ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ส.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ส.ค.67 ‘แข็งค่า‘  ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ส.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินบาทไม่สามารถอ่อนค่า จากราคาทองทยอยรีบาวด์ ขึ้นต่อเนื่อง จากหวังเฟดลดดอกเบี้ย และสถานการณ์ความขัดแย้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.90-34.10 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” ระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.94 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.91-34.06 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ คาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 2 รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด 

ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ส.ค.67 ‘แข็งค่า‘  ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง

ทว่า เงินบาทยังคงไม่สามารถอ่อนค่าต่อเนื่องได้ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ก็สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,520-2,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อมั่นว่า เฟดอาจมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ (เราคาดว่า ตลาดอาจเปลี่ยนมุมมองได้ หากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน ออกมาดีกว่าคาด) 

นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งการปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา  

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราคาดตลาดการเงินจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวันนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง ECB และ เฟด หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อของทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB 

 

โดยในกรณีที่ บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ก็ชะลอลงมากกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว -75bps ในปีนี้ ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้บ้าง เนื่องจากล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจมากนัก ว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว -75bps ทั้งนี้ เรามองว่า ตราบใดที่ตลาดหุ้นยุโรปยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ เงินยูโร (EUR) ก็อาจยังพอได้แรงหนุนและไม่สามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านสำคัญ ซึ่งเป็นจุดสูงสุด All time high เพิ่มความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นยุโรปอาจปรับตัวลงได้ไม่ยาก หากเผชิญปัจจัยกดดัน

 

นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ เช่นกัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังไว้สูงว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE จะไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมากนัก จนทำให้ เฟดอาจเปลี่ยนใจไม่เริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้หากอัตราเงินเฟ้อ PCE กลับเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด ก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง แต่เรามองว่าโอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีไม่มากนัก ทำให้เราเชื่อว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาดบ้าง ก็อาจไม่ได้ส่งผลกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน เพราะผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ที่จะรายงานในสัปดาห์หน้ามากกว่า 

ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำได้เช่นกันในช่วงนี้ โดยเราคงมองว่า ราคาทองคำอาจยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ราคาทองคำก็อาจยังคงติดโซนแนวต้านและมีโอกาสที่จะย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งเราเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะเข้าซื้อในช่วงราคาทองคำย่อตัวลง และรอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ

อนึ่ง เราคงประเมินว่า เงินบาทจะมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20 ขณะที่โซนแนวรับของเงินบาทดูจะอยู่ในช่วง 33.90 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นได้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับถูกกดดันจากแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia -6.4% หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตของ Nvidia ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.23% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.004% ย่อลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.76% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หลังอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ชะลอตัวลงต่อเนื่อง มากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML +3.0% สวนทางกับการปรับตัวลดลงหนักของหุ้น Nvidia ในฝั่งสหรัฐฯ 

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.87% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงจนหลุดกรอบ 3.80%-4.00% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งจะสะท้อนว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน หรือ การประชุมครั้งถัดๆ ไป หรือไม่ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า จังหวะในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่ดี คือ เน้นรอ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าที่จะไล่ซื้อในช่วงที่บอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวลดลง รับรู้มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้ว  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 145.5 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายปรับสถานะของผู้เล่นในตลาด หลังเงินดอลลาร์ทยอยรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.1-101.6 จุด) อนึ่ง เราคงประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้ราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,560 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนสิงหาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดชัดเจน (มากกว่า +0.2%m/m) ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายน 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนสิงหาคม