เงินบาท ผันผวน 'แข็งค่า' ทุบสถิติเกือบ 13 เดือน จับตาตลาดเปลี่ยนมุมมอง
มติ “กนง.” 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ย 2.5% ตามคาด พร้อมคาด "ตรึงดอกเบี้ย" ในการประชุมครั้งถัดไป 16 ต.ค.นี้ ส่งผลให้ "ค่าเงินบาท" พลิกอ่อนค่าลงเล็กน้อย ปิดตลาดที่ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงเช้าบาทแข็งค่าสูงสุดทุบสถิติในรอบเกือบ 13 เดือน จ่อหลุดระดับ 34 บาท
KEY
POINTS
- เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน แตะระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ ด้าน "กนง." ชี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับโลก
- หลังตรึงดอกเบี้ย 2.50%ตามคาด เงินบาทพลิก "อ่อนค่าเล็กน้อย" ปิดตลาดที่ 34.34 บาทต่อดอลลาร์
- “กรุงศรี” มองเงินบาทช่วงนี้ "พักฐาน" หลังแข็งค่าขึ้นเร็ว พร้อมย้ำท่าทีกนง.ระวังมากขึ้น ยองรับมีปัจจัยเสี่ยง “นโยบายรัฐบาลใหม่” ไม่แน่นอนเพิ่มเข้ามา
- “กรุงไทย” ชี้บาทพลิกอ่อนค่า หลังตลาดปรับสถานะถือครอง ปิดสถานะ “ซื้อ” ทั้ง"ดอลลาร์-ทองคำ-บอนด์ไทย" รอลุ้นถ้อยแถลงเฟดต่อไป
- "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ปรับมุมมองค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้น สิ้นปีอยู่ที่ 34.50บาทต่อดอลลาร์ จาก 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ด้วยเซ็นติเม้นท์ดอลลาร์ยังอ่อนค่าในระยะสั้น
วานนี้ (21 ส.ค.) ผลการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี โดย กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ โดยได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้การบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อ
หลังการประกาศผลการ ประชุม กนง. ช่วงบ่ายวานนี้ "เงินบาท" เคลื่อนไหว "อ่อนค่าลงเล็กน้อย" มาอยู่ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับอ่อนค่าสูงสุดของวัน และมีระดับแข็งค่าสูงสุดของวันในช่วงเช้า ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ แตะระดับแข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ 13 เดือน (นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค.2566)
ขณะที่ ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ค่าเงินบาทในปี 2567 (YTD) “อ่อนลง” เพียง 0.2% โดย กนง. ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงหลัง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวลงตามทิศทางของสหรัฐฯ
“กรุงศรี” มองกรอบค่าเงินบาทที่ 34.00-35.50 บาทต่อดอลอลาร์
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ประเมินท่าทีของคณะกรรมการกนง. วานนี้ว่าบ่งชี้สัญญาณที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยระบุว่าในอนาคตจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงด้านขาลงของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เรายังคงเห็นว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป แต่ยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่เพิ่มเข้ามาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงนี้ "เงินบาท" อาจพักฐาน หลังแข็งค่าเร็ว และในช่วงที่เหลือของปี แนวโน้มผันผวนสูง ตามการคาดการณ์นโยบายเฟด (เราคาดเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยเดือน ก.ย. โดยลดครั้งละ 0.25% รวมปีนี้ลด 0.75% และลดต่อเนื่องในปีหน้า) และนโยบายด้านการค้าหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกทั้งตลาดจะรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อไป มองกรอบค่าเงินบาท ไตรมาส 3 ปีนี้ ที่ 34.00-35.50 บาทต่อดอลอลาร์ และไตรมาส 4 ปีนี้ ที่ 33.75-35.75 บาทต่อดอลลาร์
กนง. ชี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับโลก
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หากเทียบกับโลกถือว่า “อินไล” หรือสอดคล้องกับ ก่อนหน้าเงินบาทถือว่าอ่อนค่า โดยใกล้เคียงระดับ ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น หากเทียบตั้งแต่ต้นปี ถือว่าเงินบาทปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่การที่เห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จากการที่ตลาดมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น หรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีปัจจัยเฉพาะของไทยบ้าง เช่น จากการที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการส่งออกทองคำค่อนข้างมาก และ2-3วันที่ผ่านมาจากความชัดเจนจากรัฐบาล ทำให้ภาพรวมดูมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้นภาพรวมถือว่าเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าง และมีเหตุมีผล
เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันถือว่าแข็งค่าต่อเนื่อง โดยมีจุดที่แข็งค่าที่สุดของวันอยู่ที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่ ก.ค.ปี 66
โดยการกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาท เริ่มเห็นตั้งแต่ก.ค. ส.ค. ที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ส่วนใหญ่ๆมาจากการที่นักลงทุนมองว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในช่วงการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าหากเทียบกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค
อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากแข็งค่าตามค่าเงินดอลลาร์ที่มีเซ็นติมเม้นท์อ่อนค่าลง ยังมาจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวทำสถิติสูงสุดใหม่ (ออลล์ไทม์ไฮ) ต่อเนื่อง ที่มีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าด้วย น
อกจากนี้ยังมาจากเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติที่กลับมาซื้อบอนด์ต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดต่างชาติเหลือขายสุทธิเพียง 1.49 หมื่นล้านบาท หากเทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จากเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดบอนด์มากที่สุดคือ 7.7 หมื่นล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ จากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับมุมมองค่าเงินบาท โดยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในสิ้นปีอยู่ที่ 34.50บาทต่อดอลลาร์ จาก 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ในระยะสั้นด้วยเซ็นติเม้นท์ดอลลาร์ที่ยังอ่อนค่า อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าและหลุดระดับ 34.00ต่อดอลลาร์ได้ในระยะสั้นๆนี้
จับตาผู้เล่นในตลาดเปลี่ยนมุมมองระยะสั้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อย มาจากจังหวะดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง และมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ จากราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ปรับตัวลดลงมาโซนแนวรับแถว 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แล้วก็น่าจะมีการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดด้วย ทั้งฝั่งซื้อเงินบาท ( Long THB) กับที่เข้ามาซื้อบอนด์ไทย
โดย มองว่า ผลสำรวจสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดล่าสุดจากทาง Reuters ได้สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดได้กลับมามีสถานะ Long THB (ซื้อ มองเงินบาทแข็งค่า) มากขึ้น (-0.57 จาก -3 ซึ่งจะสะท้อนสถานะ Long THB มากที่สุด) จากช่วงก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดคงสถานะ Short THB (ขาย มองเงินบาทอ่อนค่ามาโดยตลอด) ทำให้ต้องระวังในกรณีที่ผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับสถานะดังกล่าวได้บ้างในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม การปรับสถานะดังกล่าว อาจไม่ได้รุนแรงจนทำให้ เงินบาทกลับไปอ่อนค่าหนัก เช่น ทะลุโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าเงินบาทจะเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าที่ชัดเจนและมีผลกระทบมาก
ขณะเดียวกัน หากเงินบาทได้รับปัจจัยหนุนการแข็งค่าขึ้นเพิ่มเติม อาจหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ ตามการเพิ่มสถานะ Long THB ของผู้เล่นในตลาด ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้นอาจไม่ค่อยมีแล้ว