เกาะติดเศรษฐกิจแดนมังกร กับ ‘ดอน นาครทรรพ’

เกาะติดเศรษฐกิจแดนมังกร กับ ‘ดอน นาครทรรพ’

เกาะติดเศรษฐกิจจีนพบ แม้จีนชะลอ แต่คาดจีนอาจฟื้นกลับเพียง สองปี ในการฟื้นตัวกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง การชะลอตัวปัจจุบัน ไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ

ล่าสุด 'ดอน นาครทรรพ' มีการโพส์ตผ่าน  Facebook ให้เห็นถึงเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนในหลายแง่มุม 

โดยระบุว่า บทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากบทความ ข้อสังเกตจากปักกิ่ง เพจเขียนไว้ให้เธอ (12 สิงหาคม 2567) ของพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ที่เขียนไว้หลังพี่โจ้ไปดูงานที่ปักกิ่ง

มาซึ่งเป็นมุมมองต่อจีนในระดับจุลภาค เมื่อผมมีโอกาสไปจับชีพจรเศรษฐกิจจีนที่ปักกิ่งในเวลาที่ไม่ห่างกันเท่าไร เลยอยากจะบันทึกสิ่งที่ได้เห็นได้ยินในมุมมองของเศรษฐกิจมหภาคบ้าง

ทริป “On the ground” นี้ ช่วยให้ผมต่อภาพของเศรษฐกิจจีนได้ค่อนข้างครบ จากการที่ได้พบปะหารือตั้งแต่หน่วยงานภาคการเงินของรัฐบาลจีน บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ Think Tank สื่อท้องถิ่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

 

1. เศรษฐกิจจีนล้ำหน้าไปไกลกว่าเศรษฐกิจไทยมาก ในทีนี้ผมไม่ได้หมายถึงขนาดของเศรษฐกิจซึ่งจีนมีขนาดใหญ่เป็นลำดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ

แต่หมายถึงระดับของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดด้วยรายได้ต่อหัวของประชากร ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ต่อหัวของจีนแซงรายได้ต่อหัวของไทยไปตั้งแต่ปี 2555 และสูงกว่าถึงเกือบสองเท่าในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับขอบบนของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (ข้อมูลธนาคารโลก)

ด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เข้าใกล้กลุ่มประเทศรายได้สูง เศรษฐกิจจีนไม่สามารถพึ่งพิงแรงงานราคาถูกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปักกิ่งกับกรุงเทพฯซึ่งเป็นเมืองหลวงด้วยกัน พบว่า ทั้งค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานในปักกิ่งสูงกว่าในกรุงเทพฯพอสมควร เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยการประหยัดต่อขนาดจากการผลิตสินค้าในปริมาณที่มาก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ในเรื่องหลัง ผมเสียดายที่ไม่ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาของ Huawei ที่ปักกิ่งที่เล่าลือกันว่าล้ำมาก เนื่องจากช่วงที่ไป มีการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำจีนและผู้นำทวีปแอฟริกา จึงมีการกันสถานที่ไว้ให้กับผู้นำแอฟริกา อย่างไรก็ดี ผมมีโอกาสได้ทดลองโดยสารรถบัสไร้คนขับที่มีการให้บริการแล้วในบางพื้นที่ ซึ่งก็ต้องบอกว่าน่าทึ่งมาก โดยเฉพาะตอนที่รถบัสเปลี่ยนเลนไปมา

2. เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันอยู่ในช่วงของการชะลอตัว ถ้าจะมองหาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดช้ากว่าคนอื่น นอกจากไทยแล้ว ก็ต้องเศรษฐกิจจีนนี่แหละ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจในจีนต่ำมาก คนเดินห้างน้อยกว่าไทย และมีธุรกิจปิดตัวจำนวนมาก

ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีนัยโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดสินค้าส่งออกอันดับสองของไทย และเป็นอันดับหนึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะใช้เวลาถึงสองปีในการฟื้นตัวกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ประสบกับภาวะฟองสบู่แตกในช่วงโควิดกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ ซึ่งที่ผ่านมา

ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน เมื่อเครื่องยนต์นี้สะดุดลงจึงฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไปด้วย คล้ายกับที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนหน้า

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจจีนยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จีนก็ตกเป็นเป้าอยู่ดี แต่จะท้าทายมากถ้าทรัมป์ชนะ เพราะนอกจากทรัมป์จะเข้มกับจีนมากกว่าแฮร์ริสแล้ว ทรัมป์ยังมีแนวโน้มกีดกันคู่ค้ารายอื่นด้วย ซึ่งจะกระทบกับภาวะการค้าโลกโดยรวม

3. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักของทริป On the ground ครั้งนี้ โดยทุกคนที่เราคุยด้วยเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ห่างไกลสำหรับเศรษฐกิจจีน

ซึ่งเท่าที่ผมจับประเด็นได้มี 3 สาเหตุหลัก สาเหตุแรก ระบบสถาบันการเงินของจีนมีความเข้มแข็ง โดยจากข้อมูลของบริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ซึ่งใช้ตัวเลขที่ปรับให้สะท้อนความเป็นจริงกว่าตัวเลขที่ทางการประกาศ พบว่า ต่อให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดกลายเป็น NPL ระบบธนาคารพาณิชย์จีนก็ยังยืนระยะได้

สาเหตุที่สอง จีนมีประสบการณ์ในการรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องแล้วในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุที่สาม รัฐบาลจีนมีกระสุนในมือพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับว่า อยากจะใช้กระสุนมากน้อยแค่ไหน

ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงมาต่อเนื่อง นอกจากผลพวงของโควิดแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย Three red lines ของรัฐบาลจีนที่ต้องการลดบทบาทของภาคอสังหาริมทรัพย์ลง ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลจีนเอง ที่ต้องการปรับโมเดลการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากที่มีภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อน ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รัฐบาลจีนเรียกรวมๆกันว่า New quality productive forces เช่น Artificial Intelligence (AI) เทคโนโลยีชีวภาค และพลังงานทางเลือก ซึ่งรถยนต์ EV เป็นหนึ่งในนั้น เป็นต้น

การเปลี่ยนผ่านโมเดลทางเศรษฐกิจนี้ รัฐบาลจีนเข้าใจดีว่า ต้องแลกกับการชะลอตัวชั่วคราวของเศรษฐกิจ เข้าทำนอง No pain, no gain อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่เราคุยด้วยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาก (ในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนไม่เคยขยายตัวต่ำกว่าเป้าเลย ยกเว้นในช่วงโควิด) และรัฐบาลพร้อมที่จะเข้าดูแล หากประเมินแล้วว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นการออกมาประสานกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของจีน โดยตลาดหุ้นจีนตอบรับทันทีด้วยการปรับตัวขึ้นถึงร้อยละ15 ในหนึ่งสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราอย่าไปคาดหวังมาก ว่ารัฐบาลจีนจะทยอยออกมาตรการจนเศรษฐกิจจีนกลับเป็นขาขึ้น เขาน่าจะทำแค่ให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าที่ประกาศไว้

ซึ่งหลายคนที่เราคุยด้วย บอกว่า ร้อยละ 4.8 ก็คือเข้าเป้าที่ “ประมาณร้อยละ 5” แล้ว และเผลอๆปีหน้า รัฐบาลอาจจะประกาศเป้าการขยายตัวที่ต่ำกว่าปีนี้ก็เป็นได้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินไปจะ Undo ความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

4. ในระยะยาว เศรษฐกิจจีนยังไปได้อีกไกล หากจีนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านโมเดลเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย New quality productive forces ได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมใน New quality productive forces ล้วนไปกับ Mega trend ของโลก

ตอนผมเรียนปริญญาเอก เราถูกสอนมาว่า เศรษฐกิจที่รายได้ต่อหัวสูงจะขยายตัวต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะขยายตัวสูง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เศรษฐกิจอินเดีย และเวียดนามจะขยายตัวสูงมาก เพราะรายได้ต่อหัวของทั้งสองประเทศยังต่ำมาก

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯในภาวะปรกติจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น การที่จีนซึ่งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจใกล้กับกลุ่มประเทศรายได้สูง สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4-5 ต่อปี จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

ทั้งนี้ ส่วนตัวผมมีข้อสังเกตว่า สินค้าของจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยในระยะหลัง หลายสินค้าเป็นการหนีตายจากจีน เนื่องจากเป็นสินค้าในโลกเก่าที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล และตลาดในจีนเล็กลง ไม่เพียงเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และแนวโน้มจำนวนประชากรจีนลดลง แต่เป็นเพราะคนจีนมีฐานะดีขึ้นเลยหันไปซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาแพงขึ้น

หวังว่าที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในเศรษฐกิจจีน