เงินบาท เสี่ยง 'แข็งค่า' หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ ผันผวนระยะสั้นตามเฟดลดดอกเบี้ย
เงินบาทช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือนที่ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ กูรู คาดระยะสั้น เสี่ยง "แข็งค่า" หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ ผันผวนตามเฟดลดดอกเบี้ย ติดตามผลประชุมเฟด 18 ก.ย.นี้ "กรุงไทย" ชี้เป็นจุดวัดใจ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองระยะสั้นเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นได้
"เงินบาท" แตะระดับ "แข็งค่าสุด" ในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ ณ 10.00 น. เป็นการแข็งค่าสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.33-33.35 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ (ณ 12.00 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์นั้น มีโอกาสเกิดได้หาก เฟด Dot Plot เหมือนตลาด หรือเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาด ถือว่าเป็น "จุดวัดใจ" ติดตามการประชุมเฟด 18 ก.ย.67 นี้ และมาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้
1. ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำนิวไฮต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะต้องเห็นสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ ตลาดกลัว recession มากขึ้น ทำให้ มองว่า เฟดจะยิ่งเร่งลดดอกเบี้ย เร็ว แรง
2. เงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลงได้พอสมควร ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้คนกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น หรืออาจจะมีปัจจัยเสี่ยงกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงชัดเจน
ตรงนี้อาจจะทำให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นได้เร็ว และแรง ตามการเพิ่มสถานะ Long JPY หรือ Unwind JPY-Carry Trade เพิ่มเติมครับ โดยในกรณีนี้นั้น อาจเห็นเงินเยนญี่ปุ่นกลับไปแข็งค่าได้ราวๆ 120 เยนต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นการแข็งค่าขึ้นอีก -14%
3.ตลาดเชื่อมั่นแนวโน้มเศรษฐกิจไทย นักลงทุนต่างชาติเลยเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม
นายพูน กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตลาดกังวล recession ฝั่งสหรัฐ มองว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก หรือ ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน เพราะตลาดน่าจะเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทำให้สินทรัพย์ฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยเทขายได้ไม่ยากครับ อาจจะเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้พอสมควร
สัปดาห์หน้า (16-20 ก.ย.67) จะแกว่งตัวในกรอบ 33.25-34.25 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วง 1 เดือนจะอยู่ในกรอบ 33.25-34.75 บาทต่อดอลลาร์ และเงินบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในกรอบ 33.00-35.25 บาทต่อดอลลาร์
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ เป็นกรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากแรงขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลังการประชุมธนาคารกลางยุโรป เพราะแม้ธนาคารกลางยุโรปจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ลง 0.25% ตามที่ตลาดคาด แต่ยังไม่มีสัญญาณลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้าในเดือนตุลาคม
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศยังหนุน "เงินบาทแข็งค่า" จากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังการเมืองไทยมีเสถียรภาพ และนโยบายรัฐบาลเริ่มชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมายัง Underperform ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก และราคาหุ้นไทยยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้มีความน่าสนใจ
ดังนั้น มองว่า แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นระยะสั้นต่อได้ จากช่วงที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเร็ว อยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ จากที่เคยมองไว้ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ตามนโยบายการลดดอกเบี้ยของเฟด คงต้องรอติดตามผลการประชุมเฟดลดดอกเบี้ยในวันที่ 18 ก.ย.67 นี้ ชัดเจนก่อนว่า จะลดดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน และจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอย่างไรต่อไป
ขณะเดียวกันยังมองว่า เงินบาทยังมีปัจจัยหนุนฝั่งอ่อนค่าลงได้ จากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยยังซึมในระยะข้างหน้า แต่มองว่าช่วงที่เหลือปีนี้ยังดีกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น เงินบาทผันผวน แนะผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก บริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.25-33.55 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชีย ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของยูโรโซน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของสหรัฐ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นได้ระยะสั้น ตามนโยบายเฟดลดดอกเบี้ย และความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐหากเกิดภาวะถดถอยขึ้น แต่เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาขีดความสามารถของประเทศ ในหลายๆ อุตสาหกรรม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์