จับตาเงินบาทแข็งค่าหลุด 33 บาทต่อดอลล์ กสิกรฯชี้ ‘บาท’ แข็งค่าแล้วเฉียด 3%

จับตาเงินบาทแข็งค่าหลุด 33 บาทต่อดอลล์ กสิกรฯชี้ ‘บาท’ แข็งค่าแล้วเฉียด 3%

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เสี่ยงหลุด 33บาทต่อดอลล์ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เงินบาทแข็งค่าแล้วเฉียด3% จากต้นปี เป็นอันดับสองของภูมิภาค

ค่าเงินบาท” แข็งค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะนี้ โดยล่าสุด “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือนต่อเนื่อง โดยเห็นการแข็งค่าที่สุดของวันที่ระดับ 33.16 บาทต่อดอลลาร์

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์" ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า “เงินบาทแข็งค่า” ต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังเป็นต้นมา ที่เริ่มเห็นค่าเงินบาททยอยแข็งค่าต่อเนื่อง หากเทียบกับครึ่งปีแรก ที่เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า

หากดูการแข็งค่าของค่าเงินบาท นับตั้งแต่ต้นปี มาจนถึงปัจจุบัน( ม.ค.-16ก.ย.67) พบว่าอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ค่าเงินบาทไทย แข็งค่ามาแล้วที่ระดับ 2.9% นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา หากเทียบสิ้นปี 2566 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์

หรือหากดูเฉพาะรอบครึ่งเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นเดือนจนถึง 16 ก.ย. พบค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มาแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน หรือแข็งค่าไปแล้ว 2% หากเทียบกับสิ้นเดือนส.ค. ที่เงินบาทปิดอยู่ที่ 33.86 บาทต่อดอลลาร์

หากเทียบกับภูมิภาคเงินบาทเราอยู่ในจุดไหน? 

เรียกว่าแทบจะแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค หากดูเทียบตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากมาเลเซียริงกิต ที่แข็งค่าไปแล้ว 6.8% อันดับสามคือ สิงคโปร์ดอลลาร์ที่แข็งค่าอยู่ที่ 1.9%

หรือหากเทียบเพียงครึ่งเดือน ในช่วงก.ย. พบว่า เงินบาทไทยกลับมายืน “แข็งค่า” อันดับสอง หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคเช่นเดียวกัน ที่แข็งค่า 2%

สาเหตุทำให้เงินบาททยอยแข็งค่าต่อ โดยเฉพาะระยะหลังๆ ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการ “ลดดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เริ่มมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าถึงเวลาในการลดดอกเบี้ยแล้ว เช่นเดียวกันที่คณะกรรมการ FOMC ออกมาให้ความเห็นว่าเฟดสามารถลดดอกเบี้ยได้ โดยไม่จำเป็นที่ต้องรอให้เงินเฟ้อต่ำไปที่เป้าหมาย 2%

เหล่านี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ “ดอลลาร์” ค่อยๆ อ่อนค่า ส่งผลให้นักลงทุนคาดเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในรอบการประชุมกลางเดือนก.ย.นี้ เฟดจะลดดอกเบี้ยแน่นอนอย่างน้อย 0.25%

และการที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นในระยะนี้ มองว่าสอดคล้องกับการพุ่งขึ้นและทำสถิติสูงสุดใหม่ของทองคำในตลาดโลก ที่กลับมาสร้างนิวไฮใหม่ที่เป็นตัวสนับสนุนเงินบาทให้แข็งค่าด้วย และการแข็งค่าเงินเยน ซึ่งมีแรงหนุนจากแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางญี่ปุ่นระยะข้างหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มจากสถานะซื้อสุทธิในหุ้น และพันธบัตรไทยของต่างชาติสวนทางเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าท่ามกลางคาดการณ์ตลาดบางส่วนที่ยังคงมองมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับดอกเบี้ยมากกว่าคาดเดิมที่ 0.25% ในการประชุม 17-18 ก.ย.นี้

“กาญจนา” มองว่า คาดการณ์เฟดจะลดดอกเบี้ยครั้งแรก ก.ย.นี้ ที่ 0.25% เนื่องจาก มองเป็นครั้งแรกของไซเคิลที่เฟดเริ่มลดดอกเบี้ย ดังนั้นการลดดอกเบี้ยก็ไม่น่าจะผลีผลามลดมากนัก และด้วยภาวะเช่นนี้ไม่ได้เรียกว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ ดังนั้น ช่วงเริ่มต้นไซเคิลของการลดดอกเบี้ยก็น่าจะเริ่มด้วยลดดอกเบี้ยประเดิมที่ 0.25% และมอนิเตอร์ และไม่ปิดออปชันที่จะลดดอกเบี้ยต่อ

แม้ตลาดประเมินการลดดอกเบี้ยเฟดครั้งนี้ มีโอกาสลดมากถึง 0.50% แต่มองก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของตลาดที่คาดเช่นนี้ ดังนั้น ภายใต้การลดดอกเบี้ยที่ 0.25% มองค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ แต่หากเฟดเซอร์ไพรส์ตลาด ก็อาจเห็นค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง และกดดันเงินบาทให้ไปอยู่ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้