AI กับความเหลื่อมล้ำของแรงงานที่ประมาทไม่ได้
57% ของพนักงานในองค์กร แสดงความต้องการอยากให้องค์กรของพวกเขาจัดอบรมทักษะในการใช้ AI ให้กับพนักงาน!
โดยผลสำรวจแรงงานทั่วโลกประจำปีที่ผ่านมาของ Adecco Group ที่สำรวจพนักงานกว่า 30,000 คน ใน 23 ประเทศ แสดงให้เห็นอัตราการนำ Gen AI มาใช้ในที่ทำงานสูงถึง 70% หรือเกือบสามในสี่ของคนทำงานบอกว่าพวกเขาใช้มันหรือเครื่องมือที่คล้ายกันช่วยทำงาน และ 62% บอกว่าผลกระทบของ AI ที่มีต่องานของพวกเขาเป็นไปในทางบวก โดยสามารถช่วยประหยัดเวลาและทำให้พวกเขามุ่งเน้นไปที่งานที่สำคัญกว่าได้มากขึ้น
กระบวนการทำงานที่มี HUMAN+AI ควบคู่กันคือสูตรที่สามารถสร้างความได้เปรียบได้มากกว่าการมีเพียง AI หรือ HUMAN เพียงลำพัง ดังนั้น HUMAN ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ AI ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ราบรื่นและเสริมความแข็งแรงขององค์กรไปด้วยกัน
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผลการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ให้เห็นว่า AI กำลังส่งผลกระทบต่อแรงงานทั่วโลก และอาจขยายความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์จาก AI และผลการศึกษาจาก PWC พบว่าแรงงานในประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการตกงานมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้
กลุ่มคนทำงานที่มีรายได้สูงและ/หรืออายุน้อยมีแนวโน้มที่สามารถเพิ่มค่าจ้างได้อย่างมีนัยสำคัญ หลังนำ AI มาใช้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลุ่มคนทำงานที่มีรายได้ต่ำและ/หรืออายุมากกว่าอาจยิ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ อาจรวดเร็วและรุนแรงยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่เคยมีมาในรอบก่อนๆ
ดังนั้นการฝึกอบรมทักษะและสร้างระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้องสำหรับแรงงานกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญสำหรับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา
โดย IMF ยังพบอีกว่ามีเพียง 64% ของนายจ้างในไทยที่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ AI ได้ตามที่ต้องการ และ 81% ของแรงงานยังไม่แน่ใจว่าทักษะ AI จะนำไปใช้ในอาชีพใดได้บ้าง ในขณะที่ International Institute for Management Development (IMD) พบว่าประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเพียง 1% ของประชากร (หรือประมาณ 5.8 แสนคน) เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอยู่ถึง 8% ของประชากร
ยกเครื่องการศึกษาและพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมรับความเหลื่อมล้ำจาก AI
บูรณาการ AI เข้ากับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน: ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือสนับสนุน ลดการเรียนที่เน้นการท่องจำและการวัดผลแบบดั้งเดิมที่ไม่ใช่ทักษะสำคัญของแรงงานในยุคนี้ มุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน เพิ่มการเรียนรู้แบบสหวิทยาการหรือการเรียนรู้ผสมผสานจากหลากหลายสาขา (Interdisciplinary Learning) และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดการเรียนรู้
เพิ่มความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม: ส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านโครงการความร่วมมือและการฝึกงานให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมได้บุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะตรงกับความต้องการ
ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ด้วย AI มากกว่าการทดแทนมนุษย์: องค์กรต่างๆ ควรเน้นสนับสนุนการวิจัยรวมถึงทุนวิจัยให้กับโครงการที่พัฒนา AI ในแนวทางเพื่อเป็นเครื่องมือเสริมการทำงานของมนุษย์มากกว่าแนวทางที่จะทดแทนมนุษย์โดยสิ้นเชิง รวมถึงสนับสนุนการใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
ยกระดับวัฒนธรรมด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับบุคลากรและองค์กรต่างๆ: ในยุคที่เทคโนโลยีช่วยให้การเข้าถึงความรู้พื้นฐานเป็นไปอย่างรวดเร็ว การปลูกฝังวัฒนธรรมด้านการวิจัยและพัฒนาจะช่วยลดช่องว่างทางความรู้และส่งเสริมการประยุกต์ใช้ทักษะในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สร้างระบบนิเวศน์ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต: สร้างโอกาสให้แรงงานทุกระดับเข้าถึงองค์ความรู้ พัฒนาทักษะ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้อย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิตการทำงาน รวมถึงการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ในแต่ละช่วงของชีวิต ซึ่ง AI สามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นง่ายดายกว่าเมื่อก่อน
ส่งเสริมการสร้างทักษะและสร้างงานในสาขาที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้: ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่เป็นจุดแข็งของมนุษย์ เช่น ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทักษะและความคิดในเชิงวิพากษ์ ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ความฉลาดทางอารมณ์ ความเอาใจใส่ จริยธรรม และมนุษยสัมพันธ์ เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพที่มีความยั่งยืนในยุค AI