FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ปรับขึ้นสู่ร้อนแรง หวังรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ
FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.- พ.ย.67) ปรับตัวขึ้นสู่เกณฑ์ "ร้อนแรง" ที่ระดับ 132.51 นักลงทุน หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2567) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ
ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะเงินเฟ้อ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ที่ระดับ 132.51
- ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ
“ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 73.6% มาอยู่ที่ระดับ 144.26 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.4% มาอยู่ที่ระดับ 144.44 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 32.0% มาอยู่ที่ระดับ 120.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 275.0% อยู่ที่ระดับ 125.00
ในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2567 SET Index มีความผันผวน และปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศจากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการยุบพรรคก้าวไกล และการถอดถอนนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าได้จะรับข่าวดีจากการประกาศ GDP ไทยในไตรมาส 2/2567 เติบโตสูงกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 2.3% YoY ซึ่งได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก
อย่างไรก็ตาม SET Index ในช่วงครึ่งเดือนหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการเมืองเริ่มมีความชัดเจน โดยมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และออกแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในการแจกเงินสด 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบางในโครงการ Digital Wallet รวมถึงท่าทีของ FED ต่อการลดดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ปิดที่ 1,359.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,133 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 123,692 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งคาดหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุนซึ่งรวมถึงผลการออกกองทุนวายุภักษ์เพื่อกระตุ้นตลาดทุนไทย และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว”
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ที่ ดัชนีระดับ 1,420 จุด ทะลุคาดการณ์ดัชนีฯ ไตรมาส 3/67 ของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ที่ 1,379 จุด ไปแล้ว และทาง IAA เตรียมปรับเป้าหมายใหม่ คาดการณ์ดัชนีฯ สิ้นปีนี้เพิ่มขึ้น จากเดิม (ณ ก.ค.2567) คาดไว้ที่ 1,460 จุด ซึ่งดัชนีระดับฯ 1,460 จุด ถือว่า หากดัชนีปรับขึ้นมาที่ระดับนี้ สะท้อนปัจจัยพื้นฐานจริงๆ หลังจากซบเซามานาน และความกังวลปัจจัยการเมืองในประเทศคลี่คลายลง
และในระยะถัดไปตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกสนับสนุน ทั้งเศรษฐกิจไทย ผ่านจุดต่ำสุดมาระดับหนึ่งแล้ว และกำลังฟื้นตัวขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกเข้าสู่การฟื้นตัว เฟดลดดอกเบี้ยพร้อมกับธนาคารกลางทั่วโลก ลดดอกเบี้ย และมองเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยไม่น่ากังวล เพราะเป็นการถดถอยที่ไม่ลึก และไม่ยาวนาน คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จีดีพียังขยายตัวได้ 3% บวกลบ
"ช่วงที่เหลือปีนี้เศรษฐกิจไทย มีแรงขับเคลื่อน ปลายปี ส่งออกกลับมาโตดี ท่องเที่ยวบูม รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และดึงดูดการลงทุนเอกชนเริ่มกลับมา หลังจากนั้นยังฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่การฟื้นตัวเช่นกัน และกำไรสุทธิ บจ. ครึ่งปีแรก เพิ่ม 10% ปัจจัยพื้นฐานของ บจ. ไม่แย่พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป"
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ทางด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้นการใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลช่วงนี้ ความจำเป็นอาจจะน้อยลง เนื่องจากมองว่า ธปท.ยืนดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยไว้ในช่วงที่รอเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว ซึ่งระดับดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมอยู่ที่ 2-2.5% อาจจะลดดอกเบี้ยลงได้เล็กน้อยเท่านั้น
ดังนั้นกรณีปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูง ซึ่งปัญหากระจุกตัวเฉพาะกลุ่ม ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปได้ และกลุ่มเปราะบาง กลุ่มลูกหนี้รถยนต์ และบ้าน เริ่มมีสัญญาณหนี้เสียเพิ่มขึ้น ต้องได้รับการบริหารจัดการ
มองว่า ตอนนี้แบงก์อยู่ในฐานะมีกำลัง มีกำไร สามารถช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่กำลังมีปัญหาได้ เริ่มจากแบ่งกลุ่ม ลูกค้า 3 ส่วน กลุ่มเข้มแข็ง เป็นกลุ่มรายใหญ่ ที่มีความสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ นำไปช่วยสนับสนุน กลุ่มอ่อนแอ (เอสเอ็มอี) และกลุ่มเปราะบาง (รายย่อย) ที่จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้
หลังจากเห็นว่า ทั้งแบงก์ หน่วยงานภาครัฐ และรัฐบาล คงจะต้องหารือกัน จัดทำโครงการดีๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ยังกระจุกตัวเป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเม็ดเงินที่จะใช้จัดการไม่ได้มาก และกระทบกำไรแบงก์ไม่มากนัก
"ภาครัฐสามารถช่วยได้ คือการสนับสนุนเอสเอ็มอี เรื่องของนำดิจิทัลเทคโนโลยี มาสนับสนุนธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านหลักโควินและโลกกำลังเข้ายุคใหม่ ที่แข่งขันเทคฯ และธุรกิจสีเขียว ยกลุ่มเปราะบาง บ้านรถ หาวิธีกาจัดการหนี้กลุ่มนี้ให้ดีขึ้น"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์