ค่าเงินบาทวันนี้ 26 ก.ย.67 ’อ่อนค่า‘ เศรษฐกิจสหรัฐยังแย่ -ดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 26 ก.ย.67 ’อ่อนค่า‘ เศรษฐกิจสหรัฐยังแย่ -ดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 26 ก.ย.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินดอลลาร์ ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.55-32.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.75 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย

จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.85 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Up หรือ ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 32.59-32.81 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุระดับ 144.50 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง  

ค่าเงินบาทวันนี้ 26 ก.ย.67 ’อ่อนค่า‘ เศรษฐกิจสหรัฐยังแย่ -ดอลลาร์อ่อนค่า

ขณะเดียวกัน เงินยูโร (EUR) ก็กลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม China-Recovery Optimism (ความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน) ออกมาบ้าง 

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทได้บ้าง 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและเจ้าหน้าที่ ECB เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways 32.55-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ โดยเรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์เริ่มทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนธีมความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ ดังจะเห็นได้จากการที่เงินหยวนจีน (CNY) ก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน (ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่ได้มั่นใจมากนักต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน) นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าที่ทำไว้ เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน และอาจยังเห็นเงินบาทติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเราคงกังวลว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุด นอกจากนี้ ควรระวังการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของฝั่ง ECB เช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้คาดหวังว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้พอสมควร ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนในระยะหลังนี้ ก็ออกมาไม่สดใสและสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น 

และที่สำคัญ เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell และรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Exxon Mobil -2.0% ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Healthcare ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.19% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาย่อตัวลง -0.11% ตามแรงขายทำกำไรหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ที่ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงระยะสั้น หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Total Energies -3.2% ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการปรับตัวลงของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง SAP -2.4% ที่เผชิญการสอบสวนจากทางการสหรัฐฯ ในข้อหาร่วมกับบริษัทอื่นในการเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ สูงเกินไป 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดอาจเปิดความเสี่ยงที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ หลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนัก ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง อนึ่ง แม้ว่า เราคงแนะนำ กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด แต่การทยอยปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจับตาว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 3.80% ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เหนือโซนดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปแถว 3.90%-4.00% ได้ไม่ยาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทว่าการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงเผชิญแรงขายจากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-101 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงมาบ้าง ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่ ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.20 น. ตามเวลาประเทศไทย พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ครั้งสุดท้าย 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะในส่วนของประธาน ECB Christine Lagarde ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย