หนึ่งขวบปี: แนวรบตะวันออกกลาง เหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม
ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2023-24 บทความนี้ได้เขียนว่า ปี 2024 จะเป็น ปีแห่งภูมิรัฐศาสตร์ เวลาผ่านไปจนเกือบจะครบปี สิ่งที่ระบุไว้ในบทความนั้นดูจะเป็นความจริงมากขึ้น
ในฝั่งของสงครามรัสเซียยูเครน สงครามก็ดูรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่สองฝ่ายบุกเข้าไปในประเทศของอีกฝ่ายหนึ่ง ท่ามกลางผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจก็มีมากขึ้น
ด้านการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาก็ดูจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ถึงสองครั้ง การเปลี่ยนตัวผู้สมัครของเดโมเครตจากประธานาธิบดีไบเดนไปเป็นรองประธานาธิบดีแฮร์ริส
แต่สถานการณ์ที่ดูจะความรุนแรงที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นตะวันออกกลาง ที่ในวันที่ครบรอบหนึ่งปีที่กลุ่มฮามาสที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านโจมตีอิสราเอล สังหารชาวอิสราเอลไป 1,200 ราย จับกุมเชลยได้ 240 ราย ทำให้ทางการอิสราเอลตอบโต้ และนำมาสู่สงครามตามมาอีกมากมาย
ในขณะที่ปัจจุบันหลายฝ่ายมองว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่เหมือนเป็นหัวหน้าของ แกนนำกลุ่มต่อต้านอิสราเอลมีมากขึ้น หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธประมาณ 200 ลูกใส่อิสราเอลในต้นเดือน ต.ค. หลังจากที่ฮัสซัน นัสรัลลอฮ์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำเฮซบอลลาห์ ถูกสังหารโดยอิสราเอลในการโจมตีทางอากาศที่เบรุต
ขณะที่กองทัพอิสราเอลได้เริ่มการบุกทางภาคพื้นดินเข้าสู่เลบานอน เพื่อทำลายโครงสร้างทางการทหารของเฮซบอลลาห์
แม้ความเสี่ยงในระยะสั้นจะดูรุนแรงขึ้น แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น มีผู้นำของกลุ่มต่อต้านอิสราเอลถึง 3 ท่านเสียชีวิต อันได้แก่
(1) โมฮัมเหม็ด เดอีฟ (Mohammed Deif) หัวหน้าปีกทหารของฮามาส และเป็นผู้บงการสำคัญของเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 2023
(2) ฮัสซัน นัสรัลลอฮ์
(3) ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ของอิหร่าน ทำให้แกนนำกลุ่มต่อต้านอิสราเอลอ่อนกำลังลง
ในส่วนของความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในอนาคตนั้น ผู้เขียนได้ทำ Scenario Analysis หรือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เป็น 3 สถานการณ์ ดังนี้
(1) สถานการณ์สงครามเงา (Shadow war) อิสราเอลตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธไปยังฐานที่มั่นทางการทหารของอิหร่าน โดยคำนวณว่าจะเกิดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างจำกัด และประกาศชัยชนะในครั้งนี้ เนื่องจากอิสราเอลประสบความสำเร็จในการโจมตีที่ผ่านมา
โดยทำให้ 3 ผู้นำของกลุ่มต่อต้านเสียชีวิต และทำให้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงลดลงได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการลดความรุนแรงลง ทำให้จำกัดความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เช่น สงครามลุกลามมากขึ้นได้ (ความน่าจะเป็น: 50%)
(2) สถานการณ์สงครามตัวแทน (Proxy war) อิสราเอลตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธไปยังฐานที่มั่นทางการทหารและสถานที่สำคัญของอิหร่าน รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันเป็นวงกว้างขึ้น โดยมีเป้าหมายในการกำจัดผู้นำทางการทหาร และทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านเสียหาย
แต่ความเสี่ยงคืออาจนำมาซึ่งการโต้กลับที่รุนแรงขึ้น โดยอิหร่านอาจกลับมาโจมตีสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมัน หรือสาธารณูปโภคน้ำมันอื่น ๆ ในภูมิภาค (ความน่าจะเป็น: 40%)
(3) สงครามจริงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน (Full-blown war)โดยอิสราเอลตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธไปยังฐานที่มั่นทางการทหารโดยเฉพาะโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์
โดยมีเป้าหมายในการกำจัด-ทำลายโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นำไปสู่ความเสี่ยงรุนแรงขึ้น (Escalation) และอาจนำไปสู่การปิดช่องแคบเฮอร์มุซ ที่เป็นทางผ่านของน้ำมันกว่า 30% ของกำลังการผลิตโลกได้ (ความน่าจะเป็น: 10%)
ทั้งนี้ หากสถานการณ์เป็นกรณีแรก ราคาน้ำมันน่าจะคงตัวในระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยขยายตัวตามคาด เงินเฟ้อไม่ขึ้นจากระดับเดิม และธนาคารกลางสามารถลดดอกเบี้ยตามแผนได้
แต่หากเป็นกรณีที่สอง (Proxy war) ราคาน้ำมันช่วงที่เหลือของปีอาจขึ้นเฉลี่ยไประดับ 90 ดอลลาร์หรือมากกว่า ทำให้ทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและไทยขยายตัวชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง ทำให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยได้น้อยลง
ส่วนในกรณีสุดท้าย ความเสี่ยงสงครามที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยชะลอลงแรงในช่วงที่เหลือ และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถลดดอกเบี้ยตามแผนได้ และทำให้เกิดภาวะ Stagflation (เงินเฟ้อขึ้นแต่เศรษฐกิจแย่) อ่อน ๆ ได้
ในส่วนของราคาน้ำมัน ผู้เขียนมองว่า ความรุนแรงล่าสุดทำให้เกิด War premium ประมาณ 7-10 ดอลลาร์ ท่ามกลางความต้องการน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มจะลดลงในครึ่งปีหลังจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง
ขณะที่ในปัจจุบัน ปริมาณการผลิตในกลุ่มโอเปกทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 26.5 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่ต้นปี โดยผู้ที่คงกำลังการผลิตเป็นหลักได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ยังคงกำลังการผลิตที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน ขณะที่ผู้ผลิตอื่น เช่น อิหร่าน UAE และอิรัก เพิ่มกำลังการผลิตเล็กน้อย
ทำให้เราคาดว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจทำให้ซาอุดีอาระเบียอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและเพิ่มรายได้เข้าประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในตะวันออกกลางจะรุนแรงขึ้นในมุมมองผู้เขียน โดยในปัจจุบันตะวันออกกลางอยู่ในภาวะใกล้สงครามเต็มรูปแบบ ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านแกนต่อต้านอิสราเอล (Axis of Resistance) ของอิหร่าน กำลังอ่อนแอลง ทั้งฮามาสและเฮซบอลลาห์ ขณะที่อิหร่านเผชิญวิกฤติความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือพันธมิตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในอีกทางหนึ่ง อิสราเอลก็กำลังเริ่มประมาท (hubris) จากความสำเร็จทางทหาร ซึ่งอาจทำให้อิสราเอลพิจารณาโจมตีอิหร่านโดยตรง โดยเฉพาะสาธารณูปโภคด้านน้ำมันหรือโรงงานนิวเคลียร์ ขณะที่อิหร่านอาจเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงนำไปสู่ความเสี่ยงของการขยายการสู้รบในเลบานอน จากการโจมตีจำกัดเป็นการรุกรานเต็มรูปแบบ
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐ รวมถึงกับชาติอาหรับอื่น ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย อาจตึงเครียดขึ้น หากอิสราเอลดำเนินการทางทหารที่รุนแรงเกินไป ขณะที่ในประเทศอิสราเอลเอง ความขัดแย้งทางการเมืองในอิสราเอลระหว่างฝ่ายแข็งกร้าวกับฝ่ายสายกลางอาจรุนแรงขึ้น ขณะที่การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้ออาจส่งผลเสียต่อสังคมอิสราเอลในระยะยาว
ทั้งนี้ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนหลังสหรัฐได้ประธานาธิบดีท่านใหม่
ในหนึ่งปีข้างหน้า แนวรบฝั่งตะวันออกกลาง เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร คำตอบอาจจะอยู่ในมือประธานาธิบดีสหรัฐท่านใหม่ก็เป็นได้
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่