นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘เงินบาทแข็ง‘ มีผลเสียมากกว่าผลดี ห่วงทุบซ้ำเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘เงินบาทแข็ง‘ มีผลเสียมากกว่าผลดี ห่วงทุบซ้ำเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้เงินบาทแข็งโป๊ก ล่าสุดแข็งค่าสุดรอบ 30เดือน ด้านนักเศรษฐศาสตร์ หวั่นจีนลดดอกเบี้ยเร่งเงินบาทแข็งค่า ชี้ ไทยเสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า หวั่นทุบซ้ำเศรษฐกิจไทย ชี้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า วันนี้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 30 เดือนที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.62-32.64 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.50 น.) แข็งค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.86 บาทต่อดอลลาร์

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดยเงินหยวนในตลาด Offshore และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ เงินดอลลาร์ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลงมาที่ 98.7 ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 104 และต่ำกว่าระดับ 105.6 ในเดือนส.ค.)

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ของตลาดว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 25 basis points ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.50-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนส.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชีย และราคาทองคำในตลาดโลก  และตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค. ของสหรัฐ  
 
ในระยะสั้น เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปทดสอบแนว 32.50 และ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามลำดับ
 

เงินบาทแข็งค่ากดดันนโยบายการเงิน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของจีน อีกด้านทำให้ประเทศไทยเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ภายใต้หลายประเทศที่เริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น เช่นเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน

“ผลที่เห็นส่งผ่านมาสู่ค่าเงินคือ การที่หลายประเทศลดดอกเบี้ย หรือจีน ที่วันนี้เรายังแข็งค่ากว่าหลายประเทศ ดังนั้น การขายสินค้าพวกนี้ก็จะขายของได้ถูกลง เทียบกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องเผชิญกับความสามารถการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นประเด็นที่ต้องจับตามากขึ้น

ไทยเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ 

ดร.นริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง มองว่าน่าห่วง เพราะการแข็งค่าของเงินบาท หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคทำให้สินค้าไทย การท่องเที่ยวในไทยแพงขึ้นในสายตาต่างชาติ ดังนั้นมองว่ามีผลกระทบมากกว่า ประโยชน์ ซึ่งหากในมุมประโยชน์จากการแข็งค่าเงินบาท จากการนำเข้าพลังงานที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าต่ำลง

โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันต่อปี 1.5 ล้านล้านบาท แต่ประเทศไทยมีรายได้จากต่างชาติเข้ามาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท บวกกับนำเข้าส่งออกที่ 1.9 ล้านล้านบาท รวมแล้วมีรายรับ 3.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นไทยสูญเสียรายได้มากกว่าได้รับประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งกระทบต่อการขยายตัวต่อจีดีพีของไทยให้ลดลง

ทั้งนี้หากดูทิศทางเงินบาท มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หรือหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ก่อนจะหลุดระดับดังกล่าว เชื่อว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากผู้ส่งออก และผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ภาครัฐเข้าไปดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น

บาทแข็ง สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่น ศก.ไทย

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องเป็นอันดับต้นของภูมิภาค เหล่านี้สอดคล้องกับ การเคลื่อนไหวของดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และมีเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ทั้งมาเลเซีย และไทยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายในประเทศด้วย ทั้งจากการส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางไทย ทำให้ยังคงมีเงินไหลเข้ามาในตลาดบอนด์ไทยต่อเนื่อง อีกทั้งนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะทยอยออกมา

เหล่านี้เป็นส่วนหนุนให้ทั้งความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้ และไทยยังมีปัจจัยพิเศษ จากทองคำ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเทรดทองคำอันดับต้นๆ ของโลก ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เมื่อราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค และมองว่าปัจจุบันยังมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไป จากการที่นักลงทุนมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในเดือนพ.ย. แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดี ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนให้สหรัฐ ลดดอกเบี้ยน้อยลงได้ ทำให้ตลาดอาจเปลี่ยนมุมมองในการเข้าลงทุนในตลาดเกิดใหม่ลดลงได้ ปัจจัยดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าน้อยลงได้

“วันนี้ตลาดยังคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของเฟดอาจลดดอกเบี้ยแรงต่อ แต่หากตลาดสบายใจ หากตัวเลขสหรัฐออกมาดี และไม่คิดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยแรงเหมือนเดิม ตลาดอาจเปลี่ยนมุมมองในการเข้าลงทุนในตลาดเกิดใหม่ และทำให้นักลงทุนมองว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ตลอด ดังนั้นเรามองว่าค่าเงินบาทคงไม่แข็งค่าไปตลอดหลังจากนี้”

แข็งค่า 1 บาทราคาเพิ่มตันละ 15 ดอลลาร์

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผลกระทบการส่งออกข้าวไทยจากภาวะเงินบาทแข็งค่าที่ช่วงต้นปี 2567 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การส่งออกข้าวของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอินเดียแบนการส่งออกข้าวขาวทำให้ไทยส่งออกข้าวมากขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าส่งออกข้าวปี 2567 ที่ 7.5 ล้านตัน ปรับขึ้นเป็น 8.2 ล้านตัน 

รวมทั้งไทยส่งออกข้าวได้เฉลี่ยเดือนละ 7-8 แสนตัน บางเดือนแตะ 9 แสนตัน จนถึงปัจจุบันไทยส่งออกข้าวแล้ว 7 ล้านตัน เหลือเวลาอีก 3 เดือนถึงสิ้นปี หากไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยเดือนละ 5 แสนตัน ทั้งปีก็จะส่งออกข้าวได้ 8.5 ล้านตัน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันเงินบาทที่เคยเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวกลับมาแข็งค่าขึ้น 10% ส่งผลกระทบมากทำให้การส่งออกลำบากขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามแข็งค่าเพียง 3% อินเดียอ่อนค่า 1% ซึ่งความต่างของค่าเงินทำให้การเสนอราคาข้าวไทยห่างคู่แข่งมาก

“เงินบาทแข็งค่าทำให้ไทยเสียเปรียบการตั้งราคา เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ซึ่งค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย ยกเว้นราคาในประเทศจะลดฮวบเหลือตันละ 5-6 บาท ซึ่งผู้ส่งออกไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรจะเดือดร้อน" 

รวมทั้งปัจจุบันไทยลดต้นทุนการผลิตไปมาก และสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักต่างจากสินค้าอื่น ดังนั้นวิธีการดีที่สุดต้องให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพเงินบาทให้ดีที่สุด อย่าให้อ่อนค่ามากจนเกินไปและรัฐบาลต้องเร่งลดดอกเบี้ยให้เร็วที่สุด

นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบด้านราคาที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญไม่ได้ เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน 

ทั้งนี้ ค่าเงินที่แข็งค่าทุก 1 บาท ทำให้ราคาข้าวที่รวมค่าขนส่งถึงปลายทาง (FOB) เพิ่มขึ้นถึงตันละ 15 ดอลลาร์ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าเร็ว และรุนแรง โดยไม่รู้ทิศทางว่าจะแข็งกว่าอีกแค่ไหนหรือผันผวนเร็วอีกนานไหมทำให้ผู้ส่งออกปรับตัวได้ยาก 

“ข้าวเป็นสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตกว่า 90% เป็นต้นทุนในประเทศ ปีนี้เป้าส่งออกข้าว 8.5 ล้านตันไม่น่าจะมีปัญหา เพราะภัยแล้งสร้างความเสียหาย ทำให้หลายประเทศเพิ่มนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” 

รัฐบาลยืนยัน“บาทแข็ง”ไม่กระทบท่องเที่ยว

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจทำให้มูลค่าเงินต่างชาติลดลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการท่องเที่ยวลดลง เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนดีและตั้งใจจะมาใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว จึงมีการเตรียมเงินที่เพียงพอตั้งแต่ต้นทาง เมื่อมาถึงปลายทางที่ประเทศไทย ค่าเงินอาจจะลดลงเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่าย ยังคงใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวจากแต่ละประเทศ

“เรื่องเงินบาทแข็งค่า แม้ในเชิงจิตวิทยาอาจจะมีผลบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์อยู่แล้ว”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์