชนีหุ้น DJIA เพิ่มขึ้นถึงกว่า 39% จากต้นปีจนถึงเดือน ส.ค.
และหลังจากที่คณะกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมายที่จะลดส่วนลดทางภาษีจากการร่วมทุนและการทำ leveraged buyouts ทำให้ตลาดตื่นตระหนก เกิดการเทขายหุ้น และเมื่อหุ้นตกลง ส่งผลให้ทั้งเกิดการเรียกหลักประกัน (Margin call) จำนวนมาก
(2) วิกฤติกองทุน LTCM ในปี 1998 สถานการณ์เลวร้ายกว่ามาก แม้ว่าหุ้นจะฟื้นตัวเร็วกว่าก็ตาม โดยกองทุน LTCM เป็น hedge fund ที่มีสถานะกู้ยืมสูง (highly leverage) ที่ขาดทุนและผิดนัดชำระหนี้หลังการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (ซึ่งเป็นผลจากการลุกลามจากวิกฤติต้มยำกุ้ง)
การล้มของ LTCM มีแนวโน้มว่าจะลุกลาม ทำให้ Fed ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยสามครั้ง รวมถึงรวบรวมสถาบันการเงินให้เข้ามาช่วยเหลือบริษัทและปิดกองทุนในที่สุด โดยตลาดหุ้นใช้เวลา 4 เดือนก็สามารถฟื้นตัวเข้าสู่จุดเดิม แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดฟองสบู่ดอทคอม ซึ่งแตกลงในปี 2001 และนำไปสู่วิกฤติ
ปัจจัยที่คล้ายกันระหว่างวิกฤติ LTCM และสถานการณ์ Black Monday 2024 คือนักลงทุนบางส่วนทำธุรกรรม “carry trade” โดยกู้ยืมเงินเยนที่ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุนในตลาดต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงซื้อสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
เช่น สกุลเงินเม็กซิกันเปโซหรือดอลลาร์ ซึ่งการที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐผันผวนก็ทำให้นักลงทุนบางส่วนขาดทุนเช่นกัน แต่ที่แตกต่างกันคือ ยังไม่มีข่าวที่มีกองทุนขนาดใหญ่ใดขาดทุนเป็นจำนวนมากจากสถานการณ์ Black Monday 2024
(3) วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่า 2 วิกฤติแรก แต่ไม่น่าจะเหมือนกับสถานการณ์ Black Friday-Monday 2024 ในปัจจุบัน
เพราะสถานการณ์ครั้งนี้ ไม่มีธนาคารขนาดใหญ่ที่ล้มเช่นเดียวกับ Lehman Brothers และแม้ว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมีความเสี่ยงฟองสบู่ในพันธบัตรรัฐบาล แต่ภาคการเงินมีกู้ยืมหรือ Leverage น้อยกว่าวิกฤตปี 2008 มาก และมีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity risk) รวมถึงมีความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic risk) น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ต้องจับตาในสถานการณ์ครั้งนี้คือ มูลค่าของหุ้นกลุ่ม AI ที่ขึ้นมามากและอาจทำให้ราคาหุ้นตกลงได้อีก ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะลดลง 30% จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. แล้วก็ตาม
หากสถานการณ์ Black Monday ครั้งนี้ เป็นสถานการณ์ด้านการเงินที่เริ่มจากความกังวลด้านเศรษฐกิจ คำถามคือ เศรษฐกิจโลกเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ซึ่งอาจพิจารณาจาก 4 มาตรวัดหลัก อันได้แก่
1.ตลาดแรงงาน พบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่วัฏจักรนี้อาจแตกต่างออกไป เพราะเป็นการคลายตัวของตลาดแรงงานที่ตึงตัวเป็นพิเศษในช่วงสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นายจ้างที่ต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานและความต้องการที่สูงขึ้นมาก
2.อาจวัดได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แต่ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ทั่วโลกของประเทศพัฒนาแล้วกำลังไปได้ดี
3.ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจปัจจุบัน (Concurrent economic indicator) ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งจัดทำโดย Fed สาขา Dallas ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ S&P Global หรือดัชนีบ่งชี้กิจกรรมปัจจุบัน (Current activity index) ที่จัดทำโดยสำนักวิจัย Goldman Sachs ก็ตาม ทั้งหมดซึ่งโดยรวมยังดีต่อเนื่อง
และ 4.อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้ธนาคารกลางมีโอกาสที่จะสามารถลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น
โดยสรุป ผู้เขียนมองว่า
1.เศรษฐกิจโลกปัจจุบันยังห่างไกลกับสภาวะถดถอย โดยเครื่องชี้ว่าเศรษฐกิจจริงต่างๆ หรือแม้กระทั่ง GDP เองยังอยู่ในโซนที่แข็งแกร่ง
2.ในส่วนของการลงทุน ยังไม่มีการเก็งกำไรที่ใช้สถานะกู้ยืมสูง (highly leverage) ที่จะนำไปสู่การปรับสถานะรุนแรง แต่อาจมีนักลงทุนบางส่วนทำธุรกรรม Yen carry trade ทำให้ต้องปรับสถานะ แต่ปัจจุบันก็มีการปรับสถานะไปแล้วส่วนหนึ่ง
3.ในปัจจุบันไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง (Liquidity risk) รวมถึงมีความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic risk) มากเท่าวิกฤติก่อนๆ แต่อาจต้องจับตามูลค่าของหุ้นกลุ่ม AI ที่ขึ้นมามาก
อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงมายาวนานโดยเฉพาะในสหรัฐอาจนำไปสู่ภาวะผันผวนได้บ้าง ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ Fed จะช่วยปรับสมดุลให้กับการลงทุนได้ในระยะต่อไป
แต่แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงไปได้ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลง ภาวะกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือ Leverage มีไม่มากนัก รวมถึงยังไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่องหรือความเสี่ยงเชิงระบบ แต่ยกที่หนึ่งของความผันผวนปั่นป่วนเริ่มต้นขึ้นแล้ว และมีแต่จะมากขึ้นในอนาคต ผู้อ่านทุกท่าน โปรดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด