’คลัง’ โยนโจทย์ ‘แบงก์ชาติ‘ แก้หนี้ หวัง ‘ลดดอกเบี้ย‘ แก้บาทแข็ง

’คลัง’ โยนโจทย์ ‘แบงก์ชาติ‘ แก้หนี้ หวัง ‘ลดดอกเบี้ย‘ แก้บาทแข็ง

รมว.คลัง ถกเข้ม “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ชี้ประเด็นหารือโจทย์ใหญ่เร่งลดหนี้ครัวเรือน เดินหน้าแก้หนี้ค้างชำระ-หนี้เสีย 7-8 แสนบัญชี ชี้ลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือช่วยลดภาระหนี้ประชาชน-หนุนต้นทุนทางการเงินในระบบลด เตรียมถกใหม่ ในต.ค.หลังคาดเงินเฟ้อทั้งปีหลุดเป้า

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือนอกรอบกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งแรกหลังที่ ธปท.หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลและ ธปท.มีความเห็นแย้งต่อนโยบายการเงินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

โดยต้องการให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับการหารือครั้งนี้เกิดขึ้นในงาน Your Data “ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” ที่ ธปท.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2567

นายพิชัย กล่าวว่า การหารือร่วมกันวันนี้ ประเด็นมีทั้งประเด็น หนี้ครัวเรือน , ดอกเบี้ยนโยบาย , ค่าเงินบาท รวมถึงเงินเฟ้อ โดยประเด็นหลักการแก้หนี้ครัวเรือนในส่วนผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) และธนาคารพาณิชย์ เพราะแบงก์รัฐได้มีการดำเนินการไปแล้วโดยวิธีการแก้หนี้ครัวเรือน คือการทำให้คนที่ยังมีโอกาส สามารถไปต่อได้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ 

 

อีกส่วน คือ กลุ่มเปราะบาง ที่มีการค้างชำระหนี้ และเป็นหนี้เสียแล้ว ซึ่งมีราว 7-8 แสนบัญชี ที่ยังมีปัญหาในการชำระหนี้ ดังนั้นก็เป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปดูแล ส่วนรายละเอียดจะทำอย่างไร ยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ที่จำเป็นต้องร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง และธปท. ที่จะเข้ามาดูแลส่วนนี้

ส่วนจะเป็นการแฮร์คัตหนี้ (hair cut) หรือไม่นั้น หลักการคือ จะไม่ได้ไปลดหนี้โดยไม่มีเหตุผล เพราะจะทำให้เกิดพฤติกรรมผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ซึ่งแนวทางในการแก้หนี้เหล่านี้ มองว่าเป็นโครงสร้างที่สามารถเป็นไปได้ ที่จะช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลงได้

“การแฮร์คัตหนี้ เราไม่อยากให้ใช้คำนี้เท่าไหร เพราะการแฮร์คัตหนี้ ต้องมีเหตุมีผล แต่การทำให้ดอกเบี้ยต่ำ ก็เป็นการแฮร์คัตหนี้ชนิดหนึ่ง ก็ต้องดูกันว่ารายละเอียดจะทำกันอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การแก้หนี้ครัวเรือน แก้หนี้ค้างชำระของประชาชนในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่แก้ยากกว่าอดีต หากเทียบกับวิกฤติปี 2540 เนื่องจากปี 2540 มีผู้ที่เจอปัญหาคือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่มีกี่ราย การแก้หนี้จึงไม่ยากมากนัก แต่ปัจจุบัน มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการแก้หนี้รายย่อยยากกว่ามาก

หนุนลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือแก้หนี้

ทั้งนี้ มองว่า การลดดอกเบี้ย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็เชื่อว่า ธปท.น่าจะมีเครื่องมืออื่นมากกว่านั้น และปัจจุบันพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ปัญหาสภาพคล่อง แต่ปัญหามาจากผู้ปล่อยสินเชื่อที่มีความกังวล และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้มาจากปัญหาสภาพคล่อง เพราะวันนี้สภาพคล่องมีอยู่ในระบบค่อนข้างมาก ซึ่งเหล่านี้ ถือเป็นภาพที่เห็นในทิศทางเดียวกันกับ ธปท.

อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้ครัวเรือนจะแก้ด้วยโมเดลเดียวกันกับการแก้หนี้ของลูกหนี้แบงก์รัฐหรือไม่ มองว่า การแก้หนี้มีหลายเครื่องมือ โดยหากไม่ไปลดหนี้ ทางที่ดีที่สุดคือ การลดภาระหนี้ โดยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวออกไปที่น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงไปดูว่าจะลดดอกเบี้ยได้หรือไม่ ดังนั้น เครื่องมือใหญ่ๆ มี 2-3 เครื่องมือที่สามารถทำได้

สำหรับ การหารือด้านดอกเบี้ยนโยบาย มีการหารือกันหลายประเด็น ทั้งการประชุมกนง. ที่จะถึงวันที่ 16 ต.ค.นี้ รวมถึงการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ , ยุโรป และการออกมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ที่ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศต่างๆ ร่วมถึงประเทศไทย

ลดดอกเบี้ยเอื้อภาระทางการเงินลด

อย่างไรก็ตาม มองว่า การลดดอกเบี้ยลง ก็เป็นผลดีกับผู้กู้ใหม่ กับคนที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ และยังมีผลดีตามมาคือ ทำให้ต้นทุนทางการเงินผ่านตลาดเงิน หรือบอนด์ยีลด์ ปรับตัวลดลงแม้จะไม่มากนัก ที่ช่วยลดภาระทางการเงินลดลงได้

สำหรับความเห็นต่างระหว่าง ธปท.และกระทรวงการคลัง ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจกันดีเพราะมีหลายมุมที่มองด้านเดียวกัน แต่การแก้ปัญหาต้องมีความเห็นหรือผลกระทบด้านอื่น แม้กระทั่งความเห็นเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ลดลง กับการมีสภาพคล่องเพื่อให้คนมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ ที่ส่วนตัวมองว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพราะหากลดดอกเบี้ย หากลดเป็นหลักเบสิกพอยต์ ก็อาจมีผลไม่มาก

ขณะที่การพิจารณาดอกเบี้ย หาก กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยก็ต้องมีเหตุผลว่าเหตุใดไม่ลด หรือลดดอกเบี้ยก็ต้องชี้แจ้งเหตุผลได้

ทั้งนี้ แม้ดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่เชื่อว่า ธปท.น่าจะมีหลายเครื่องมือมากกว่านั้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง เพราะปัญหาที่เห็นตรงกันกับแบงก์ชาติ คือ สภาพคล่องในระบบมีจำนวนมาก ดังนั้นการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ไม่ได้มาจากด้านสภาพคล่อง แต่มาจากผู้ปล่อยสินเชื่อที่มีความกังวลและไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

เร่ง ธปท.แก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า

นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเกี่ยวกับค่าเงินบาท โดยยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่มีใครสามารถคาดการณ์ทิศทางของเงินบาทได้ ดังนั้นต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เชื่อว่า ยังสามารถดูแลค่าเงินบาทได้

รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกนั้น มองว่า ต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่าเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นมองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในเชิงปริมาณ และส่วนตัวมองว่า การท่องเที่ยว และการส่งออกจะกลับมาเติบโตดีขึ้น

“เรื่องผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่มีผลต่อผู้ส่งออก โดย ธปท.ก็ต้องไปดู แต่มองว่าการแก้เรื่องค่าเงิน ไม่สามารถแก้ตรงๆได้ ต้องมีหลายมาตรการ หรือหลายเครื่องมือที่จะเข้าไปดูแล เหล่านี้ก็มีการหารือแบงก์ชาติไปแล้ว ถึงข้อจำกัด ดังนั้นอยากให้ผู้ที่รับข้อมูล สิ่งที่แลกเปลี่ยนไปวันนี้ ไปตัดสินใจดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง และเข้าใจว่าการประชุม กนง.รอบนี้ต้องดูรายละเอียดมากขึ้น”

นัดแบงก์ชาติหารือแก้เงินเฟ้อหลุดกรอบ

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปจะมีการหารือร่วมกันกับแบงก์ชาติอีกครั้งภายในเดือนนี้ โดยเฉพาะการหารือกรอบเงินเฟ้อ โดยมองว่าเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะอยู่ที่ราว 1% ดังนั้นหากรวมทั้งปีแล้วเงินเฟ้อไม่น่าจะถึงเป้าหมายที่ 1-3%ตามกรอบเงินเฟ้อ ดังนั้นประเด็นที่หารือกันคือ เมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบแล้วจะทำอย่างไร ที่จะเป็นประเด็นหลักในการหารือกัน และทำความเข้าใจกัน

สำหรับงานเปิดตัวโครงการ Your Data ของ ธปท.สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้เพื่อพัฒนากลไกให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการและหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังผู้ให้บริการที่ตนต้องการใช้บริการ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและปลอดภัย เพื่อให้ได้รับบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อและการบริหารจัดการทางการเงินที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (personalized financial planning)

“ฟิทช์”ห่วงปัญหานี้ครัวเรือนไทย

“โธมัส รุกมาเกอร์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในงาน ‘Global Risks and Regional Economic, Investment & Bank Outlook’ ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ช้ากว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน คือ BBB

ทั้งนี้ ไทยมีอัตราการเติบโตของ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีอันดับเครดิต BBB เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย รวมทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้เท่ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ฟิทช์เรทติ้งส์มีความกังวลถึงปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ของไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง ที่อาจเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอื่นๆ

ห่วงฐานะการคลังของไทยแย่ลง

สถานการณ์การคลังของไทยอ่อนแอลง โดยการขาดดุลงบประมาณทางการคลังของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันขาดดุล 4% โดยรัฐบาลมีแผนที่จะรักษาดุลการคลังจะเข้าสู่ 3% ในช่วงปี 2570ซึ่งฟิทช์มองว่า เป้าหมายในระยะแรกไม่จำเป็นต้องกลับไปเกินดุลแต่คือการลดการขาดดุลลง

รวมไปถึง ระดับหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ก่อนหน้านี้ ไทยมีระดับหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 25% ของ GDP ในปี 2010 แต่ตอนนี้ระดับหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาระหนี้ของรัฐบาลไทยเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตัวชี้วัดทางการคลังของประเทศ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า อันดับเครดิตของไทยทั้งในสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินท้องถิ่นอยู่ที่ระดับ BBB+ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าเชื่อถือ โดย 3 ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตของไทยลดลงคือ 

1.ปัญหาการคลัง หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้คงที่ หรือมีการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2.ความไม่มั่นคงทางการเมือง หากเกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจ หรือกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว 

3.การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง และหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ก็อาจส่งผลให้อันดับเครดิตลดลง

คลังเล็งคลอดมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Fitch on Thailand 2024: Global Risks and Regional Economic, Investment & Bank Outlook” ว่า ไทยอยู่ช่วงที่มีแนวโน้มการเติบโตดีขึ้น และจะเห็นการขยายตัวของ GDP ที่ดีขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ และยังมีโมเมนตัมที่ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

”ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการเร่งจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ล่าช้า โดยการเร่งทำนโยบายต่างๆ เท่าที่จะทำได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผลิดอกออกผลแล้วในช่วงครึ่งหลังของปี“

โดยปีนี้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะโตสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้เดิมที่ 2.7% เป็นผลจากการดำเนินมาตรการทางคลังและการเงินอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ของปี 2568 และรัฐบาลได้เตรียมเครื่องมือทางการคลังและการเงินเข้ารักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2568

“ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทของรัฐบาลจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น 0.3% และส่งผลกระทบยาวไปถึงต้นปี 2568 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจปีนี้เติบโตมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้”

โดยในช่วงปลายปีนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมไว้ในไปป์ไลน์ เป็นมาตรการภาษี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภค อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะยังไม่ใช้มาตรการ “คนละครึ่ง” แบบที่ผ่านมา