‘ค่าเงินเอเชีย’กอดคอแข็งค่าสูงสุดรอบ 7 เดือน คลายกังวลเศรษฐกิจถดถอย

‘ค่าเงินเอเชีย’กอดคอแข็งค่าสูงสุดรอบ 7 เดือน คลายกังวลเศรษฐกิจถดถอย

‘ค่าเงินเอเชีย’พุ่งทะยาน! แข็งค่าสูงสุดรอบ 7 เดือน หลังคลายกังวลเศรษฐกิจถดถอย หวังเฟดลด'ดอกเบี้ย' เดือน ก.ย. หนุนเศรษฐกิจเอเชียสดใส นักวิเคราะห์มอง นักลงทุนทุ่มเงินลงทุนเข้าหุ้นเอเชีย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (19 ส.ค.)ว่าความเคลื่อนไหว “ค่าเงินเอเชีย” พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะถดถอยในสหรัฐลดลง และเดิมพันการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า พร้อมกับสถานการณ์ภายในประเทศที่ดีขึ้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น

‘ค่าเงินเอเชีย’กอดคอแข็งค่าสูงสุดรอบ 7 เดือน คลายกังวลเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนีเงินดอลลาร์เอเชียของบลูมเบิร์ก เพิ่มขึ้น 0.6%  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. เนื่องจาก “เงินวอน” ของเกาหลีใต้และ “ริงกิต” ของมาเลเซียแข็งค่า   จากทั้งสองประเทศมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง

คริสโตเฟอร์ หว่อง นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังมีช่องว่างให้ค่าเงินในเอเชีย(ยกเว้นญี่ปุ่น)ฟื้นตัวท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยมองว่าเป็นสถานการณ์ที่พอเหมาะพอดี ในขณะที่ความกังวลเรื่องภาวะถดถอยในสหรัฐจางลง  เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโตแม้จะอยู่ในระดับปานกลาง

นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs Group Inc. ได้ปรับลดความน่าจะเป็นของการเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐในปีหน้าลงเหลือ 20% จาก 25%  โดยอ้างถึงข้อมูลยอดค้าปลีกและการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่ดีกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว และ "มั่นใจมากขึ้น" ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมนโยบายเดือนก.ย.

“ริงกิต”แข็งค่าขึ้น

“ค่าเงินริงกิต” แข็งค่าขึ้นสูงสุด 1.5% แตะระดับ 4.3678 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. หลังจากที่มาเลเซียรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและสูงกว่าที่คาดการณ์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทเงินเข้าตลาดหุ้นมาเลเซียมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.

 

เงินบาทแข็งค่า

เงินบาทแข็งค่า ต่อเนื่องแตะระดับ 34.409 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค. จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ คนที่ 31 ของไทย 

การคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยในสหรัฐที่ลดลงป็นปัจจัยบวกสำหรับประเทศในเอเชียที่เน้นการส่งออก นำโดย

 

 เงินวอน เกาหลีใต้

ค่าเงินวอน แข็งค่าขึ้น 1.5% แตะระดับ 1,331.35 วอนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.

 

เงินเปโซของฟิลิปปินส์

ค่าเงินเปโซ แข็งค่าขึ้น 1% แตะระดับ 56.66 เปโซต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.

 

เงินเยนญี่ปุ่น

ค่าเงินเยน แข็งค่าขึ้นสูงสุด 1.2% แตะระดับ 145.87 เยนต่อดอลลาร์  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนที่จับตามองการปรากฏตัวของอุเอดะ คาซุโอะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ต่อหน้ารัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ โดยนักลงทุนต่างรอคอยที่จะฟังสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น

 

ดัชนีดอลลาร์สปอต ของ Bloomberg ปรับตัวลดลง 0.3% ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนที่รอฟังคำปราศรัยของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ในการประชุม Jackson Hole ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้นเกือบ 1% มุ่งหน้าสู่การปิดตลาดที่ระดับสูงสุดในรอบหนึ่งเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น

โทโมะ คิโนชิตะ นักกลยุทธ์ตลาดโลกของ Invesco Asset Management Japan มองว่าตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะสดใสขึ้นในไตรมาสต่อๆ ไป ผลจากมุมมองเชิงบวกนี้ ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะจัดสรรเงินทุนเพิ่มขึ้นให้กับตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย 

 

 

อ้างอิง Bloomberg