ครบรอบ 1 ปี ‘ก่อการร้ายอิสราเอล’ มองผลกระทบ 4 เรื่องใหญ่ในภูมิภาค
วันจันทร์ที่ 7 ต.ค.67 นี้ นับเป็นวันครบรอบ 1 ปี เหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีในอิสราเอล และยังเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ตะวันออกกลางในรอบหนึ่งปีมานี้อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
วันจันทร์ที่ 7 ต.ค.67 นี้ นับเป็นวันครบรอบ 1 ปี เหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีในอิสราเอล ที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกเข้าโจมตีครั้งใหญ่หลายจุดทั่วประเทศในวันเดียวทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึงราว 1,200 คนทั้งชาวอิสราเอลและคนต่างชาติ ซึ่งรวมถึง “แรงงานชาวไทย” และยังมีผู้ถูกจับไปเป็นตัวประกันอีกมากถึงราว 250 คนในจำนวนนี้ตัวประกันชาวไทย 6 คน ยังไม่ทราบชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
เหตุการณ์ดังกล่าวยังนับเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” และยังขยายวงไปถึ “คู่กรณี” อื่นๆ รอบใหม่ ซึ่งเว็บไซต์สภาความสัมพันธ์ธ์ต่างประเทศ (CFR) หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐได้ วิเคราะห์โดยสรุป การครบรอบ 1 ปี เหตุโจมตีอิสราเอลกับผลกระทบ 4 ด้าน
วิเคราะห์การครบรอบ 1 ปี เหตุโจมตีอิสราเอลกับผลกระทบ 4 ด้านเอาไว้ ดังนี้
1. ปีแห่งการเมืองและพิพากษาในอิสราเอล
เกือบตลอดทั้งปี 2023 อิสราเอลมีปัญหาการเมืองภายในที่แบกฝักแบ่งฝ่ายอย่างหนักจากประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และมีการเดินขบวนประท้วงของประชาชนหลายครั้ง แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ถูกลืมไปทันทีหลังเกิดเหตุโจมตีครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566
ทั้งประเทศตกตะลึงและหวาดกลัวต่อความสูญเสียและความโหดร้ายของกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่ข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซาเพื่อสังหาร ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และจับตัวประกัน ประเทศมีการสนับสนุนอย่างเป็นหนึ่งเดียวต่อกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF)
อย่างไรก็ตาม แม้ศัตรูจะกลายเป็นคนนอกแล้ว แต่อิสราเอลก็ยังคงมีความขัดแย้งภายในเรื่องใหม่เกิดขึ้นอยู่ดี โดยเฉพาะการจัดการปัญหาของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี “เบนจามิน เนทันยาฮู” ตั้งแต่ความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตี 7 ต.ค. การช่วยเหลือตัวประกันกลับบ้าน วิธีการจัดการกับศัตรู การที่มีชาวอิสราเอลกว่า 7.5 หมื่นคนตามแนวชายแดนติดกับเลบานอนต้องอพยพย้ายบ้านหนี ไปจนถึงความกลัวของประชาชนว่าจะถูกโจมตีข้ามพรมแดนมาจากกาซ่า และทั้งหมดนี้ก็ทำให้เกิดการประท้วงตามมาหลายครั้งแล้ว
ก่อนหน้านี้เคยมีหลายฝ่ายในอิสราเอลที่เชื่อในคอนเซปต์ว่าหากปล่อยให้ฮามาสปกครองกาซาจะทำให้พวกเขาพอใจและทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ แต่เหตุโจมตี 7 ต.ค. ซึ่งตามมาด้วยการโจมตีมากขึ้นของ “Ring of fire” หรือ “อิหร่านและพันธมิตร” ทั้งในกาซา อิรัก เลบานอน และซีเรีย ทำให้อิสราเอลตัดสินใจ “เปลี่ยนเกม” การรับมือกับศัตรูเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ด้วยการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวเพื่อลดขีดความสามารถทางทหารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
ภายในสองสัปดาห์ อิสราเอลสามารถสังหารผู้นำของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ “ฮัสซัน นัสรัลลาห์” และผู้บัญชาการระดับสูงของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้เกือบทั้งหมด รวมถึงทำลายเครื่องยิงและขีปนาวุธจำนวนมากที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ขู่คุกคาม อิสราเอลต้องการกองทัพที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยงบประมาณมหาศาลซึ่งอาจหมายถึงการขึ้นภาษี และการต้องผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ภายในประเทศเองให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาจากสหรัฐ
2. ความสูญเสียสุดบอบช้ำของปาเลสไตน์
ณ เดือนกันยายน 2567 ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องเผชิญกับหายนะอย่างน่าสลดใจ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41,431 ราย บาดเจ็บ 95,818 ราย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ในกาซา และมีผู้ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน 1.9 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 2.2 ล้านคน มีบ้านเรือนเสียหายมากกว่า 2 แสนหลังคาเรือน อาคารจำนวนมากถึง 63% ในฉนวนกาซาถูกทำลายจากระเบิด ซึ่งเทียบได้กับการทำลายเมืองต่างๆ ของเยอรมนีใน “สงครามโลกครั้งที่ 2”
ส่วนผู้ที่ยังรอดชีวิตอยู่ก็ต้องทุกข์ทรมานจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ ยารักษาโรค และที่พักอาศัย ปัจจัย 4 ประทังชีวิตที่มาจากการบริจาคของประเทศต่างๆ และองค์กรการกุศลก็เจออุปสรรคไม่สามารถส่งมอบได้ โดยข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือน ก.ย. พบว่า มีปัญหาในการส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกร์ถึง 46% และมีรายงาน “โรคโปลิโอ” กลับมาระบาดอีกครั้ง
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ตัดสินเมื่อเดือนพ.ค.ว่า อิสราเอลมีพันธะในการปกป้องพลเรือนและต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (พลเรือนชาวปาเลสไตน์) ขณะที่รัฐบาล 7 แห่งเริ่มจำกัดความช่วยเหลือแก่อิสราเอล ในเดือนก.ย. สหราชอาณาจักรระงับการส่งอาวุธไปยังอิสราเอลเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานหลายแห่งของยูเอ็นและบางประเทศยังคงกดดันให้มีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาสโดยเร็ว แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมองไม่เห็นความเข้าใกล้เป้าหายนี้ แม้จะเคยเกือบไปถึงมาแล้วหลายครั้งก็ตาม
3. ความท้าทายใหม่ของเครือข่ายพันธมิตรอิหร่าน
CFR มองว่าหนึ่งปีหลังจากที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล “สาธารณรัฐอิสลาม” ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของกลุ่ม ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทาย ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แกนหลักของนโยบายต่างประเทศของอิหร่านคือสิ่งที่เรียกว่า “อักษะแห่งการต่อต้าน” ซึ่งเป็นการรวมตัวของกองกำลังติดอาวุธในอิรัก เลบานอน ซีเรีย และเยเมน
ตัวแทน (proxy) เหล่านี้ทำให้อิหร่านสามารถแผ่อำนาจโดยมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง ตราบใดที่อิหร่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง “โดยตรง” กับการกระทำรุนแรงของพวกเขา อิหร่านก็จะรอดพ้นจากความรับผิดชอบ
ทว่าเหตุโจมตี 7 ต.ค. ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป “กลุ่มฮามาส” เผชิญการโจมตีอย่างหนักจากอิสราเอล มีการสังหารผู้นำสูงสุดอย่าง “อิสมาอิล ฮานิเยห์” ปลิดชีพถึงในกรุงเตหะราน แต่ก็ยังไม่ถึงกับถูกถอนรากถอนโคนได้หมด ขณะที่อิหร่านคาดหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป องค์กรนี้จะสามารถฟื้นตัวได้ และไม่เพียงแต่โจมตีอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้เล่นหลักในการเมืองปาเลสไตน์อีกด้วย
ส่วน “กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” นั้นก็ถูกอิสราเอลถล่มอย่างหนักเช่นกันตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา ทั้งการออกปฏิการถล่มทางอากาศและการบุกภาคพื้นดิน จนสามารถปลิดชีพผู้นำสูงสุดอย่าง “ฮัสซัน นัสรัลลาห์” ที่ปกครองมานานถึง 3 ทศวรรษได้สำเร็จ ทว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็ไม่ได้ถูกทำลาย และเชื่อกันว่ายังคงมีขีปนาวุธหลายพันลูกอยู่ในคลังแสง แม้จะลดจำนวนลงแล้วก็ตาม CFR มองว่าอิหร่านจะทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขึ้นมาใหม่ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ การโจมตีของอิสราเอลจะทำให้ฮิซบอลเลาะห์มีบทบาทน้อยลงบนเวทีภูมิภาคอย่างแน่นอน
4. ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิสราเอลที่ตึงเครียด
ความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐ-อิสราเอล ในยุคปัจจุบันมีรากฐานมาตั้งแต่ปี 1962 สั่งสมเป็นความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง แต่ช่วงเวลาแห่งการสนับสนุนสูงสุดก็กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลของไบเดนและรัฐบาลอิสราเอล
อิสราเอลตีความการแสดงการสนับสนุนของไบเดน รวมถึงการเยือนเยรูซาเล็ม 11 วันหลังจากการโจมตีว่า “เป็นไฟเขียว” ให้ไล่ล่ากลุ่มฮามาสได้ตามเห็นสมควร ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้ติดขัดกระท่อนกระแท่นบ้างในอีกหลายเดือนถัดมา “แม้ว่า” สหรัฐจะยังคงสนับสนุนความมั่นคงให้อิสราเอลทั้งทางอากาศและน่านน้ำมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าอิสราเอลจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอ และสามารถปกป้องอิสราเอลจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนได้
รัฐบาลไบเดนเริ่มเปลี่ยนท่าทีหลังจากเห็นชัดว่ามีพลเรือนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกสังหาร ซึ่งสหรัฐอาจต้องจ่ายเป็นความเสียหาย “ทางการเมือง” จากการสนับสนุนอิสราเอล ทำให้เริ่มเห็นสหรัฐวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล และเพิ่มความพยายามที่จะทำให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงให้ได้ ความตึงเครียดยิ่งมากขึ้นหลังกองทัพอิสราเอลสังหารคนงานจากองค์กร World Central Kitchen ซึ่งเป็นองค์กรบรรเทาทุกข์จากสหรัฐ รวมถึงการที่อิสราเอลเพิ่มการโจมตีเลบานอนอย่างหนักในเดือนที่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้แนวทางของรัฐบาลไบเดนในการช่วยรับรองความปลอดภัยของอิสราเอลเปลี่ยนแปลงไป
ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาส จะส่งผลเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-อิสราเอลหรือไม่ แต่ CFR มองว่าการเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ การเร่งให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิสราเอล แม้สายสัมพันธ์จะตัดกันไม่ขาด แต่ก็อาจจะหย่อนยานไม่เหมือนเดิมอีก