ค่าเงินบาทวันนี้ 1 ต.ค.67 ’อ่อนค่า‘ ดอลลาร์แข็งค่า -เฟดย้ำจุดยืนทยอยลดดบ.

ค่าเงินบาทวันนี้ 1 ต.ค.67 ’อ่อนค่า‘  ดอลลาร์แข็งค่า -เฟดย้ำจุดยืนทยอยลดดบ.

ค่าเงินบาทวันนี้ 1 ต.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่าลง“ ที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรับแรงหนุนเงินยูโรอ่อนค่า และถ้อยแถลงประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plo ล่าสุด มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.25-32.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.18 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.25- 32.65 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้านแรก 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 32.17-32.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนีในเดือนกันยายน ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้อีกราว -50bps เป็นอย่างน้อยในการประชุมที่เหลือของปีนี้ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 1 ต.ค.67 ’อ่อนค่า‘  ดอลลาร์แข็งค่า -เฟดย้ำจุดยืนทยอยลดดบ.

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรก็ยังสอดคล้องกับการย่อตัวลงบ้างของตลาดหุ้นยุโรปที่เผชิญแรงขายทำกำไรเพิ่มเติม หลังปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และนอกเหนือปัจจัยดังกล่าว เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ ลงเหลือ 38% จาก 53% ในช่วงวันก่อนหน้า ซึ่งจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทว่า เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้อย่างชัดเจน หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ เช่น โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ หรือ แม้กระทั่งโซนแนวต้านสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวก็อาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด 

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดไปพอสมควรแล้ว (โอกาสเร่งลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือ 38%) ซึ่งอาจจำกัดการปรับตัวขึ้นต่อของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาตามคาด หรือ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ยกเว้นจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ของบรรดานักลงทุนต่างชาติ (ซึ่งก็ทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจริงตามที่เราประเมินไว้) หรือเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งราคาทองคำก็ยังเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อได้บ้าง หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ทวีความรุนแรงหรือลุกลาม บานปลาย

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งในฝั่งยุโรป (อัตราเงินเฟ้อ CPI ยูโรโซน) และฝั่งสหรัฐฯ (ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต) โดยเฉพาะ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) สหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังตลาดให้ความสำคัญกับรายงานข้อมูลดังกล่าวมากขึ้น จนทำให้เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเกือบ +0.4% หลังรับรู้รายงานข้อมูล Job Openings ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแกว่งตัวของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยหลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวราว +/-0.20% 

อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued มากขึ้น (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +1.0 หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Apple +2.3%, Alphabet +1.2% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนก็ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ Exxon Mobil +1.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.42% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.98% กดดันโดยแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม China Recovery ที่ปรับตัวร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ LVMH -2.1% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ หลัง Stellantis -14.7% และ Volkswagen -2.0% ต่างปรับลดคาดการณ์ผลกำไร   

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นบ้างสู่ระดับ 3.78% หลังประธานเฟด Jerome Powell ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ราคาสินทรัพย์ในตลาดยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility โดยจะมีการเคลื่อนไหวไปตามการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจับตาว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 3.80% ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เหนือโซนดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปแถว 3.90%-4.00% ได้ไม่ยาก โดยมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเลือกทิศทางที่ชัดเจน หลังการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ตามแรงขายทำกำไรหุ้นยุโรปและความหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของ ECB ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-100.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามแรงซื้อในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน และคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 โดย Atlanta Fed พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 

ส่วนฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนกันยายน พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB