การทวงความเป็นธรรมของเลสเตอร์เหนือพรีเมียร์ลีกในคดีกฎ ‘PSR’

การทวงความเป็นธรรมของเลสเตอร์เหนือพรีเมียร์ลีกในคดีกฎ ‘PSR’

การทวงความเป็นธรรมของเลสเตอร์ ซิตี(Leicester City)เหนือพรีเมียร์ลีกในคดีกฎ Profit and Sustainabilty rules (PSR)

KEY

POINTS

  • พรีเมียร์ลีกได้ดำเนินการส่งเรื่องการกระทำผิดกฎ PSR ขอเลสเตอร์ ให้แก่คณะกรรมการอิสระได้ตรวจสอบเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ว่ามีการฝ่าฝืนกฎหรือไม่ตามกรอบเวลา 3 ปี ซึ่งสิ้นสุดที่จบฤดูกาล 2022-23
  • ข้อโต้แย้งของเลสเตอร์ระบุไปยังวันสุดท้ายของบัญชีการเงินในปี 2023 ซึ่งเป็นวันที่ 30 มิถุนายน เป็นช่วง 2 สัปดาห์ให้หลังแล้ว หลังจากที่สโมสรได้โอนถ่ายหุ้นในพรีเมียร์ลีกให้แก่ลูตัน ทาวน์ ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นมา
  • “มีโอกาส” ที่เลสเตอร์จะถูกดำเนินคดีใหม่อยู่สำหรับการตรวจสอบรอบบัญชีฤดูกาล 2023-24 ซึ่งจะมีการดำเนินการภายในสิ้นปีนี้  
  • ถึงแม้ว่าการกระทำผิดของแมนฯ ซิตี กับเลสเตอร์จะเป็นคนละเรื่องไม่สามารถหยิบมาเปรียบเทียบกันได้ (และไม่ควร) แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเชื่อว่า “ช่องโหว่” ในกฎของพรีเมียร์ลีกที่เลสเตอร์หยิบมาใช้เพื่อปกป้องตัวเองนั้น อาจเป็นการจุดประกายให้แมนฯ ซิตี หาช่องโหว่มาใช้เพื่อต่อสู้คดีบ้าง

กลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อทีม “จิ้งจอกสยามเลสเตอร์ ซิตี ได้รับชัยชนะในการยื่นอุทธรณ์คดีกฎการเงินที่เรียกว่า Profit and Sustainabilty rules (PSR) ทำให้ไม่ต้องถูกพรีเมียร์ลีกลงโทษตัดแต้มแต่อย่างใด

เรื่องนี้ถูกจับตามองว่าไม่ได้มีความสำคัญกับแค่เพียงความปลอดภัยของทีมเลสเตอร์ ซึ่งเพิ่งเลื่อนชั้นกลับขึ้นมาสู่พรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎ PSR ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในพรีเมียร์ลีกในช่วง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา

โดยหนึ่งในสโมสรที่กำลังเก็บรายละเอียดอยู่อย่างแน่นอนคือทีม “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่กำลังจะต้องเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีทางการเงินทั้ง 115 คดีในช่วงปลายเดือนนี้

ข้อกล่าวหาที่น่ากังวล

เรื่องราวชัยชนะของเลสเตอร์นั้น เริ่มต้นหลังจากที่พรีเมียร์ลีกได้ดำเนินการส่งเรื่องการกระทำผิดกฎ PSR ขอเลสเตอร์ ให้แก่คณะกรรมการอิสระได้ตรวจสอบเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ว่ามีการฝ่าฝืนกฎหรือไม่

ตามกรอบเวลา 3 ปี ซึ่งสิ้นสุดที่จบฤดูกาล 2022-23 ก่อนที่เลสเตอร์จะตกชั้นลงไปเล่นในลีก เดอะ แชมเปียนชิพ เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

ตามการคำนวณตัวเลขบัญชีของเลสเตอร์หลังจบฤดูกาล 2022-23 พวกเขาขาดทุนเฉพาะฤดูกาลนี้ฤดูกาลเดียวถึง 89.7 ล้านปอนด์

ตัวเลขนี้เมื่อรวมกับผลประกอบการก่อนหน้านั้นในฤดูกาล 2021-22 และฤดูกาล 2020-21 กับ 2019-20 ที่พรีเมียร์ลีกมีการอนุโลมให้นับรวมกันเนื่องจากเป็นช่วงโรคระบาดโควิด-19 เลสเตอร์จะขาดทุนสะสม 3 ฤดูกาลที่ 129.4 ล้านปอนด์

ตามกฎ PSR แล้วมีการอนุโลมให้ขาดทุนสะสม 3 ฤดูกาลที่ 105 ล้านปอนด์ ซึ่งหมายถึงเลสเตอร์ขาดทุนเกินกว่าถึง 24.4 ล้านปอนด์

เมื่อเทียบกับเอฟเวอร์ตันที่ขาดทุนเกิน 19.5 ล้านปอนด์ และถูกลงโทษตัดแต้มถึง 10 แต้ม (ก่อนจะมีการอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 6 แต้ม) ทำให้เลสเตอร์เสี่ยงที่จะโดนตัดแต้มอย่างน้อย 6 แต้มเลยทีเดียว โดยยังไม่รวมองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะถูกนำมาพิจารณาด้วย เช่น ไม่ส่งบัญชีให้ตรวจสอบทันเวลา และมีการดำเนินการทางกฎหมายกับลีก

เพียงแต่สำหรับเลสเตอร์แล้วพวกเขาจำเป็นต้องสู้ เพราะถ้าไม่สู้มีโอกาสจะลำบากมากแน่นอนในฤดูกาลนี้

ชัยชนะของจิ้งจอกสยาม

ด้านเลสเตอร์หลังทราบข้อกล่าวหาได้ดำเนินการต่อสู้คดีทันที โดยตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่สโมสรไม่ได้มีสถานะเป็นสโมสรพรีเมียร์ลีกแล้ว

ข้อโต้แย้งของเลสเตอร์ระบุไปยังวันสุดท้ายของบัญชีการเงินในปี 2023 ซึ่งเป็นวันที่ 30 มิถุนายน เป็นช่วง 2 สัปดาห์ให้หลังแล้ว หลังจากที่สโมสรได้โอนถ่ายหุ้นในพรีเมียร์ลีกให้แก่ลูตัน ทาวน์ ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นมา

โดยสถานภาพในเวลานั้นเลสเตอร์ จึงไม่ได้เป็นสโมสรในพรีเมียร์ลีกอีกต่อไป จึงไม่อาจจะกระทำผิดกฎของพรีเมียร์ลีกได้

ที่สุดแล้วทางด้านคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ตัดสินคดีนี้ได้กลับคำตัดสินให้เลสเตอร์เป็นฝ่ายชนะการอุทธรณ์โดยชี้ว่ากฎระบุเอาไว้เช่นนั้น

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้พวกเขาไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกลงโทษตัดแต้มเหมือนกรณีของเอฟเวอร์ตัน หรือน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมาที่เป็นสถานการณ์ยากลำบากอย่างยิ่ง

"ต๊อบ" อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ผมขอบคุณคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ตัดสินคดีนี้อย่างเที่ยงตรงตามกฎของพรีเมียร์ลีก และคืนความเป็นธรรมให้สโมสรเลสเตอร์ ซิตี

“ที่ผ่านมาเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และจำเป็นต้องต่อสู้คดีนี้เพื่อปกป้องสโมสรและแฟนบอลของเรา ผมโล่งใจที่คดีนี้จบลง สโมสรของเรายังคงมีความท้าทายในการเล่นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ซึ่งเราจะทำให้ดีที่สุด”

รอดครั้งนี้ครั้งหน้าจะรอดไหม?

สิ่งที่น่าจับตามองคือ เลสเตอร์รอดตัวในครั้งนี้ไปได้ โดยที่พรีเมียร์ลีกไม่คิดที่จะอุทธรณ์คดีอีกครั้งแต่อย่างใด แต่อาจจะมีการปรับกฎระเบียบใหม่ให้รัดกุมขึ้นในอนาคต

แบบนี้พวกเขาจะยังมีโอกาสเจอเล่นงานอีกหรือไม่ในครั้งหน้า คำตอบคือ “มีโอกาส” ที่เลสเตอร์จะถูกดำเนินคดีใหม่อยู่สำหรับการตรวจสอบรอบบัญชีฤดูกาล 2023-24 ซึ่งจะมีการดำเนินการภายในสิ้นปีนี้

ความซับซ้อนเล็กน้อยสำหรับการพิจารณาของเลสเตอร์คือ การที่สโมสรตกไปเล่นในลีก เดอะ แชมเปียนชิพ เป็นเวลา 1 ฤดูกาล ทำให้ตัวเลขการขาดทุนสะสม 3 ฤดูกาลจะไม่ใช่ 105 ล้านปอนด์ (เฉลี่ยปีละ 35 ล้านปอนด์) แต่จะเหลือแค่ 83 ล้านปอนด์เท่านั้น

ทั้งนี้เนื่องจากเดอะ แชมเปียนชิพ ซึ่งเป็นลีกในสังกัดอิงลิช ฟุตบอล ลีก (EFL) มีระเบียบว่าอนุโลมให้ขาดทุนได้ 39 ล้านปอนด์ในระยะเวลา 3 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 13 ล้านปอนด์ ตัวเลขจึงลดหลั่นลงมา มองแบบนี้จึงยังมีความเสี่ยงที่เลสเตอร์จะโดนเล่นงานอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

เช่นกันกับเอฟเวอร์ตัน และน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ สองสโมสรที่ถูกเล่นงานหนักในฤดูกาลที่แล้ว โดยเฉพาะทีมแรกที่โดนลงโทษตัดแต้มถึง 2 รอบ อาจจะโดนตัดแต้มอีกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

ชัยชนะของจิ้งจอก ความหวังของเรือใบ?

การรอดตัวของเลสเตอร์ในครั้งนี้ยังถูกมองว่าจะเป็นความหวังสำหรับทีม “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่เผชิญกับข้อกล่าวหาความผิดทางการเงินถึง 115 คดีด้วยกัน

ถึงแม้ว่าการกระทำผิดของแมนฯ ซิตี กับเลสเตอร์จะเป็นคนละเรื่องไม่สามารถหยิบมาเปรียบเทียบกันได้ (และไม่ควร) แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเชื่อว่า “ช่องโหว่” ในกฎของพรีเมียร์ลีกที่เลสเตอร์หยิบมาใช้เพื่อปกป้องตัวเองนั้น อาจเป็นการจุดประกายให้แมนฯ ซิตี หาช่องโหว่มาใช้เพื่อต่อสู้คดีบ้าง

“แมนเชสเตอร์ ซิตี จะมีความหวังจากกรณีของเลสเตอร์ที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการอิสระนั้นพิจารณากฎของพรีเมียร์ลีกในแง่รายละเอียดทางกฎหมายมากกว่าที่จะดูถึงความเหมาะสม”

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือหากมีช่องโหว่ทางข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้แก้ต่างได้ ทางทีมกฎหมายของแมนฯ ซิตี ซึ่งระดมนักกฎหมายระดับสุดยอดของโลกก็พร้อมที่จะหยิบนำมาใช้อย่างแน่นอน

ในมุมผู้เชี่ยวชาญมีทั้งฝ่ายที่มองว่าแมนฯ ซิตีจะถูกตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นปรับตกชั้นได้เลยทีเดียว แต่อีกมุมก็มีฝ่ายที่เชื่อว่าสโมสรที่มีกลุ่มทุนจากอาบูดาบีหนุนหลังมีอำนาจมหาศาลในเกมลูกหนัง และจะพร้อมทำทุกอย่างเพื่อต่อสู้คดี รวมถึงการยื่นฟ้องต่อพรีเมียร์ลีกด้วย ทำให้กระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้ยุ่งยาก

สำหรับการพิจารณา 115 คดีของแมนฯ ซิตี ที่ยืดเยื้อมานาน มีกำหนดจะเริ่มต้นช่วงปลายเดือนนี้ และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการไต่สวนนานถึง 10 สัปดาห์ด้วยกัน โดยถูกจับตามองว่าจะเป็นหนึ่งในคดีประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ หรือแม้แต่ในวงการกีฬาระดับโลก ที่ผลการตัดสินจะกำหนดทิศทางอนาคตของเกมฟุตบอลได้เลยทีเดียว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์