เฟดลด .50% ส่งสัญญาณอะไรที่นักลงทุนควรรู้

เฟดลด .50% ส่งสัญญาณอะไรที่นักลงทุนควรรู้

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง .50% ของธนาคารกลางสหรัฐอาทิตย์ที่แล้วต้องถือว่าไม่ปรกติ แม้ตลาดส่วนใหญ่จะคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงลงแน่นอนในการประชุมเดือนนี้ แต่ขนาดที่ปรับลง .50% ทำให้มีคําถามตามมาว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจ

และเฟดต้องการส่งสัญญาณอะไรในการลดดอกเบี้ย รวมถึงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐเมื่อวันพุธที่แล้วเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด และบางส่วนของตลาด เช่นตลาดเงินกู้ระยะสั้น ได้วิเคราะห์ว่าการปรับลดอาจมากกว่า .25% เพราะการลดดอกเบี้ยนั้นควรเกิดขึ้นนานแล้วแต่ได้ล่าช้าออกไป

จึงไม่แปลกใจที่เฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบสี่ปีมากถึง .50% มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด

ในการแถลงข่าวหลังการประชุม ประธานเฟดยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดี ขยายตัวร้อยละ 2.2 ช่วงครึ่งปีแรกและคงขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกันช่วงไตรมาสสาม สําหรับอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ร้อยละ 2.5 เดือนสิงหาคม

แต่ที่ยังเป็นข้อกังวลคือตลาดแรงงานที่อ่อนตัวต่อเนื่อง การจ้างงานใหม่ลดลงเหลือเฉลี่ย 116,000 ตำแหน่งต่อเดือน ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 เดือนสิงหาคมจากร้อยละ 3.7 เมื่อต้นปี 

ประเด็นนี้ทำให้ความเสี่ยงในการทํานโยบายการเงินของเฟดในแง่การบรรลุเป้าหมายได้เปลี่ยนจากเงินเฟ้อมาเป็นการจ้างงาน

และนี่คือเหตุผลที่เฟดใช้อธิบายการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ คือ เงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมาย แต่ความเสี่ยงในตลาดแรงงานมีมากขึ้น การลดอัตราดอกเบี้ยก็เพื่อพยุงตลาดเเรงงานไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้

ใครที่เป็นเอฟซีธนาคารกลางสหรัฐและติดตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐมาตลอดคงผิดหวังนิดๆ กับการแถลงข่าวและการตอบคำถามหลังการแถลงข่าว

คือ การลดดอกเบี้ยเมื่อวันพุธต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้จะคาดกันล่วงหน้า เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจากนี้ไป เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของนโยบายการเงินสหรัฐ ที่จะมีผลอย่างมากต่ออัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจทั่วโลก

 แต่ในการแถลงข่าวและการตอบคําถามผู้สื่อข่าว บรรยากาศคราวนี้ดูกร่อยๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่สมกับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก หรือเพราะเฟดทำหน้าที่ได้ดีมากในการสื่อสารนโยบายการเงินมาตลอดจนตลาดไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ในความเห็นผม เหตุผลที่เฟดลดดอกเบี้ย .50% คราวนี้คงมีมากกว่าที่เฟดบอก คือต้องอ่านระหว่างบรรทัด 

1.การลดอัตราดอกเบี้ยแสดงให้เห็นว่า เฟดมีความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่กลับมาเป็นปัญหาต่อนโยบายการเงินอีก และอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 ในที่สุด

ความมั่นใจนี้ทําให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายได้เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสามารถทำหน้าที่ดูแลปัญหาอื่น เช่น ตลาดแรงงาน

2.เฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนตัวหรือชะลอลงจากนี้ไป เพียงแต่ไม่พูดชัดเจน เห็นได้จากประมาณการเศรษฐกิจ (SEP) ของกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) สหรัฐ

ล่าสุดที่ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2 จากร้อยละ 2.1 ก่อนหน้า และปรับประมาณการอัตราการว่างงาน ณ สิ้นปีขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ชะลอ 

เฟดลด .50% ส่งสัญญาณอะไรที่นักลงทุนควรรู้

นี่คือเหตุผลว่าทําไมเฟดลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง .50% ก็เพื่อปกป้องการชะลอตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่กําลังเกิดขึ้นไม่ให้แย่ลง

ซึ่งขนาดของการลดดอกเบี้ยที่ .50% คงประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้ และจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดดูทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป คือ ไม่ behind the curve.

3.เฟดส่งสัญญานชัดเจนว่า การลดดอกเบี้ยจะไม่ใช่ครั้งเดียว แต่จะเป็นหลายครั้ง ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงรอบใหม่ เห็นได้ชัดจากประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด คือ SEP ที่กรรมการ MPC เฟดมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดได้อีกสองครั้งในปีนี้และอีกสี่ครั้งในปีหน้า 

ซึ่งถ้าอ่านระหว่างบรรทัด การตั้งใจลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งแบบนี้คือความพยายามที่จะกระตุ้นหรือฟื้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กําลังเกิดขึ้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft landing ไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าอยู่เบื้องหลังการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาทิตย์ที่แล้ว คือป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมาก ซึ่งตลาดหุ้นก็ปรับขึ้นรับข่าวนี้และตอบรับสัญญาณวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในทางบวกเพราะมั่นใจว่าเฟดจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องตามคือเฟดจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงหรือเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐได้หรือไม่ในช่วง 18 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นช่วงเเรกของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง

สําหรับตลาดการเงิน อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่จะปรับลดลงหลายครั้งก็จะกดดันให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับลงเช่นกัน แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ

ในภาพรวม เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะมีมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาสินทรัพย์ก็จะได้ประโยชน์ปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจนํามาสู่ความเสี่ยงรอบใหม่ของเงินร้อนหรือ hot money และภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น

ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐคงอ่อนลงตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ย หนุนให้สกุลเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ บวกกับเเรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า แต่จะมากหรือน้อยขึ้นจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เฟดลด .50% ส่งสัญญาณอะไรที่นักลงทุนควรรู้

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]