ThaiBMA เผยหุ้นกู้ออกใหม่ 9 เดือนแรก 7.04 แสนล้าน ยังวูบ14% เหตุตลาดไม่เอื้อ
สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ เผย 9 เดือนแรก ยอดออกหุ้นกู้ใหม่ 7 แสนล้าน ลดลง 14% ตามภาวะตลาดยังไม่เอื้อ แต่คงเป้าปีนี้ 9แสนล้านถึง1ล้านล้าน พบรายใหม่ กลุ่ม“ปิโตรเคมี-แบงก์” ออกต่อเนื่องและโค้งท้ายยังมียอดครบกำหนด 2 แสนล้าน ไม่น่ามีปัญหา ลุ้นแบงก์ชาติลดดบ. 0.25% ต้นทุนลดลง
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ มีมูลค่าคงค้าง 17.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จากสิ้นปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ เพิ่มขึ้น 600,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้ระยะยาว) ที่ 4.7 ล้านล้านบาท ลดลง 2.8% จากสิ้นปีก่อน โดยลดลงทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ทางด้านมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ 704,153 ล้านบาท ลดลง 14% จากสิ้นปีก่อน 818,893 ล้านบาท เป็นการออกลดลง อย่างมากในกลุ่ม High yield มีมูลค่า 39,697 ล้านบาท ลดลง 59%จากสิ้นปีก่อน 96,266 ล้านบาท และกลุ่ม investments grade มีมูลค่า 664,475 ล้านบาท ลดลง 8% จากสิ้นปีก่อน 722,627 ล้านบาท
เนื่องจากภาวะตลาดยังไม่เอื้ออำนวย ทั้ง ความเชื่อมั่นนักลงทุน จากกรณีหุ้นกู้มีปัญหา โดยเฉพาะกรณีEA ที่ไม่คาดคิดกันมาก่อน และตอนนี้ผู้ออกอาจชะลอการออกใหม่ จากคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยมีโอกาสลดลงในปีหน้า จึงรอจังหวะต้นทุนออกหุ้นใหม่ลดลง รวมถึงหาแหล่งระดมทุนที่ต้นทุนต่ำกว่า จึงเห็นการกลับไปหาสินเชื่อสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำลง
นางสาวอริยา กล่าวว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ยังคงเป้ายอดออกหุ้นกู้ใหม่ปีนี้ ที่ 9 แสนล้านบาท ถึง1 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือปีนี้ อีก ราว 2 แสนล้านบาท ไม่น่าจะมีปัญหา โดยพบว่ามียอดยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.แล้ว 1.05 ล้านบาท ยังต้องติดตามในช่วงเดือน พ.ย. ที่จะมีมูลค่าครบกำหนด ค่อนข้างมากราว 9 หมื่นกว่าล้านบาท เชื่อว่าผู้ออกจะโรโอเวอร์หุ้นกู้ครบกำหนดทั้งหมดแต่จะมีการขยายจำนวนมากกว่าครบกำหนดหรือไม่ต้องติดตาม
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดออกหุ้นกู้ใหม่ ลดลงแต่ยังมากกว่ามูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนด 6.7 แสนล้านบาทในช่วง 9เดือนแรกที่ผ่านมานี้ เพราะผู้ออกยังสามารถออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทนหุ้นกู้ครบกำหนดเดิมทั้งหมด แต่ได้ขยายวงเงิน เช่นเดิมครบกำหนด 1,000 ล้านบาท ออกใหม่เป็น 2,000 ล้านบาท
และหุ้นกู้ออกใหม่ลดลงในทุกเครดิตเรตติ้ง ไม่ได้ลดลงจากเซ็กเตอร์ไหนเป็นพิเศษ อย่างกลุ่มเครดิตเรตติ้งสูง บริษัทขนาดใหญ่ อย่าง ปตท. ที่จะครบกำหนดในปีนี้ ก็ยังไม่ออก ต้องติดตามช่วงไตรมาสสุดท้าย หรืออาจชะลอไปออกปีหน้าที่แนวโน้มต้นทุนดอกเบี้ยลดลง
แต่ก็มองว่า ในปีนี้ยังมีผู้ออกรายใหม่เข้ามาออกหุ้นกู้ น่าจะชดเชยได้ โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี อย่าง บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ และ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล รวมถึงกลุ่มแบงก์ที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิเป็นกองทุน เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ซึ่งมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท
อีกทั้ง 9 เดือนมานี้ เป็นการออกหุ้นกู้จากกลุ่ม Investment grade กลุ่มธุรกิจที่ออกเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงาน และ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจากผู้ร่วมตลาดชี้ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567
นอกจากนี้ สถานการณ์หุ้นกู้ที่มีปัญหา มองว่า ตอนนี้สถานการณ์คลายตัวดีขึ้น ซึ่งกรณี EA มีการเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ไปแล้ว หากธุรกิจยังเดินหน้า ผลประกอบการดีขึ้นกลับมาชำระหนี้หุ้นกู้ ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นกู้กลับมา
ประกอบกับปีหน้า หากเศรษฐกิจไทยดีขึ้นและการจัดหาเงินต้นทุนต่ำและดอกเบี้ยหุ้นกู้ลดลง เป็นโอกาสที่เอกชน กลับมาใช้ตลาดหุ้นกู้เป็นแหล่งระดมทุน ดังนั้น แนวโน้มตลาดหุ้นกู้ปีหน้า คาดว่าน่าจะมีทิศทางดีขึ้นมากกว่าปีนี้ แต่มูลค่าจะกลับทะลุ1ล้านล้านบาทอีกครั้งหรือไม่นั้นยังต้องติดตามทิศทางลดดอกเบี้ยของเฟดและธปท.ในช่วงไตรมาส4นี้ เชื่อว่า จะลดดอกเบี้ยแต่จะลดมากหรือน้อยแค่ไหนยังต้องรอความชัดเจน
“เรามองว่าช่วงโค้งท้ายปีนี้จนถึงปีหน้า บริษัทขนาดใหญ่ เครดิตเรตติ้งสูง และบริษัทกลางและเล็ก ที่มีแม่เป็นบริษัทใหญ่ มีประวัติดี มีผลประกอบการดี ยังเข้ามาเล่นในตลาดหุ้นกู้ ส่วนรายที่ดีฟอลไปแล้ง คงกลับยาก ปีหน้าอยากให้เป็นปีตลาดหุ้นกู้ที่ มีคุณภาพ มากกว่าปริมาณ หุ้นกู้ที่ออกควรเป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิใหม่ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งคงจะบังคับใช้เป็นรูปเป็นร่างไม่ให้เอาเปรียบนักลงทุนได้อีก“