ค่าเงินบาทวันนี้ 10 ต.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า จับตาตัวเลขCPIสหรัฐ
ค่าเงินบาทวันนี้ 10 ต.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์แข็งค่ารับแรงหนุน หลังตลาดคาดเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยอย่างคาด และมีแรงซื้อทองคำ ระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้เงินเฟ้อ CPI สหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.35 -33.70 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35- 33.70 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.42-33.55 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.08% หลังผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่ เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน เป็นเกือบราว 20% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า เฟดอาจไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเหมือนที่เคยคาดหวังไว้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง -100bps ในปีหน้า ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
รวมถึงข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอลยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสุ่โซนแนวรับ 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำ กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเหนือโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น หลังการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ก็อ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 22.50 บาทต่อ 100 เยน
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศโดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ได้ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอล (ซึ่งเรามองว่า ทางการอิสราเอลอาจจะยังไม่ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงได้ ทำให้ยังคงมีความเสี่ยงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจยืดเยื้อ แต่อาจไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น)
นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกดดันเงินบาทได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งต้องจับตาโซนแนวต้าน 33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก อีกทั้ง ในช่วงหลังเงินบาทก็เริ่มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (CNY) มากขึ้น ทำให้หากเงินหยวนจีนทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงระหว่างวันได้เช่นกัน
อนึ่งเรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวได้ถึง +/-0.5% ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่ารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะมีแนวโน้มเติบโตที่ดี สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนัก อย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.71%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.66% หลังแรงขายทำกำไรหุ้นธีม China Recovery เริ่มชะลอลงเนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการแถลงของทางการจีนในช่วงวันเสาร์นี้ ว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ทั้ง ASML +2.1%, SAP +1.4%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.08% หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดทั้งในปีนี้ และปีหน้า ทั้งนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม ซึ่งผู้เล่นในตลาดก็ควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (รวมถึงสินทรัพย์ที่อ้างอิงหรือมีการลงทุนในบอนด์ระยะยาว) อีกครั้ง (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อสร้างความได้เปรียบและ Risk-Reward ที่น่าสนใจ)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดอ่อนค่าลงทะลุโซน 149 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.6-102.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอลได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่โซน 2,625 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวแถว 3.2% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว –50bps (หรือราว -25bps) ในอีกสองการประชุมที่เหลือในปีนี้
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตอบโต้อิหร่านของทางการอิสราเอล ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลางหรือไม่