‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ ห่วงหนี้ครัวเรือน การคลังตึงตัว ชนวนหั่นอันดับเครดิตไทย

‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ ห่วงหนี้ครัวเรือน การคลังตึงตัว ชนวนหั่นอันดับเครดิตไทย

‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง นโยบาย 'การคลัง' ตึงตัว งบประมาณเกินดุล-หนี้สาธารณะพุ่ง ชนวนหั่นอันดับเครดิตไทย

“โธมัส รุกมาเกอร์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวถึงแน้วโน้มเศรษฐกิจไทยในงาน ‘Global Risks and Regional Economic, Investment & Bank Outlook’ ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน คือ BBB

ประเทศไทย มีอัตราการเติบโตของ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีอันดับเครดิต BBB เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย รวมทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้เท่ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ฟิทช์ มีความกังวลถึงปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ของไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับสูง ที่อาจเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอื่นๆ

สถานการณ์การคลังของไทยอ่อนแอลง โดยการขาดดุลงบประมาณทางการคลังของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันขาดดุล 4% โดยรัฐบาลมีแผนที่จะรักษาดุลการคลังจะเข้าสู่ 3% ในช่วงปี 2570  ซึ่งฟิทช์มองว่า เป้าหมายในระยะแรกไม่จำเป็นต้องกลับไปเกินดุลแต่คือ การลดการขาดดุลลง

รวมไปถึง ระดับหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ก่อนหน้านี้ ไทยมีระดับหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 25% ของ GDP ในปี 2010 แต่ตอนนี้ระดับหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาระหนี้ของรัฐบาลไทยเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตัวชี้วัดทางการคลังของประเทศ

อย่างไรก็ดี ไทยยังคงมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าประเทศอื่นๆ คือ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ไทยใช้สัดส่วนรายได้ของรัฐบาลไปชำระดอกเบี้ยหนี้น้อยที่สุด ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลไทยมีภาระในการชำระหนี้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ 

รวมทั้ง ค่าเงินของประเทศไทยฟื้นตัวได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในช่วงปี 2024 ซึ่งบ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสถานการณ์การเงินภายนอกของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง จากดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเป็นบวก

 

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า อันดับเครดิตของไทยทั้งในสกุลเงินต่างประเทศ และสกุลเงินท้องถิ่นอยู่ที่ระดับ BBB+ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าเชื่อถือ

 

3 ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตของไทยลดลงคือ 1.ปัญหาการคลัง หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้คงที่ หรือมีการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

2.ความไม่มั่นคงทางการเมือง หากเกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจ หรือกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และ 3.การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง และหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลให้อันดับเครดิตลดลง

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถลดระดับหนี้สาธารณะได้ หรือมีการปรับปรุงโครงสร้างรายได้ของรัฐบาล และเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อมกับหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ก็อาจทำให้อันดับเครดิตสูงขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์